ที่ศูนย์แพทย์ชุมชนบ้านบึง อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งของระบบบริการสาธารณสุขที่มีความเข้มแข็ง สามารถดึงประชาชนในชุมชนเข้ามาร่วมกิจกรรมเสริมสร้างสุขภาพ และมีเครือข่ายชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งส่วนหนึ่งของความสำเร็จที่มาจากความใส่ใจของคนทำงานอย่าง พรเพ็ญ ภัทรากร
พรเพ็ญ ภัทรากร
พรเพ็ญ ภัทรากร พยาบาลวิชาชีพ และหัวหน้าศูนย์แพทย์ชุมชนบ้านบึง กล่าวว่า หลังจากที่เรียนจบปี 2523 มาทำงานเป็นพยาบาล ที่ รพ.บ้านบึงเดิม อยู่งานรักษาอยู่ใน รพ.4-5ปี หลังจากนั้นได้เข้ามาทำงานชุมชนมาโดยตลอด
ปัญหาสุขภาพที่พบของคนบ้านบึงคือ โรคความดันโลหิตสูงเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือ โรคเบาหวาน และปัญหาต่อมาเป็นเรื่องอุบัติเหตุทางจราจร เพราะว่าเส้นทางของบ้านบึงเป็นเส้นทางของทางผ่านของหลายที่ๆ จะเข้าถึงตัวเมืองเลยทำให้มีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุจราจร ส่วนเรื่องอนามัยของเด็กที่นี่ไม่ค่อยมีปัญหา จะมีเด็กที่มีน้ำหนักตัวน้อยจะมีอยู่ประมาณ 2-3 คน ซึ่งส่วนมากเป็นเด็กต่างด้าว
พรเพ็ญ กล่าวว่า แนวคิดที่ทำให้เราต้องมาดูงานเรื่องของสุขภาพของประชาชนในชุมชน มองว่า ปัญหาสุขภาพ เป็นปัญหาในบริบทของชุมชน เวลามีปัญหาอะไรขึ้นมา เราจะใช้วิธีการนำข้อมูล ความรู้ที่ได้ให้ชุมชนทั้งหมดทั้งระดับผู้บริหาร ผู้นำชุมชน จากนั้นจะมาหาแนวคิด ร่วมกัน ทำงานร่วมกัน เราจะไม่ทำงานแบบ one man show จะทำโดยที่ต้องถามสมาชิกผู้มีส่วนร่วมทั้งหลายว่า จะเอากับเราด้วยหรือไม่ ถ้าเค้าไม่เอาเราก็พยายามและโน้นน้าวให้เค้ามีส่วนร่วมในการทำงาน
“เวลาลงไป ทำงานอะไรก็ตามเราจะเจอปัญหาไม่ว่าเป็นทางด้านของปัญหาต่างๆ หรือมีนวัตกรรมหรือสิ่งดีๆ ใดก็ตามเราต้องกลับมาเล่าสู่ให้คนในชุมชนฟังจะผ่านเวทีประชาคมหรือจะผ่านสภากาแฟ หรือพูดคุยส่วนตัว เช่น บังเอิญตอนนี้ของบ้านเรามีอะไรดีๆ หรืออะไรที่ไม่ดีจะคิดว่าเราจะทำอะไรกัน”
ส่วนวิธีการทำงาน พรเพ็ญ กล่าวว่า ทำงานเราจะเอื้อซึ่งกันและกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา จะไม่ใช้วิธีสั่งการ แต่จะใช้วิธีการขอความเห็น ขอความร่วมมือ และการทำงานที่จะให้ได้ใจประชาชนในชุมชนคือ จะต้องเข้าหาชาวบ้านก่อน ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานแต่ง งานศพ งานประชุม จะไปทุกงานให้เขาเห็นหน้า ให้ความสำคัญกับประชาชน พอมาเป็นลักษณะแบบนี้บ่อยๆ ก็จะได้ใจชาวบ้าน ที่เรียกว่า ได้ใจซึ่งกันและกัน หลังจากที่ประชาชนไว้วางใจเราแล้ว เวลาเขามีปัญหาเขาจะมาปรึกษาในทุกเรื่องได้ เพราะเกิดความไว้วางใจซึ่งกันและกัน
ขณะเดียวกันเรื่องการนัดหมายเข้ารับบริการสุขภาพ เช่น การฉีดวัคซีนเด็ก ถ้าหากถึงวันนัดไม่มาจะทีมงานโทรถาม จนเดี๋ยวนี้หากใครจะไม่มีตรงนัดจะโทรบอกเจ้าหน้าที่ทันที
ส่วนเรื่องงบประมาณนั้น ที่ศูนย์แพทย์ชุมชนบ้างบึงแห่งนี้จะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องงบประมาณ เพราะว่าเทศบาลท้องถิ่นจะช่วยได้เยอะมาก ให้งบอุดหนุนปีละ 5 แสนบาท รวมทั้งเรื่องอุปกรณ์ สถานที่เทศบาลก็ช่วยเหลือมาโดยตลอด แม้ไม่ได้เป็นคนของเทศบาล แต่เทศบาลดูแลเหมือนกับเป็นคนในเทศบาลเขา ส่วนทาง รพ.บ้านบึง จะคอยดูแลเรื่องของบุคลากรทางการแพทย์
“นับเป็นความโชคดีที่ทุกครั้งที่เสนอแนวความคิดให้กับผู้ใหญ่ในโรงพยาบาล ไม่เคยได้รับการปฏิเสธเลย เพราะทุกครั้งเราจะคุยกันด้วยข้อมูล และมีหลักฐานเชิงประจักษ์ ทำให้ทุกโครงการที่เสนอไปได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลมาโดยตลอด”
สำหรับความภาคภูมิใจในการทำงาน นางพรเพ็ญ กล่าวว่า คือการได้เห็นชมรมผู้สูงอายุ ชมรมคนพิการ เขาสามารถยืนได้ด้วยตนเอง สามารถบริหารจัดการกันเองได้ สามารถเขียนของบประมาณได้ จนได้รับรางวัลในในระดับพื้นที่ ระดับจังหวัด ระดับประเทศมาแล้ว
และจากการทำงานเพื่อชุมชนมาโดยตลอดส่งผลให้พรเพ็ญได้รับรางวัลพยาบาลดีเด่น ของสมาคมพยาบาล, สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),ชมรมพยาบาลแห่งประเทศไทย เเละสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นต้น
ส่วนเรื่องของการขาดแคลนบุคลากรยังคงเป็นปัญหาอยู่ ที่ศูนย์แพทย์ชุมชนบ้านบึงมีเจ้าหน้าที่ที่เป็นพยาบาลวิชาชีพแค่ 4คน เจ้าพนักงานสาธารณสุข 1 คน นักวิชาการสาธารณสุข 2 คน ทุกคนต้องมาทำงานทุกวัน โดยมีการแบ่งงานกันทำ มีทั้งลงชุมชน และบริการตรวจรักษา ซึ่งเจ้าหน้าที่ทุกคนสามารถทำงานแทนกันได้ทุกหน้าที่ และจะมีการพูดคุยส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบด้วย
ขณะเดียวกันพรเพ็ญเองจะต้องเข้าไปเรียนรู้งานในทุกๆ จุด จะไม่มีการทำงานแบบนั่งโต๊ะสั่ง “เพราะการทำงานแบบนี้เราจะรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงว่า ปัญหามันอยู่ตรงไหน ทุกสิ้นเดือนจะมีการประชุมพูดคุยกันเพื่อรับรู้เรื่องราวของการทำงาน”
พรเพ็ญ กล่าวว่า การทำงานชุมชนเป็นงานที่หนักและเหนื่อย แต่เราโชคดีที่มีเครือข่ายที่ดี มีผู้บริหารที่ดี มีประชาชนที่น่ารัก บางครั้งเขารู้ว่าเราเหนื่อยก็จะหิ้วของมาฝาก ตรงนี้ทำให้เรามีความสุขและหายเหนื่อย
สุดท้ายพรเพ็ญ บอกว่า ปรัชญาในการทำงานคือ ทำอะไรก็ตามต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ต้องมีทิศทางไม่สะเปะสะปะและต้องทำอย่างต่อเนื่องและจริงใจ งานใดก็ตามที่สำเร็จแล้วเราไม่เคยทิ้ง เราก็ยังต้องทำให้ต่อเนื่องให้มันขึ้นไปเป็นระดับขั้นไปเรื่อยๆ และคาดว่าหลังจากที่เกษียณไปแล้ว คงจะหันมาทำงานด้านจิตอาสาต่อไป ไม่ทิ้งชุมชนแน่นอน
- 29 views