นายกสมาคมเวชบำบัดวิกฤตฯ เผย 13 องค์กรเครือข่ายสุขภาพ ร่วมจัดทำ “เวชปฏิบัติผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด” เพื่อให้เหมาะสมกับบริบทของไทย จากเดิมที่ใช้แต่ข้อแนะนำของต่างประเทศ เพื่อลดอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยใน รพ.หลังพบเป็นสาเหตุเสียชีวิตอันดับต้นของผู้ป่วยที่เข้ารักษาใน รพ.เน้นตระหนักรู้ เฝ้าระวัง ส่งต่อเร็ว ได้รับยาเหมาะสมและทันเวลา
นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ นายกสมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การติดเชื้อในกระแสโลหิตแบบรุนแรงเป็นสาเหตุการเสียชีวิตสำคัญของผู้ป่วยที่เข้ารักษาใน รพ.แต่สามารถลดลงได้ หากผู้ป่วยได้รับการดูแลและรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มต้น โดยความร่วมมือประสานทำงานร่วมกันทั้งระบบไม่แต่เฉพาะแพทย์และพยาบาล แต่รวมถึงระดับชุมชนที่ต้องร่วมตระหนักรู้และเฝ้าระวังตั้งแต่ต้นทาง มีระบบการส่งต่อผู้ป่วยชัดเจนและทันท่วงที การให้ยาฆ่าเชื้อที่เหมาะสมในระยะรวดเร็วที่สุด และให้การรักษาอื่นๆ ที่เหมาะสมและถูกต้องตามขั้นตอนการรักษา ซึ่งที่ผ่านมาหลายหน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยขึ้น มีการจัดตั้งเครือข่ายในการเฝ้าระวังและติดตามในหลายจังหวัด จนลดอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยกลุ่มนี้ลงได้
นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า ขณะนี้สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวม 13 องค์กร จัดทำ “แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด” (Guideline Severe sepsis and septic shock) ของประเทศไทยและจะเผยแพร่ในปลายปีนี้ ซึ่งได้จากการสังเคราะห์ข้อมูลการดูแลผู้ป่วยที่ผ่านมาและทำการสรุปจนเป็นแนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดที่เหมาะสมกับบริบทกับประเทศไทย จากที่แต่เดิมใช้ข้อแนะนำของต่างประเทศที่อาจมีความแตกต่างบางประการกับการดูแลผู้ป่วยไทย
“แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดซึ่งได้จัดทำขึ้นนี้ ได้มีการประชุมร่วมกันหลายครั้งของตัวแทนองค์กรที่เกี่ยวข้อง มีการทำประชาพิจารณ์แลกเปลี่ยนความรู้จนได้ข้อสรุป นำมาสู่แนวทางการดูแลผู้ป่วยฉบับล่าสุดนี้ อย่างไรก็ตามข้อแนะนำการดูแลผู้ป่วยยังต้องมีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา เนื่องจากการรักษาผู้ป่วยจะมีข้อมูลความรู้ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง จึงยังต้องปรับปรุงทุกระยะต่อไป ทั้งนี้แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นเพียงแต่แนวทางปฏิบัติเท่านั้น โดยแพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยเลือกวิธีรักษาและดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมที่สุดในแต่ละสถานการณ์”
นพ.ฉันชาย กล่าวต่อว่า บ้านเราตื่นตัวต่อปัญหาการเชื้อในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น จากความร่วมมือเครือข่ายองค์กรกรวิชาชีพที่จัดตั้งเป็นเครือข่ายเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ส่งผลให้การเกิดประชุมวิชาการ การพัฒนาและเผยแพร่องค์ความรู้ การกระตุ้นให้เกิดความตระหนักทั้งในแง่นการป้องกันและรักษาของบุคลากรทางการแพทย์ การสร้างระบบการเฝ้าระวัง ซึ่งอาจนำไปสู่การจัดทำฐานข้อมูลภาวะการติดเชื้อในกระแสเลือดทั้งประเทศที่เป็นประโยชน์ต่อการเฝ้าระวังปัญหาในอนาคตต่อไป
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ปัญหาการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นปัญหาหนึ่งด้านสาธารณสุขที่ สปสช.สนับสนุนเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหา โดยมีจุดเริ่มต้นระดับเขต โดย สปสช.เขต 2 พิษณุโลก ร่วมกับ รพ.พุทธชินราช พิษณุโลก เมื่อปี 2555 และดำเนินงานต่อเนื่อง 2 ปี จึงขยายเครือข่ายร่วมกับ 13 องค์กรสู่การแก้ไขระดับประเทศ จัดตั้งเครือข่าย รพ.150 แห่งเพื่อเฝ้าระวัง
และปี 2559 สปสช.นอกจากสนับสนุนจัดประชุมภาคีเครือข่าย 13 องค์กร ยังจัดประชุม รพ.ทุกระดับ ทั้งรพ.มหาวิทยาลัย รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไปและ รพ.ชุมชน รวมถึงสนับสนุนจัดทำเวชปฏิบัติเพื่อดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือดและคู่มือประชาชนเพื่อดูแลผู้ป่วยติดเชื้อในกระแสเลือด เพื่อนำไปสู่การลดอัตราเสียชีวิตผู้ป่วยใน รพ.ที่เกิดจากภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด
ทั้งนี้ 13 องค์กรที่เข้าร่วมเครือข่ายเพื่อแก้ไขปัญหาการติดเชื้อในกระแสเลือดฯ คือ 1.สมาคมเวชบำบัดวิกฤตแห่งประเทศไทย 2.สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย 3.สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 4.สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย 5.สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย 6.สำนักการพยาบาล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข 7.สภาการพยาบาล 8.สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) 9.ชมรมโรคระบบหายใจและเวชบำบัดวิกฤตในเด็กแห่งประเทศไทย 10.ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย 11.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย 12.ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และ 13.สปสช.
- 297 views