คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มจธ. ฉีกกฎความตึงเครียดในการทำกายภาพบำบัด ออกแบบ “น้องยิ้ม” เก้าอี้หน้าตาสดใสที่ชักชวนให้เด็กพิการทางสมองมาบำบัดด้วยความสนุกสนาน
ปัจจุบันผู้ป่วยสมองพิการที่อยู่ในชนบทนั้นมีมากกว่าในเมืองถึง 5 เท่า แต่สถานบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายที่มีอุปกรณ์มาตรฐานและบุคคลากรที่เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ถูกจำกัดอยู่เฉพาะโรงพยาบาลในตัวเมืองของจังหวัด ดังนั้นผู้ป่วยในชนบทที่ต้องรักษาด้วยการทำกายภาพบำบัดจึงมีข้อจำกัดเพราะการเดินทางมาทำกายภาพในเมืองนั้นมีค่าใช้จ่ายสูง เมื่อเทียบกับรายได้ของครอบครัวผู้ป่วย
ทีมนักวิจัยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ได้ลงพื้นที่จังหวัดมหาสารคามและพบว่าในชนบทมีหลายครอบครัวที่มีลูกหลานเกิดมาพิการทางสมองทำให้มีความลำบากในการเดินและเคลื่อนไหว แขน ขามีความอ่อนแรงและแข็งตึง ต้องมีการพัฒนาศักยภาพด้วยการทำกายภาพบำบัด จึงมีแนวคิดที่จะออกแบบผลงานที่พอจะช่วยบรรเทาความยากลำบากในการทำกายภาพบำบัดให้แก่ครอบครัวในพื้นที่ห่างไกล
ผศ.ดร.ชูจิต ตรีรัตนพันธ์
โดยมี ผศ.ดร.ชูจิต ตรีรัตนพันธ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัย ร่วมกับ ศรัณย์ นาคภักดี อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ และทีมงานในการทำโครงการวิจัยเพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ร่วมกับชุมชนที่สามารถช่วยในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพเด็กพิการทางกายภาพในชนบทที่ห่างไกล ซึ่งได้รับทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
ในฐานะหัวหน้าโครงการ ผศ.ดร.ชูจิต กล่าวว่า จากโจทย์ดังกล่าวทีมงานจึงร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่ชื่อว่า “น้องยิ้ม”โดยมีอาจารย์ศรัณย์ เป็นผู้ออกแบบ ซึ่งน้องยิ้มนั้นเป็นผลิตภัณฑ์ Indoor Roll Rider ที่จะช่วยในการบำบัดฟื้นฟูสมรรถภาพทางกายภาพโดยเฉพาะในเด็กพิการทางสมอง โดยมีการใช้งานที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของเด็กๆ เหมาะกับวิถีชีวิตและบริบทสังคมไทยในชนบท ที่ส่วนใหญ่จะทำกิจกรรมกับพื้น มีลักษณะเป็นเก้าอี้ทรงเตี้ยสามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 80 กิโลกรัมมีล้อ เพื่อให้เด็กสามารถใช้ขาและแขน ช่วยในการเคลื่อนที่ไปในที่ต่างๆ ที่ต้องการได้ กระตุ้นให้เด็กได้พัฒนากล้ามเนื้อแขน ขา ให้แข็งแรงมากยิ่งขึ้น และมีรูปร่าง สีสันที่สดใสเป็นมิตรช่วยดึงดูดเด็ก ให้อยากมาเล่นมาใช้
“เด็กที่ป่วยเป็นโรคพิการทางสมองถ้าไม่ได้ฝึกทุกวันพัฒนาการจะยิ่งช้ามากจนถึงไม่พัฒนาเลย ที่น่ากลัวคือในช่วงอายุ 3-9 ขวบ เป็นช่วงที่เด็กจะมีพัฒนาการสูงที่สุดเหมาะแก่การเสริมศักยภาพเด็ก ถ้าหากเด็กที่พิการทางสมองไม่ได้ทำกายภาพหรือไม่ได้ฝึกฝนทุกวันเค้าอาจจะต้องนอนไปตลอดชีวิตเพราะเส้นจะยึดและพัฒนาการทางสมองก็จะลดลงไปด้วย ดังนั้นสำหรับคนในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่มีรายได้น้อยสู้ค่าใช้จ่ายแพงๆ ในการเดินทางไปทำกายภาพบำบัดในตัวเมืองไม่ไหว เราจึงออกแบบน้องยิ้มเพื่อนำไปมอบให้ครอบครัวในชนบท โดยเลือกวัสดุและอุปกรณ์ที่ทนทานและราคาไม่แพงเพื่อที่เค้าจะได้หาซื้ออะไหล่มาเปลี่ยนเองได้หากชำรุด”
ผศ.ดร.ชูจิต บอกว่า จุดประสงค์จริงๆ ในการพัฒนาน้องยิ้ม ไม่ได้มุ่งเน้นให้เป็นอุปกรณ์กายภาพบำบัด แต่อยากให้เป็นอุปกรณ์กึ่งพัฒนาการที่ช่วยเสริมและเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตประจำวันของเด็ก
“มีโอกาสได้คุยกับนักกายภาพ เค้าบอกว่าอุปกรณ์ที่ฝึกกายภาพบำบัดที่มีใช้ในปัจจุบันจะเน้นทางด้านหลักการท่าทางที่ถูกต้อง ซึ่งใช้การรัด เพื่อยึดในส่วนต่างๆ ของร่างกายโดยจะมีขั้นตอนการใช้งานที่ค่อนข้างซับซ้อน แบบนั้นมันมีประสิทธิภาพก็จริง แต่เด็กจะไม่ค่อยมีแรงจูงใจในการฝึก เด็กบางคนไม่ถึงนาทีก็จะร้องไห้ไม่ยอมทำต่อแล้ว แต่พอลองให้เด็กใช้น้องยิ้มในการฝึก เค้าสามารถขึ้นนั่งเอง ใช้มือหมุนล้อเอง ใช้ขาไถเอง เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อได้ทั้งมือ เท้า แขน ขา และสะโพก ได้ฝึกการประยุกต์ใช้ส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ด้วยตัวเอง โดยไม่เกิดความเครียดเพราะเค้าจะรู้สึกว่ากำลังเล่นอยู่ ไม่ใช่ถูกบังคับให้ทำเพื่อการรักษาทำให้เกิดพัฒนาการทางสมองและร่างกายควบคู่ไปพร้อมกัน ซึ่งถ้าได้ฝึกกับเก้าอี้น้องยิ้มทุกวัน อย่างน้อยน่าจะพอช่วยเหลือตัวเองได้ตามศักยภาพที่มี ซึ่งก็จะเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลได้ระดับหนึ่ง”
ผศ.ดร.ชูจิต กล่าวว่า น้องยิ้มเป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วน อาทิ เก้าอี้ “Yim” ที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัท Pioneer Industrial Corporation Limited และการช่วยเหลือในการขึ้นต้นแบบโครงเหล็กที่รองรับเก้าอี้อย่างแข็งแรงโดยบริษัท เฟอร์นิสท์ อินดัสทรีส์ จำกัด แบรนด์ฟโล (Flo) จนทำให้เกิดเป็นน้องยิ้มขึ้นมา
ทั้งนี้มีการนำไปมอบที่โรงเรียนศรีสังวาลย์ จำนวน 2 ตัว กระจายไปยังศูนย์และครอบครัวในจังหวัดมหาสารคามจำนวน 3 ตัว และได้มีโอกาสถวายแด่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาอีก 1 ตัว ซึ่งเก้าอี้น้องยิ้มได้มีการยื่นจดสิทธิบัตรด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
- 204 views