กรมควบคุมโรค เผยปี 57 ไทยมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึง 2,007 คน หรือเฉลี่ยวันละ 6 คน ครึ่งหนึ่งเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ เหตุความสามารถร่างกายลดลง แนะให้ผู้สูงอายุเข้ารับการประเมินความเสี่ยง เพื่อวางแผนป้องกัน
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 14.9 หรือประมาณ 10 ล้านคน ซึ่งปัญหาสุขภาพที่พบบ่อย คือ การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองในกลุ่มของการบาดเจ็บโดยไม่ตั้งใจ รองจากการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน(ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2557) และข้อมูลจากสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในปี 2557 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงถึง 2,007 คน หรือเฉลี่ยวันละ 6 คน โดยเป็นกลุ่มผู้สูงอายุมากถึง 909 คน หรือเฉลี่ยวันละ 3 คน
นอกจากนี้ ยังพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2548-2557) เพศชายมีอัตราการเสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มสูงกว่าเพศหญิง 3.4 เท่า และจากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย พบว่าเพศชายร้อยละ 60 หกล้มบริเวณนอกบ้าน ขณะเดินทาง เช่น ถนนในซอย บนสะพาน บนรถเมล์ และในสถานที่ทำงาน ไร่ นา ส่วนเพศหญิงมากกว่าครึ่ง (ร้อยละ 55) หกล้มในตัวบ้านและบริเวณบ้าน เช่น ห้องนอน ห้องครัว และห้องน้ำ เป็นต้น
นพ.อำนวย กล่าวต่อว่า สาเหตุของการพลัดตกหกล้มส่วนใหญ่เกิดจากตัวผู้สูงอายุ ได้แก่ ร่างกายและความสามารถที่ลดลง เช่น การมองเห็นไม่ชัด สายตาผิดปกติ เดินเซ มีการรับรู้ที่ช้า มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ขาดการออกกำลังกาย สวมใส่รองเท้าและเสื้อผ้าที่ไม่พอดี อีกสาเหตุคือเกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น พื้นและบันไดลื่นหรือเปียก พื้นต่างระดับไม่เรียบ แสงสว่างไม่เพียงพอ ไม่มีราวจับบริเวณบ้าน บันได และห้องน้ำ โดยการบาดเจ็บหลังการพลัดตกหกล้ม มีตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น อาการฟกช้ำ แผลถลอก กระดูกหัก จนถึงขั้นรุนแรง และเสียชีวิตได้
สำหรับมาตรการในการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เริ่มที่ผู้สูงอายุเอง ผู้ดูแลและคนในครอบครัว โดยแนะนำให้ผู้สูงอายุรับการประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มและคำแนะนำ เพื่อป้องกันและลดปัจจัยเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ดังนี้ 1.สังเกตอาการและความผิดปกติของการมองเห็น เช่น มองเห็นไม่ชัดเจน ตาพร่ามัว บอกระยะห่างไม่ได้ เป็นต้น 2.สังเกตอาการและความผิดปกติของการเดิน การทรงตัว เนื่องจากผู้สูงอายุมีกลไกการทำงานที่ควบคุมการทรงตัวของระบบอวัยวะต่างๆ ลดลง 3.สังเกตอาการและความผิดปกติทางด้านการรับรู้ เช่น สับสน หลงลืมเกี่ยวกับวัน เวลา สถานที่ หรือตอบสนองได้ช้าลง 4.ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับการใช้ยาที่ทาให้เสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม ได้แก่ ยาที่ทำให้ง่วงซึม ยากล่อมประสาท ยาลดความดันโลหิต เป็นต้น 5.ประเมินที่อยู่อาศัย ทั้งในบ้านและบริเวณบ้าน โดยให้มีราวบันไดและราวจับในห้องน้ำ แสงสว่างเพียงพอ พื้นเรียบเสมอกัน ห้องนอนควรอยู่ชั้นล่าง 6.ควรออกกำลังกาย เน้นการทรงตัวและทักษะการเคลื่อนไหว เช่น โยคะ ไทเก๊ก เป็นต้น และ 7.ควรเปลี่ยนท่าช้าๆ เพื่อป้องกันภาวะความดันตกในท่ายืน หน้ามืด วิงเวียน จะเป็นลม ขณะลุกนั่งหรือยืนทุกครั้ง
“ที่สำคัญผู้นำชุมชนและคนในชุมชน ควรร่วมกันสำรวจสิ่งแวดล้อมหรือจุดเสี่ยงในชุมชน เช่น พื้นทางเดิน ถนน ที่สาธารณะ กำหนดและร่วมปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยงต่างๆ ในชุมชน และสนับสนุนกิจกรรมหรือโครงการป้องกันการพลัดตกหกล้มของผู้สูงอายุในชุมชน เช่น การออกกำลังกายแบบไทเก็ก โยคะ การรำมวยจีน การเดิน ว่ายน้ำ เป็นต้น หากประชาชนมีข้อสงสัยหรือสนใจข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422” นพ.อำนวย กล่าว
- 34 views