เอาท์ลุคอินเดีย : นายบัน คี มุน เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แต่งตั้งนักวิจัยอินเดีย ร่วมเป็นกรรมาธิการสาธารณสุขด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีและการเข้าถึงการรักษา อันเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามยกระดับการลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาด้านการรักษาโดยไม่เน้นผลกำไร
นายยูซูฟ ฮามิด (ภาพจาก www.indianbillgates.com)
ข่าวรายงานว่า นายยูซูฟ ฮามิด (Yusuf Hamied) กรรมการอิสระของบริษัทซิปลา (Cipla) ซึ่งดำเนินกิจการผลิตยาต้นแบบจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมาธิการทั้ง 16 คน โดยมีอดีตประธานาธิบดีรูธ ดรายฟูส ของสวิตเซอร์แลนด์และอดีตประธานาธิบดีเฟสตุส โมกายของบอตสวานาร่วมเป็นประธาน
ด้านยูเอ็นแถลงว่า นายฮามิดมีผลงานเป็นผู้ผลักดันการรักษาและกวาดล้างโรคเอดส์และโรคภัยไข้เจ็บในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการกระจายยาให้แก่ผู้ป่วยอย่างทั่วถึงโดยไม่เลือกยากดีมีจน เขาประสบความสำเร็จผลิตยารักษาโรคเอดส์ราคาถูกเป็นครั้งแรกของโลกเมื่อปี 2546 ซึ่งช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านยาของผู้ป่วยเหลือเพียงวันละ 1 ดอลลาร์
นอกจากนี้ยังมีบทบาทผลักดันการบุกเบิกพัฒนายาสูตรผสมสำหรับ เอชไอวี วัณโรค หอบหืด และโรคภัยที่คอยเบียดเบียนประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการพัฒนาสูตรยาสำหรับผู้ป่วยเด็ก โดยเฉพาะยาสำหรับเด็กในพื้นที่ยากไร้
แหล่งข่าวอ้างถึงเลขาธิการยูเอ็นยกย่องสมาชิกในคณะกรรมาธิการว่า ล้วนเป็น “บุคคลผู้ได้รับการยกย่องอย่างสูงและเปี่ยมด้วยความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งในประเด็นทั้งด้านการค้า สาธารณสุข สิทธิมนุษยชน และกฎหมายที่เกี่ยวพันกับการเข้าถึงการรักษา” อาทิ แอนดรูว์ วิตตี ซีอีโอบริษัทเวชภัณฑ์แกล็กโซสมิธไคลน์ วินนี บายแอนยิมา กรรมการบริหารขององค์กรอ็อกซ์แฟมอินเตอร์เนชันแนล มาเลโบนา พรีเชียส มัตโซโซ ผู้อำนวยการใหญ่กระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ และมาเรีย เฟรเออร์ ประธานและกรรมการบริหารมูลนิธิเพื่อสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติ และสมาชิกกรรมการที่ปรึกษาผู้อำนวยการสถาบันสาธารณสุขแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา
นายบัน ย้ำถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการรับประกันเข้าถึงการรักษาที่ดีในราคาที่สามารถจ่ายได้ เช่นเดียวกันกับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับนวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ เช่น วัคซีน ยา และการตรวจวินิจฉัยเพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีและสุขภาวะในทุกช่วงอายุดังที่กำหนดไว้ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
โดยเลขาธิการยูเอ็น กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันการวิจัยและพัฒนาวัคซีน ยา และการตรวจวินิจฉัยส่วนใหญ่ยังคงอิงแอบอยู่กับผลกำไร แทนที่จะมุ่งตอบสนองความต้องการของชุมชนรากหญ้าและคนชายขอบ และเสริมว่า วิกฤติไวรัสอีโบลาครั้งล่าสุดซึ่งคร่าชีวิตประชาชนไปกว่า 11,000 คนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันตกสะท้อนให้เห็นความจำเป็นของการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนาสำหรับโรคที่สามารถรักษาได้ รวมถึงโรคติดเชื้อ เช่น เอชไอวีและตับอักเสบชนิดซี การรับมือกับภาระโรคของโรคไม่ติดต่อ ตลอดจนการเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ทั้งแผนปัจจุบันและแผนโบราณ
อนึ่ง คณะกรรมาธิการมีกำหนดร่วมประชุมครั้งแรกในเดือนธันวาคมนี้ รวมถึงหารือร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อสรุปเป็นข้อเสนอแนะต่อเลขาธิการยูเอ็นในเดือนมิถุนายนปีหน้า
ขอบคุณข่าวจาก www.outlookindia.com
- 23 views