เอ็นจีโอ-เครือข่ายผู้ป่วยฯ แคลงใจ หวั่น “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” เปิดช่องโหว่เอื้อบริษัทยาข้ามชาติยื่นคุ้มครองสิทธิบัตรยา เหตุทำงานไร้ประสิทธิภาพ แถมสารพัดอุปสรรคขัดขวางยื่นคัดค้านสิทธิบัตร ทั้งระยะเวลายื่นค้านจำกัด 90 วัน ระบบฐานข้อมูลคลาดเคลื่อน สืบค้นข้อมูลยาก แถมเว็บไชต์ที่ใช้งบพัฒนาร่วมร้อยล้านไร้ประสิทธิภาพ ชี้ต้องเพิ่มบทบาทคุ้มครองประชาชน แนะล้างบาปด้วยการเพิกถอนคำขอสิทธิบัตรยารักษาไวรัสตับอักเสบซี เพราะมีหลักฐานชัดไม่ใช่ยาใหม่ ช่วยผู้ป่วยกว่าล้านคนในประเทศเข้าถึงการรักษา
ที่โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี – เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2558 มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวีแห่งประเทศไทย ตัวแทนผู้ติดเชื้อโรคไวรัสตับอักเสบซี และเครือข่ายภาคประชาชน ร่วมแถลงข่าว “ภาคประชาชนเคลือบแคลงใจบทบาทกรมทรัพย์สินทางปัญญา เอื้อประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ จริงหรือ?” พร้อมเปิดความคืบหน้ากรณีการผูกขาดสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์ Sofosbuvir : ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี”
นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่ประสานงานรณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า สิทธิบัตรมีผลโดยตรงกับผู้ป่วยในการเข้าถึงยาและการรักษา เพราะสิทธิบัตรเป็นการผูกขาดการผลิตยาให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นเวลายาวนานถึง 20 ปี ที่ผ่านมามูลนิธิเข้าถึงเอดส์ได้ติดตามกรณียาโซฟอสบูเวียร์ ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี เนื่องจากในหลายประเทศเห็นตรงกันว่า ยาโซฟอสบูเวียร์นี้ไม่ควรได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรยาเนื่องจากไม่ใหม่จริง ไม่ได้ใช้ขั้นตอนการผลิตที่สูงขึ้นจริง โดยใช้การผลิตคล้ายกับยาต้านไวรัสทีโนโฟร์เวียร์ จึงได้มีการคัดค้าน โดยในประเทศจีนและอียิปต์ได้มีการเพิกถอนสิทธิบัตรยานี้ไปแล้ว ด้วยเหตุนี้จึงได้ทำงานเพื่อคัดค้านการขึ้นสิทธิบัตรยานี้ในประเทศไทย เพื่อไม่ให้เกิดการคุ้มครองสิทธิบัตรยาที่ไม่สมควรได้รับที่จะส่งผลต่อผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีในประเทศ
ทั้งนี้จาการทำงานพบอุปสรรคที่ใช้ช่องว่างทางกฎหมาย ไม่ว่าการกำหนดระยะเวลายื่นคัดค้านที่ให้เพียง 90 วัน ซึ่งถือว่าสั้นมาก รวมทั้งปัญหาการค้นข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรจากกรมทรัพย์สินทางปัญหาที่ไม่มีกำหนดเวลาในการออกประกาศที่แน่นอน ทั้งยังไม่มีการขึ้นเว็บไซต์ รวมถึงข้อมูลบนเว็บไซต์ของกรมฯ ที่มีความสับสน คลาดเคลื่อน ไม่เป็นปัจจุบัน ทำให้การยื่นคัดค้านคำขอสิทธิบัตรยาเป็นเรื่องยาก และแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะรวบรวมเอกสารหลักฐานจำนวนมากเพื่อหักล้างการขอยื่นสิทธิบัตรได้ทันเวลา
“ในกรณีข้อมูลคำขอฯ สิทธิบัตรที่ไม่เป็นปัจจุบันในยาโซฟอสบูเวียร์ พบว่า ข้อมูลที่เราสืบค้นได้ไม่ตรงกับของกรมฯ ในเรื่องจำนวนคำขอฯ มูลนิธิเข้าถึงเอดส์จึงได้มีจดหมายไปถึงกรมฯ เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 58 เพื่อขอคำยืนยัน และได้รับหนังสือตอบลงวันที่ 24 ก.ย. 58 ระบุว่า มีคำขอที่เกี่ยวกับยาโซฟอสบูเวียร์ ทั้งหมด 13 ฉบับ แต่หลังจากได้ส่งให้ผู้เชี่ยวชาญด้านยาตรวจสอบอีกครั้งพบว่าเป็นข้อมูลไม่ถูกต้อง เพราะมี 2 ฉบับที่ไม่ใช่ยาโซฟอสบูเวียร์ ซึ่งเป็นตัวอย่างสะท้อนให้เห็นความยุ่งยากในการสืบค้นข้อมูลที่ต้องใช้เวลา” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวและว่า นอกจากนี้ในส่วนเว็บไซต์ยังพบข้อมูลที่ไม่ตรง มีตัวอย่างของยาต้านไวรัสสูตรสำรองซึ่งเว็บไซต์กรมฯ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 58 ระบุว่าอยู่ระหว่างกำลังพิจารณาคำขอฯ แต่จากหนังสือตอบกลับจากกรมฯ ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 58 กลับระบุว่า ได้ละทิ้งคำขอแล้ว แต่การที่เว็บไซต์ยังแสดงสถานะดังกล่าว เป็นการกีดกันบริษัทอื่นในการยื่นผลิตที่กระทบต่อประชาชน ดังนั้นบทบาทกรมฯ ควรที่จะให้การคุ้มครองผู้บริโภคด้วย
นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เราไม่สามารถไว้วางใจกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ และรู้สึกเคลือบแคลงกรมฯ ที่เข้าข่ายเอื้อประโยชน์บริษัทยาข้ามชาติ มากกว่าปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภค ทั้งการไม่มีประสิทธิภาพการอัพเดทข้อมูล ทำให้บริษัทยาที่ยืนคำขอได้รับการคุ้มครองทั้งที่ละทิ้งคำขอไปแล้ว ส่งผลให้บริษัทอื่นไม่สามาถยื่นเพิ่มเติม มีผลกระทบต่อการเข้าถึงยาผู้ป่วย ทั้งที่กรมฯ ใช้เงินรวม 100 ล้านบาทในการพัฒนาเว็บไซต์นี้ ทั้งการสืบค้น ตรวจสอบ แต่กลับไม่มีประสิทธิภาพและกลับเอื้อกับบริษัทยาข้ามชาติมากกว่า นอกจากนี้ที่ผ่านมากรมฯ ยังมีการแก้ไขเอกสารวันที่ยื่นคำขอสิทธิบัตรให้กับบริษัทยา ที่มีผลต่อระยะเวลาการเป็นเจ้าของสิทธิบัตร ซ้ำยังมีการออกเอกสารย้อนหลังรับรองเอกสารการยื่นคำขอย้อนหลังให้กับบริษัทยาอีก
“ในประเทศไทยคาดการณ์ว่ามีผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบซีอยู่กว่า 1 ล้านคน นั่นหมายถึงจำนวนผู้ป่วยที่รอรับยานี้ เพื่อหยุดภาวะตับแข็งจนกลายเป็นมะเร็งตับที่มีโอกาสรักษาต่ำมาก ดังนั้นเพื่อเป็นการคุ้มครองประชาชน จึงขอให้กรมทรัพย์สินทางปัญหาพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพตนเอง และรวมถึงติดตามการยื่นคัดค้านการขอสิทธิบัตรยาที่ไม่สมเหตุสมผลที่เครือข่ายผู้ป่วยได้ยื่นตั้งแต่ปีที่แล้วพร้อมเอกสารหลักฐานที่ชัดเจนว่าไม่ควรได้รับสิทธิบัตร ซึ่งกรมฯ ยังมีโอกาศล้างบาปตนเองได้ โดยประกาศเพิกถอนคำขอสิทธิบัตรยาโซฟอสบูเวียร์นี้” นายนิมิตร์ กล่าวและว่า ทั้งนี้ขอส่งเสียงไปยังองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในการเตรียมพัฒนาวิจัยและผลิตยาโซฟอสบูเวียร์ เพื่อมีแนวโน้มที่ภาคประชาชนจะชนะ เนื่องจากมีผู้ป่วยกว่าล้านคนที่รอยานี้ ซึ่ง อภ.เคยทำสำเร็จในการผลิตยาต้านไวรัสเอดส์เพื่อช่วยผู้ติดเชื้อมาแล้ว
ด้าน นายสมชาย นามสพรรค ตัวแทนเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย และเป็นผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี กล่าวว่า ในการรักษาไวรัสตับอักเสบซี ที่ผ่านมาเพื่อนที่เป็นอยู่ได้รับยาเพกกิเลต อินเตอร์เฟียรอนร่วมกับยาไรวาบาริน แต่มีผลข้างเคียงมาก ใช้เวลารักษาที่ยาวนาน และยังมีผลตอบสนองกับบางสายพันธุ์เท่านั้น ทำให้ยังไม่ตัดสินใจรักษาเพราะสายพันธุ์ที่เป็นอยู่อาจไม่ตอบสนองยาเดิม แต่ไม่รู้ว่าตับจะมีปัญหาและเป็นมะเร็งตับเมื่อไหร่ จะมีชีวิตอยู่ถึงเมื่อไหร่ ซึ่งยาโซฟอสบูเวียร์ ที่อยู่ระหว่างการคัดค้านคำขอสิทธิบัตรเท่าที่ทราบ มีราคาสูงถึงเม็ดละ 30,000 บาท ขณะที่ตนเองมีรายได้ค่าแรงเพียงวันละ 300 บาท คงไม่มีโอกาสเข้าถึงได้แม้ว่าอยากจะมีชีวิตรอดก็ตาม ทั้งนี้หากยานี้ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรจะทำให้มียาสามัญ มียาในราคาที่ถูกลง นั่นหมายถึงโอกาสในการบรรจุอยู่ในบัญชียาหลักเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้
ขณะที่ นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า 1.อยากให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้เปิดหูเปิดตาฟังความทุกข์ยากของคนที่รอเข้าสู่กระบวนการรักษา โดยเฉพาะยาที่จำเป็นต่อชีวิตผู้คน และได้ทำหน้าในฐานะหน่วยงานรัฐเพื่อประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของคนในประเทศนี้ ที่จะเข้าถึงยาจำเป็นต่อชีวิต 2.อยากให้กรมฯ เปิดหูเปิดตาดูวิธีการทำงานของตนเองว่า ที่ผ่านมาได้ทำงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ สมกับบทบาทที่ได้รับหรือไม่ และหากพบว่าที่ผ่านมาทำงานไร้ประสิทธิภาพก็ให้ลาออกยกกรมฯ และเปิดทางให้คนมีประสิทธิภาพได้ทำงานดูแลประชาชนแทนต่อไป เพราะการทำงานของกรมฯ เป็นอุปสรรคในการค้นหาข้อมูลและการทำงานที่มุ่งไปสู่การคุ้มครองประชาชน
“ในมุมมองภาคประชาชนมองว่ากรมทรัพย์สินทางปัญหากำลังทำงานแบบไร้ประสิทธิภาพ หากยังคงเป็นแบบนี้ต่อไปจะทำให้เกิดความเจ็บป่วยและล้มตายของผู้ป่วย และยังอาจทำให้หลายครอบครัวต้องล้มละลายลงด้วย ซึ่งขอตั้งคำถามว่าการทำงานแบบนี้เป็นการเอื้อต่อบริษัทยาข้ามชาติหรือไม่ ซึ่งในฐานะภาคประชาชนคงต้องติดตามต่อเพื่อให้กรมฯ เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพ” ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าว
- 16 views