นสพ.มติชน : การเป็นจักษุแพทย์ใช่ว่าจะสบายเสมอไป บ่อยครั้งที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยง โดยเฉพาะจักษุแพทย์โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ที่ต้องออกหน่วยให้บริการผ่าตัดตาต้อกระจกแก่ผู้ยากไร้ในถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ
ที่นี่จึงเป็นเสมือนมหาวิทยาลัยชีวิต เป็นเบ้าหลอมไม่เพียงการเป็นหมอที่ดี แต่หมายถึงการเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่พร้อมที่จะเหน็ดเหนื่อยเพื่อผู้อื่น โดยมีรอยยิ้มจากคนไข้เป็นรางวัลและกำลังใจ
สำหรับเธอเรียกได้ว่าตระเวนมาแล้วร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ...รวมทั้งในพื้นที่สีแดง
ถ้านับจำนวน "ตา" ที่ผ่านมือมาแล้วในช่วงเกือบ 10 ปีของการทำหน้าที่เป็นจักษุแพทย์ ก็นับหมื่นราย
ล่าสุดเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมากับการยกทีม รพ.บ้านแพ้ว ประกอบด้วยจักษุแพทย์ 4 คน พยาบาลและเจ้าหน้าที่อีก 21 คน พร้อมกับอุปกรณ์ผ่าตัดที่ทันสมัยรวม 84 กล่อง น้ำหนักราว 1,600 กิโลกรัม ออกหน่วยผ่าตัดต้อกระจกที่เมืองเมาะลำไย เมืองหลวงของรัฐมอญ ประเทศพม่า
เป็นครั้งแรกในฐานะหัวหน้าทีม หลังจากที่เป็นจักษุแพทย์เรียนรู้การตระเตรียมงานเมื่อ 2 ทริปที่ผ่านมาที่กัมพูชาและภูฏาน
"แต่ละแห่งไม่เหมือนกัน ทั้งสภาวะแวดล้อมและปัญหาก็ต่างกัน ที่พม่าก็เตรียมใจไว้แล้ว ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ดี"
พญ.พัทธ์ศรัณย์ บอกและว่า ลุ้นตั้งแต่ก่อนเดินทาง เนื่องจากต้องขนเครื่องมือไปด้วย ต้องติดต่อหลายหน่วยงานมาก จนวันสุดท้ายก่อนเดินทางผู้ประสานงานที่พม่าโทรศัพท์มาบอกว่า ทาง ตม.พม่ายังไม่ได้รับการยืนยันจากกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งถ้าเครื่องมือผ่านไม่ได้ หมายความว่าเราทำงานไม่ได้เลย เย็นวันนั้นต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วน กว่าจะได้รับการอนุมัติคือ 6 โมงเย็น
"นาทีนั้นโล่งอกเลยค่ะ เนื่องจากวันรุ่งขึ้นคือวันเดินทางแล้ว"
พญ.พัทธ์ศรัณย์ ธนะสุพรรณ
พญ.พัทธ์ศรัณย์ ธนะสุพรรณ หรือ "หมอจ๋า" เป็นคนกรุงเทพฯ เป็นลูกสาวคนโตใน 3 ใบเถา (เถาที่ 2 คือ สุพรรณรัตน์ และเถาที่ 3 สรินทิพย์) ของ คุณพ่อสุธี และ คุณแม่วรรณี ธนะสุพรรณ ศิษย์เก่าโรงเรียนราชวินิตประถม และโรงเรียนสามเสนวิทยาลัย ก่อนจะเอ็นทรานซ์ไปเป็นนักศึกษาแพทย์ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 6 ปี ทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาลอำเภอใน จ.สุโขทัย 3 ปี และศึกษาเฉพาะทางด้านต้อหินอีก 1 ปี จึงออกมาเป็นจักษุแพทย์เต็มตัวที่โรงพยาบาลเอกชล จ.ชลบุรี
ครั้งนั้นเธอบอกว่า งานน้อย เงินดี มีเวลาว่าง แต่อยู่ได้เพียง 6 เดือนก็มีอันต้องขอลาออก
ก่อนจะเข้ามาประจำการที่ รพ.บ้านแพ้ว เป็นหนึ่งในทีมจักษุแพทย์ไม่กี่คน ในยุคแรกๆ ที่ทางโรงพยาบาลเพิ่งเข้าร่วมโครงการผ่าตัดต้อกระจกเฉลิมพระเกียรติกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยใช้วันสุดสัปดาห์ตระเวนออกหน่วยเคลื่อนที่ไปผ่าตัดตาต้อแก่ผู้ด้อยโอกาสตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
บางแห่งผ่าตัดจนสว่างคาตาก็มี กระทั่งปัจจุบันเป็นเวลานานถึง 9 ปีแล้ว พัทธ์ศรัณย์ หรือ หมอจ๋า ในวัย 39 ปี ในฐานะรองผู้อำนวยการศูนย์จักษุและต้อกระจก หมาดๆ บอกว่า ถ้าย้อนอดีตได้ เธอก็ยังคงเลือกอยู่ที่ รพ.บ้านแพ้ว
เพราะอะไร...ไปฟังกัน
เป็นจักษุแพทย์ เชี่ยวชาญด้านต้อหิน ?
จริงๆ เป็นคนชอบทำหัตถการ ชอบการผ่าตัด แต่ตอนไปทำงานใช้ทุนที่โรงพยาบาลอำเภอ ที่สุโขทัย ได้ผ่าตัดทำคลอด ผ่าไส้ติ่ง อะไรมากมาย ตอนนั้นชอบสูตินรีเวชด้วยซ้ำ แต่รู้สึกว่าทำมาเยอะ เริ่มเบื่อแล้ว เลยมามองว่าอันไหนที่ได้ผ่าตัดด้วย ก็พบว่า จักษุแพทย์ได้ผ่าตัด ได้ทำหัตถการ เลยเลือกทางนี้
ต้อหินเป็นโรคที่ทำให้คนตาบอดมากเป็นอันดับ 2 รองจากต้อกระจก ตอนนั้นคิดว่าถ้าได้เรียนต้อหิน น่าจะได้ทำประโยชน์อะไรค่อนข้างเยอะมาก เพราะคนไข้ก็ค่อนข้างเยอะ
เคยทำงานโรงพยาบาลเอกชน ?
ค่ะ หลังจากจบหมอตาได้ 3 ปี แล้วไปอยู่ รพ.เอกชล ที่ชลบุรี 6 เดือน ตอนนั้นคุณภาพชีวิตดีมาก (ลากเสียงยาว) เวลาว่างเยอะมาก เพราะคนไข้ไม่ค่อยเยอะ ทำงาน 08.30-16.30 น. แต่รู้สึกว่าว่างมาก (หัวเราะ) วันๆ ว่างจัด อ่านหนังสือจบไปเป็นเล่มๆ เลย ตอนเย็นก็ไปออกกำลังกาย แต่ความที่เพิ่งจบใหม่ อยากจะทำนู่นนี่นั่น เลยรู้สึกว่า ไม่ไหวแล้ว ท่าทางจะอยู่ไม่ได้ เลยขออัปเปหิตัวเองออกมา
พอดี รพ.บ้านแพ้วตอนนั้นมีจักษุแพทย์แค่คนเดียว มีคุณหมอพรเทพ (นพ.พรเทพ พงศ์ทวิกร ผอ.ศูนย์จักษุและต้อกระจก) แล้วก็เพื่อนที่จบมาด้วยกัน 3 คนที่มาอยู่ที่บ้านแพ้ว พอทราบว่าบ้านแพ้วต้องการหมอตาค่อนข้างมาก เพราะเป็นปีแรกที่ทางโรงพยาบาลรับโครงการมาจาก สปสช. ผ่าตัดต้อกระจกฟรี โดย รพ.บ้านแพ้วรับโควต้ามา 12,000 คนต่อปี พอมาคุยกับคุณหมอพรเทพเลยได้มาอยู่บ้านแพ้ว...ทันที ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550
ชีวิตเปลี่ยนไปเลย ?
ชีวิตเปลี่ยนเลยค่ะ (หัวเราะ) ช่วงที่มาอยู่แรกๆ ก็หนักเหมือนกันค่ะ ต้องทำงานตั้งแต่ 8 โมงครึ่ง ตรวจตาและผ่าตัดไปด้วย ซึ่งช่วงที่มาอยู่ใหม่ๆ ทักษะในการผ่าตัดเรายังไม่ดีมาก วันหนึ่งเต็มที่ผ่าตัดได้ 6-7 ราย และตอนนั้นเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเริ่มออกหน่วยตามต่างจังหวัดทั่วประเทศไทยด้วย ซึ่งจริงๆ สถานการณ์ช่วงนั้นคนตาบอดจากต้อกระจกเยอะมาก และยังไม่มีการออกหน่วยผ่าตัด
ออกหน่วยครั้งแรกเป็นอย่างไร ?
ตอนนั้นไปนครสวรรค์ จำได้เลยว่าคนไข้เยอะมาก กลัวว่าจะเป็นตัวถ่วงหรือเปล่า เพราะเรากับเพื่อนยังผ่าได้ไม่เร็ว จำได้เลยว่า ตอนนั้นทำได้ 10 คนก็รู้สึกเลยว่า เป็นหมอตานี่มันเหนื่อยเหมือนกันนะ (ยิ้มกว้าง)
ส่วนใหญ่เวลาที่ออกหน่วยเราจะไปโรงพยาบาลอำเภอ เพราะโรงพยาบาลประจำจังหวัดมีหมอประจำอยู่แล้ว ช่วงแรกๆ ออกหน่วยกันทุกอาทิตย์จนคุณแม่แทบจะจำหน้าไม่ได้ (หัวเราะ) เพราะบ้านแพ้วอยู่สมุทรสาคร แต่บ้านเราอยู่กรุงเทพฯ บางทีไปออกหน่วยกลับมาคืนวันอาทิตย์ ก็ต้องนอนที่บ้านแพ้ว เช้าขึ้นวันจันทร์ก็ต้องทำงานต่อเลย จนแม่บอกว่าจำหน้าลูกไม่ได้แล้ว
มีอยู่ทริปหนึ่งไปฉะเชิงเทรา มีทริปซ้อน ต้องแบ่งหมอไป 2 แห่ง แล้วคนไข้เยอะมาก จำได้ตอนนั้นพอดีห้องผ่าตัดว่างแค่วันเดียว ต้องผ่าตัดให้เสร็จในวันนั้น ปรากฏว่าเสร็จตี 5 สว่างคาตาเลย (หัวเราะ) แต่ก็สนุกดีค่ะ แต่หลังๆ จะมีน้องๆ จบจักษุแพทย์เยอะขึ้น มาสลับกันออกหน่วย
ถ้าย้อนอดีตได้ ยังเลือกมาอยู่ รพ.บ้านแพ้ว ?
เลือกค่ะ เพราะเป็นประสบการณ์ที่ดี บ้านแพ้วสอนทุกอย่าง สอนให้อดทน เป็นคนอึด (หัวเราะ) ทุกคนที่มาอยู่ที่ รพ.บ้านแพ้วจะรู้ตั้งแต่ก่อนเข้ามาแล้วว่า งานหนัก ต้องออกหน่วย ไม่ค่อยได้อยู่บ้าน ซึ่งทุกคนทำใจมาแล้ว และมีจิตอาสาในใจอยู่แล้ว อยู่ด้วยกันเหมือนพี่น้องครอบครัวเดียวกัน
มีเวลาให้ที่บ้าน ?
ช่วงแรกๆ ไม่มีเวลาให้ครอบครัวจริงๆ แม่เป็นห่วงมาก เพราะไม่ค่อยกลับบ้าน โทรมาเราก็อยู่ไม่ซ้ำที่ ตอนหลังเมื่อแม่รู้ว่าเป็นการทำงานอย่างไร ก็เริ่มห่วงน้อยลง จะอวยพรให้ ให้กำลังใจว่าดีแล้วได้ช่วยคนอื่น และเวลาไปทำงานต่างจังหวัดก็จะมีคนไข้มาอวยพร เอาพระมาให้เยอะแยะเลยค่ะ
โหดสุดคือตอนไปบันนังสตา จ.ยะลา ?
จริงๆ ไปมาหมดแล้ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โหดสุดมั้ย ก็ไม่ถึงขนาดนั้น แต่ว่ามันมีข่าวออกมาตลอดเลย และเป็นครั้งแรกที่ลงใต้ คือคุณหมอพรเทพน่าจะเลือกเพราะเห็นว่าเป็นคนลุย ก็จะมากระซิบถามว่า มีคนมาชวนไปบันนังสตา ไปมั้ย ยังถามว่า ไปบันนังสตาเลยเหรอ พื้นที่สีแดงนะ (หัวเราะ) มันน่ากลัวเหมือนกันเนอะ แต่ไปๆ มาๆ ก็คิดว่า ไม่น่าเป็นไรมั้ง เราไปทำความดี ไปช่วยเหลือเขา ก็เลยตัดสินใจจะไป แต่ไม่ได้บอกแม่นะคะ กลัวแม่ไม่ให้ไป (หัวเราะ)
ตัดสินใจอยู่นานมั้ย ?
ประมาณ 1-2 อาทิตย์ ตอนนั้นรู้สึกว่า ที่คุณหมอพรเทพมาชวน อาจจะเป็นเพราะเราท่าทางจะเป็นหน่วยกล้าตายมากที่สุด เลยบอกว่าเดี๋ยวคิดก่อนนะ แล้วก็โอเค แต่ก็บอกว่า ไปก็ได้ แต่อย่าไปบอกใครนะ ที่สำคัญคือ อย่าบอกแม่ ไม่อย่างนั้นแม่ต้องไม่ให้ไปแน่ๆ
ทีนี้ตอนช่วงก่อนไปมีข่าว น่าจะปี 2554 มังคะ มีข่าวเฮลิคอปเตอร์ตกกันหลายลำ พอได้ยินข่าวว่าจะต้องไปโดยเฮลิคอปเตอร์ (หัวเราะร่วน) คือวิธีการไปจะนั่งเครื่องบินไปลงหาดใหญ่ แล้วพี่ทหารจะเอาเฮลิคอปเตอร์มารับไปลงที่เขื่อนบางลาง อ.บันนังสตา จ.ยะลา ไปผ่าตัดในรถผ่าตัดตาเคลื่อนที่ของโรงพยาบาล โดยเจ้าหน้าที่ทุกคนนั่งเฮลิคอปเตอร์ไป แต่มีคนที่กล้าตายมากกว่าคือ คนที่ขับรถโมบายไป และพี่อีกคนที่ขับรถ 6 ล้อขนเครื่องมือไป
ไปกันกี่คน ?
หมอ 2 คนค่ะ มีหมอพรเทพ กับหมอจ๋า แต่ตอนก่อนไปใจตุ๊มๆ ต่อมๆ เหมือนกัน ก็ถามย้ำเหมือนกันว่า ตกลงไปแน่ใช่มั้ย...ไปก็ไปค่ะ (หัวเราะ)
ตอนนั้นก็ใช้ใจและสวดมนต์ คือปกติก็เป็นคนสวดมนต์อยู่แล้ว ก็จะสวดมนต์ภาวนาว่าไปทำความดีนะ ขอให้กลับมาด้วยดี ที่นั่นคนไข้ก็เยอะเหมือนกัน มาจาก อ.บันนังสตาและอำเภอใกล้เคียง ที่ประทับใจนอกจากจะได้ช่วยเมาะ คือคุณยายคุณตาที่โน่น พี่ทหารบอกว่า ที่คุณหมอมาเหมือนเป็น "เกราะแห่งความรัก" ให้เขา คือเราเป็นเหมือนตัวเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างทหารและชาวบ้าน ในพื้นที่
คุณแม่ว่าอย่างไร ?
ตอนแรกก็ไม่ได้เล่าให้ฟัง แต่คุณแม่เห็นจากข่าว ถามว่า ไปบันนังสตามาเหรอ...วันหลังจะไปไหนมาไหนบอกแม่ด้วยนะ (หัวเราะ) คือกลัวว่าแม่จะเป็นห่วงมากเลยไม่บอก แต่ก็ดีค่ะ เป็นอีกประสบการณ์ หลังจากนั้นได้ไปบันนังสตาอีก 2-3 รอบ ไปปัตตานี นราธิวาส คือมีความรู้สึกว่า พ้นจากบันนังสตามาแล้ว ที่ไหนก็ไปได้หมด
ตอนสายบุรีที่มีข่าววางระเบิดไปด้วย ?
ที่สายบุรีไปมาแล้ว 2-3 รอบค่ะ แต่ทริปที่คุณหมอพรเทพไปกับหมออ้อย (พญ.สุชีรา ตติเวชกุล) ที่ก่อนไปก็มีข่าวระเบิด และระหว่างที่ไปก็มีญาติคนไข้มากระซิบว่าจะมีระเบิด ทริปนั้นไม่ได้ไปค่ะ ตอนที่ญาติคนไข้มากระซิบบอก เราก็ไม่ค่อยเชื่อ นึกว่าอำกันเล่น แต่พอคล้อยหลังไประเบิดจริงๆ แต่เรามีความเชื่อว่า เราไปทำความดีให้เขา เราไม่น่าเป็นไรมั้ง เวลาไปที่ไหนเลยไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่
ปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิด้วย ?
ค่ะ จริงๆ ชอบทำบุญ ทำแนวนี้อยู่แล้ว เริ่มมายังไงนึกไม่ออก แต่ที่เข้ามาศึกษาทางพุทธศาสนา ตอนที่อยู่ รพ.เอกชล มีเวลามาก อยากอ่านหนังสือที่เราชอบ เพราะตอนที่เรียนไม่ค่อยมีเวลาได้อ่านหนังสือ พออยู่เอกชลมีเวลาเยอะมาก และเราชอบหนังสือธรรมะอยู่แล้ว เลยซื้อมาอ่านจบเป็นเล่มๆ พออ่านเสร็จมาก็ลองนั่งสมาธิ เดินจงกรม ค่อยๆ ซึมซาบ
ซึ่งพอมาอยู่ รพ.บ้านแพ้ว มีพี่พยาบาลคนหนึ่งที่ศึกษาเรื่องธรรมะ เลยเข้าไปถามว่ามีที่ไหนที่สอนปฏิบัติธรรมบ้าง พี่เขาแนะนำคุณแม่ศิริ แต่ตอนที่สมัครที่ยุวพุทธิกสมาคมเต็ม เลยไปเข้าคอร์สของหลวงพ่อจรัญ ที่วัดอัมพวัน จำได้ว่าไปตอนสงกรานต์ คนเยอะมาก (ลากเสียง) แล้วเราไป 9 วัน เป็นการฝึกขันติมากเลยค่ะ
ได้อะไรจากการนั่งสมาธิ ?
ที่เห็นอย่างแรกคือ มีสติในการคิดในการทำสิ่งต่างๆ มากขึ้น อยู่กับปัจจุบันมากขึ้น แต่ก่อนจะเป็นคนค่อนข้างใจร้อน แต่พอได้ศึกษาธรรมะ รู้สึกว่ามีสติมากขึ้น ทุกข์น้อยลง ซึ่งก็มีความสุขไปอีกแบบ ผ่าตัดก็มีความสุขอีกแบบ
กลับมาที่โรคตา ปัจจุบันคนเป็นโรคตากันมากขึ้น ?
ใช่ค่ะ เป็นโรคตากันมากขึ้น โดยเฉพาะในคนหนุ่มสาว ซึ่งสมัยก่อนคนที่เป็นโรคตาจะอายุมากหน่อย เพราะโรคตาเกิดจากความเสื่อมของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นต้อกระจก ต้อหิน ฯลฯ โรคส่วนใหญ่จากความเสื่อมของร่างกาย แต่ปัจจุบันหนุ่มสาวเป็นโรคตากันมากขึ้น เพราะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป ฝุ่นควัน มลภาวะมากขึ้น และปัจจุบันคนยุคดิจิตอลใช้คอมพิวเตอร์ ใช้สมาร์ทโฟนกันมากขึ้น แสงจากคอมพิวเตอร์ทำให้ตามีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นทางกระจกตา จอประสาทตา ฯลฯ
การเสพติดโซเชียลเป็นตัวเร่งให้เป็นโรคตา ?
ค่ะ คนไข้ที่มาหา อย่างถ้าเป็นคนหนุ่มสาวที่มาตรวจตาเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ มีอาการตาแห้ง ปวดเมื่อยตา ไม่สบายตา พอถามมักจะอยู่หน้าคอมพิวเตอร์แทบจะตลอดเวลา ซึ่งการใช้คอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน ต้องใช้กล้ามเนื้อตาในการเพ่งค่อนข้างเยอะ
ถ้าเลี่ยงไม่ได้มีวิธีการถนอมสายตาอย่างไร ?
ถ้าแนะนำอยากให้เวลาใช้คอมพิวเตอร์ 1 ชม. พักสัก 10 นาที มองไปไกลๆ หรือมองอะไรเขียวๆ เพื่อพักสายตา และระหว่างที่พักสายตาอาจจะออกกำลังกายกล้ามเนื้อตาไปด้วย โดยมองขึ้นมองลง มองกลอกไปกลอกมา และนวดตาเบาๆ เป็นการช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา และอยู่ในห้องที่แสงสว่างเพียงพอ ไม่มืดไป ไม่สว่างไป
อนาคตยิ่งจะมีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นอีก บ้านแพ้วเตรียมรับสถานการณ์อย่างไร ?
ปัจจุบันและในอนาคตจะมีผู้สูงอายุเยอะขึ้น และผู้ป่วยที่เป็นโรคตาจะเยอะตามมา เฉพาะที่ศูนย์จักษุและต้อกระจก มีผู้ป่วยเข้ามารักษาโรคทางตาปีละ 50,000 คน ทาง รพ.บ้านแพ้วจึงมีการขยับขยาย โดยสร้าง รพ.จักษุบ้านแพ้ว ที่สมุทรสาคร เป็นโรงพยาบาล 8 ชั้น มีห้องผ่าตัดตา 9 ห้อง มีห้องตรวจ 23 ห้อง มีศูนย์เลเซอร์ ศูนย์เครื่องมือพิเศษทางตาที่ทันสมัย งบประมาณโครงการ 400 ล้านบาท ตอนนี้ระดมทุนได้ 200 ล้านบาทแล้ว ซึ่งสำหรับผู้มีจิตศรัทธาเราขอเชิญชวนมาร่วมกันสร้างโรงพยาบาลค่ะ
นอกจากนี้ยังมีส่วนของศูนย์วิจัยเพื่อช่วยเหลือคนตาบอด เป็นความร่วมมือกับศูนย์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และมูลนิธิช่วยเหลือคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ช่วยให้คนตาบอดกลับมามีความหวัง มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีงานทำ
ทำงานมากขนาดนี้คิดถึงการมีครอบครัว ?
ก็คิดเหมือนกันค่ะ (ยิ้ม) แต่ไม่ใช่ประเด็นหลัก พอมีเวลาส่วนใหญ่จะให้เวลากับแม่กับน้อง ส่วนที่เหลือก็ไปนั่งสมาธิ วิปัสสนากรรมฐาน จริงๆ ก็มีความสุขนะคะ เหงาแค่แวบเดียว งานก็ยังคงทำไปเรื่อยๆ เพราะมีความสุข และมันทำประโยชน์ให้กับคนอื่นได้มาก อะไรที่เราทำด้วยความสุขก็ทำได้เรื่อยๆ ค่ะ
สำหรับผู้ที่ประสงค์ใช้บริการ ปัจจุบัน รพ.บ้านแพ้วมีสาขาในกรุงเทพฯ 2 แห่ง นอกจากที่พร้อมมิตร ซ.สุขุมวิท 39 ยังมีที่ รพ.ประสานมิตร (รพ.โรคปอดเก่า เยื้องธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่) ให้บริการจันทร์ถึงศุกร์ 08.00-16.00 น. และ 17.30-19.00 น. วันจันทร์ พุธ ศุกร์ ยกเว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน วันที่ 8 พฤศจิกายน 2558
- 1820 views