เมื่อข้าพเจ้าสิ้นชีพขอจงนึกแต่เพียงว่า

ณ ที่หนึ่งยังคงเป็นอังกฤษทุกราตรีทิวา

ในผืนดินอุดมที่ซ่อนไว้คือธุลีเข้มข้น

ด้วยเป็นธุลีอันมีอังกฤษเป็นมารดา...

-- ถอดความจาก The Soldier โดยรูเพิร์ต บรูค

เดอะ คอนเวอร์เซชั่นรูเพิร์ต บรูค กวีหนุ่มวัย 28 ปีซึ่งมีผู้พรรณนาไว้ว่าเป็น “ชายรูปงามที่สุดในอังกฤษ” เข้าสู่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งในฐานะเรือตรีประจำสังกัดอาสาสมัครกองหนุนราชนาวีอังกฤษ เขาเสียชีวิตบนเรือพยาบาลของฝรั่งเศสด้วยอาการติดเชื้อในกระแสเลือดจากยุงกัดโดยที่ไม่ได้เข้าสู่สมรภูมิแม้แต่ครั้งเดียว 

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 ทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากติดเชื้อโรคมีจำนวนมากกว่าทหารที่เสียชีวิตในสนามรบเสียอีก ภาพประกอบจาก  Navy Medicine/Flickr

ทั้งนี้ ในช่วง ปี 2457-2461 มีทหารและพลเรือนเสียชีวิตราว 37 ล้านคน บรูคเองก็เป็นหนึ่งในผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันกับทหารสงครามโลกครั้งที่หนึ่งส่วนใหญ่ซึ่งมักเสียชีวิตจากการติดเชื้อมากกว่าบาดแผลจากการสู้รบ

ปี 2558 เป็นวาระครบรอบ 100 ปีวีรกรรมในสมรภูมิกัลลิโปลีของกองกำลังผสมออสเตรเลีย -นิวซีแลนด์ (แอนแซค) และยังเป็นวาระครบรอบ 150 ปีการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองสหรัฐฯ ซึ่งปืนไรเฟิลที่ยิงซ้ำได้เร็วและปืนกลเริ่มมีบทบาทในการห้ำหั่นกัน ในช่วงเวลานั้นอัตราส่วนการตายด้วยสาเหตุจากการติดเชื้อเทียบกับการสู้รบอยู่ที่ราว 4 ต่อ 1 และเป็นระยะเวลาคาบเกี่ยวกับที่หลุยส์ ปาสเตอร์ชี้ให้เห็นว่า โรคระบาดมีสาเหตุมาจากเชื้อโรค และ นพ.อิกนาซ เซมเมลไวส์ และ นพ.โจเซฟ ลิสเตอร์เริ่มวางรากฐานของการผ่าตัดปลอดเชื้อ

ในสมรภูมิกัลลิโปลีของสงครามโลกครั้งที่หนึ่งมีกำลังพลแอนแซคเสียชีวิตในที่รบ 5,482 นาย เสียชีวิตจากบาดแผลการสู้รบ 2,012 นาย (ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการติดเชื้อแบคทีเรียในกระแสเลือด) และเสียชีวิตจากโรคระบาด 665 นาย โดยที่ทหารได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไทฟอยด์ก่อนเดินทางสู่อียิปต์ ซึ่งตัวเลขการเสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรคระบาดที่ต่ำกว่าอาจเป็นผลจากการสู้รบที่ทวีความดุเดือด สภาพอากาศแห้ง รวมถึงการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

รูเพิร์ต บรูค, 1887-1915. ภาพประกอบจาก Pere Ubu/Flickr 

อัตราตายจากการติดเชื้อเทียบกับการสู้รบในทหารสหรัฐฯ ช่วงสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งมียาซัลฟอร์นาไมด์และยาปฏิชีวนะใช้กัน (ยาเพนนิซิลินพัฒนาขึ้นแล้วก่อนวันยกพลขึ้นบก) มีตัวเลขอยู่ที่ราว 1 ต่อ 9 ขณะที่กองกำลังออสเตรเลียในแนวรบด้านตะวันตกช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่งต้องเผชิญกับการระบาดของเหาและโรคเท้าเปื่อยซึ่งอาจกำเริบถึงขั้นต้องตัดอวัยวะ นอกจากนี้ทหารยังต้องเผชิญกับไข้เทรนช์จากเชื้อริคเกตเซีย ควินตานา ขณะที่ทหารหลายพันนายต้องเสียชีวิตจากโรคบาดทะยักและหนังเน่า เช่นเดียวกันกับพยาบาลและหน่วยพยาบาลอาสาซึ่งทำหน้าที่ดูแลกำลังพลที่เจ็บป่วยก็ประสบปัญหาการติดเชื้อรุนแรงโดยเฉพาะที่มือจากการสัมผัสบาดแผล รวมถึงการติดเชื้อไทฟัส บิด คางทูม และไข้หวัดใหญ่

กองกำลังชาวออสเตรเลียต้องต่อสู้กับการระบาดของเหา ความพิการ และการระบาดของไข้เทรนช์จากเชื้อริคเกตเซีย ควินตานา ภาพประกออบจาก State Library of South Australia/Flickr

หลังจากเข่นฆ่ากันจนมีผู้เสียชีวิตไปทั่วโลกราว 40 ล้านคน สงครามโลกครั้งที่หนึ่งก็ปิดฉากลงเมื่อกองทัพทั้งสองฝ่ายต่างบอบช้ำจากการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในปี 2461 ในครั้งนั้นฝ่ายกลาโหมของคู่สงครามต่างพยายามปิดข่าวผลกระทบจากไข้หวัดใหญ่ ขณะที่สเปนซึ่งถือนโยบายสายกลางยังคงมีรายงานข่าวไข้หวัดใหญ่ออกมาต่อเนื่อง จึงทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าสเปนเป็นแหล่งของโรคและเรียกขานไข้หวัดใหญ่ดังกล่าวว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน”

การดูแลรักษาไข้หวัดใหญ่ในเวลานั้นไม่สามารถทำอะไรได้นอกเหนือไปจากคอยเฝ้าพยาบาลอย่างใกล้ชิด จนต่อมาในคริสต์ทศวรรษที่ 30 ซึ่งเราประสบความสำเร็จในการแยกเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอเป็นครั้งแรก จึงเพิ่งเข้าใจว่าหายนะที่แผลงฤทธิ์ระหว่างปี 2461-2462 เป็นภาวะปอดอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัส (วัคซีนต้านแบคทีเรียใช้ไม่ได้ผล)

กองกำลังของแคนาดาในฝรั่งเศส ในปี 2549 ภาพประกอบจาก Taylor S-K/Flickr

มีข้อถกเถียงถึงต้นตอของไข้หวัดใหญ่เมื่อปี 2461 โดยบางส่วนเชื่อว่า ไข้หวัดใหญ่ที่มีความรุนแรงในการก่อโรคน้อยกว่า (พบครั้งแรกในทหารอังกฤษ) เริ่มระบาดมาแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2459-2460 และบางส่วนเชื่อว่าไข้หวัดใหญ่ระบาดครั้งแรกที่ค่ายทหารเกณฑ์ในรัฐแคนซัสของสหรัฐฯ ก่อนจะข้ามมหาสมุทรมายังฝรั่งเศสพร้อมกับเรือรบสหรัฐฯ แต่ไม่ว่าด้วยกรณีใดก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วก็คือทหารอเมริกันซึ่งเข้าร่วมสมรภูมิในภายหลัง (ปี 2460) ต้องเผชิญกับผลกระทบรุนแรงของไข้หวัดใหญ่     

โดยอาจเป็นได้ว่า การติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่ไม่รุนแรงก่อนหน้านี้อาจช่วยปกป้องทหารที่อยู่ในสมรภูมิมาก่อน ดังที่ตัวเลขความสูญเสียของกองทัพสหรัฐฯ (รวมถึงกำลังพลที่ไม่เคยเข้าสู่แนวหน้า) ชี้ให้เห็นอัตราตายจากการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่เทียบกับการสู้รบซึ่งอยู่ที่ราว 2 ต่อ 1 เทียบกับ 1.1 ต่อ 1 ในกองกำลังสัมพันธมิตร

อีกด้านหนึ่งมีข้อมูลบันทึกไว้ระหว่างเดือนกรกฎาคม 2461 และกุมภาพันธ์ 2462 พบว่า ร้อยละ 10 ของทหารออสเตรเลียในบริเตนติดเชื้อไข้หวัดใหญ่ (ตรวจพบอาการ) และเสียชีวิต 209 นาย และในหมู่ทหารออสเตรเลียที่รอดชีวิตจากสมรภูมิพบว่า กว่า 3,000 นายเสียชีวิตในภายหลังจากวัณโรค ขณะที่อีกจำนวนมากซึ่งปอดได้รับความเสียหายจากแก๊สพิษต้องทนทรมานด้วยอาการการติดเชื้อทางเดินหายใจ

หมายเหตุ ด้วยเหตุที่ผู้เขียนเกิดในปี 2483 จึงทำให้เคยได้รับการสั่งสอนจากทหารผ่านศึกผู้บอบช้ำ เช่นเดียวกับบรรดาผู้หญิงที่สงครามอันโหดร้ายพรากคู่ชีวิตของพวกเธอไปตลอดกาล ไม่มีครั้งไหนเลยที่ความหดหู่จะไม่ผุดขึ้นมาเมื่อผู้เขียนนึกถึงเรื่องราวที่ในช่วงปี 2457-2461 และไม่เคยแม้เพียงครั้งที่ผู้เขียนได้ยินทหารผ่านศึกเอ่ยถึงเกียรติยศของสงคราม

เกี่ยวกับผู้เขียน

ปีเตอร์ ซี โดเฮอร์ตี้ ศาสตราภิชาน จากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น

ที่มา : The Conversation