นับตั้งแต่การค้นพบวิธีการให้เลือดจากคนสู่คน ของ เจมส์ บลันเดลล์ (James Blundell, ชาวอังกฤษ, ค.ศ. 1790-1877) ในปี พ.ศ. 2361 จนทำให้เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของการให้เลือดในยุคปัจจุบัน ย้อนกลับไป เกือบ150 ปีก่อนหน้านั้น วิทยาการทางการแพทย์เกี่ยวกับการให้เลือดถูกแช่แข็งอยู่เป็นเวลานาน เนื่องจากความล้มเหลวของการศึกษาทดลอง ซึ่งรัฐยุโรปในสมัยนั้นเป็นผู้ตัดสินให้มีการยกเลิกวิธีการให้เลือดในการรักษาผู้ป่วยเนื่องจากเกิดการเสียชีวิตขึ้น

กล่าวได้ว่า ประวัติศาสตร์การให้เลือดของโลกถือกำเนิดขึ้นในยุโรป เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2171 (ค.ศ.1628) มีนักวิทยาศาสตร์คนสำคัญๆ ที่ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับการให้เลือดหลายคน ได้แก่ วิลเลียม ฮาวีย์ รายงานครั้งแรกจากผลการศึกษาของเขาพบว่า “เลือดที่อยู่ภายในหลอดเลือดนั้นมีการไหลเวียนเป็นวงจร การให้เลือดหรือสิ่งทดแทนอื่นเข้าไปในหลอดเลือดหลอดใด ย่อมจะต้องไหลเวียนไปทั่วร่างกาย และมีผลทำให้เพิ่มปริมาณของเลือดขึ้นได้” การศึกษาของ วิลเลียม ฮาวีย์ นับได้ว่าเป็นการค้นพบที่สำคัญยิ่งขององค์ความรู้เกี่ยวกับการให้เลือดของโลก

ต่อมาในปี พ.ศ.2208 (ค.ศ.1665) จอห์น วิลกิน (John Wilkin, ชาวอังกฤษ, ค.ศ. 1614-1672 หรือ พ.ศ.2157-2215) ได้ทดลองถ่ายเลือดดำจากหลอดเลือดดำบริเวณคอของสุนัขตัวผู้ใส่ลงในภาชนะรองรับแล้วนำไปฉีดเข้ายังหลอดเลือดดำที่ขาของสุนัขตัวเมียอีกตัวหนึ่ง โดยใช้หลอดทองเหลือง ปรากฏว่าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แม้ในช่วงระยะเวลาดังกล่าวยังทำการทดลองได้ในสัตว์เท่านั้น

จนกระทั่งปี พ.ศ.2210 (ค.ศ.1667) ยัง แบปติสท์ เดนิส (Jean Baptist, Denis) ซึ่งเป็นแพทย์ประจำพระองค์ของพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ทำการทดลองฉีดเลือดจากหลอดเลือดแดงของแกะ ให้กับเด็กผู้ชายคนหนึ่ง และได้ถ่ายเลือดแกะ เข้าสู่หลอดเลือดดำของชายหนุ่มอีกคนหนึ่งเป็นผลสำเร็จ กระทั่งในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ ประมาณ 5 เดือน ภายหลังที่เดนิสทดลองให้เลือดแกะแก่คนในประเทศฝรั่งเศส ในประเทศอังกฤษ  ริชาร์ด โลเวอร์ (Richard Lower, ชาวอังกฤษ, ค.ศ.1631-1701 หรือ พ.ศ.2174-2244) และคณะ ได้ทำการถ่ายเลือดโดยตรงจากแกะให้ชายหนุ่มผู้หนึ่งเป็นผลสำเร็จไม่มีผลร้ายอะไรเกิดขึ้นแม้จะให้ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 แต่ปรากฎว่าในอีก 3 สัปดาห์ต่อมา เดนิสได้ทดลองให้เลือดแกะแก่ผู้ป่วยอีก 2 ราย บังเอิญผู้ป่วยรายที่ 4 ถึงแก่กรรม ส่งผลให้ภรรยาของผู้ป่วยรายนี้ นำคดีขึ้นฟ้องศาล กล่าวหาว่าเดนิสกระทำฆาตกรรมสามีของนาง คดีเรื้อรังอยู่เป็นเวลานาน แม้ท้ายที่สุดศาลตัดสินว่าเดนิสไม่มีความผิดในฐานะเป็นฆาตกร แต่ศาลก็ประกาศห้ามการให้เลือด และจะมีการให้เลือดได้เฉพาะเมื่อได้รับอนุมัติโดยคณะแพทยศาสตร์แห่งนครปารีสเท่านั้น

นับได้ว่า อุบัติการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นรายงานแรกที่แสดงว่าการให้เลือดยังมีผลร้ายต่อชีวิตมนุษย์ กล่าวคือ ผู้ป่วยมีปฏิกิริยาภายหลังจากการให้เลือด ซึ่งปัจจุบันรู้จักกันดีว่าเกิดเม็ดเลือดแดงแตกสลาย (Hemolytic transfusion reaction) อันเป็นปฏิกิริยาเนื่องจากให้เลือดเข้ากันไม่ได้ ข้อบกพร่องที่เกิดขึ้นส่งผลให้ในเวลาต่อมารัฐสภาอังกฤษ ได้ออกกฎหมายห้ามการให้เลือดเช่นเดียวกับฝรั่งเศส วิทยาการทางการแพทย์เกี่ยวกับการให้เลือดจึงถูกแช่แข็งอยู่เป็นเวลานานเกือบ 150 ปี

ริชาร์ด โลเวอร์

ต่อมาในปี พ.ศ.2361 (ค.ศ.1818) เจมส์ บลันเดลล์ (James Blundell) ผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาของการให้เลือดของยุคปัจจุบัน ในเวลานั้นเขาเป็นทั้งอายุรแพทย์และสูติแพทย์ประจำโรงพยาบาลกายส์ ประเทศอังกฤษ ได้ทำการศึกษาทบทวนถึงวิธีการให้เลือด และได้ค้นพบว่า “เลือดของสัตว์ สกุลหนึ่ง (Specie) จะเข้าไม่ได้กับเลือดของสัตว์อีกสกุลหนึ่ง ดังนั้นเลือดที่จะให้แก่คนต้องเป็นเลือดของคนเท่านั้น” เขาได้ทดลองนำเลือดของผู้ช่วยของเขาเองไปให้แก่ผู้ป่วยเป็นโรคที่ไม่มีทางรักษาหาย โดยให้หลอดฉีดยาถ่ายจากผู้บริจาคให้แก่ผู้รับโดยตรง การให้เลือดในช่วงระยะเวลานี้มีทั้งสัมฤทธิ์ผล คือ ผู้ป่วยรอดชีวิตจากการเสียเลือด และที่โชคร้ายคือ ผู้ป่วยถึงแก่กรรมจากการให้เลือด นอกจากนี้แล้วยังพบว่า ผู้ป่วยที่รอดชีวิตบางรายมีอาการของหลอดเลือดอุดตันในเวลาต่อมา ทำให้การให้เลือดในระยะนี้ไม่เป็นที่นิยม แต่เนื่องจากมีความจำเป็นเพราะเกิดสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับเยอรมันขึ้น การให้เลือดโดยตรงโดยการถ่ายเลือดจากคนหนึ่งไปยังอีกคนหนึ่งในสมรภูมินับว่าได้ประโยชน์มาก จนเป็นที่ยอมรับว่าการให้เลือดเพื่อทดแทนมีผลคุ้มค่า

สงครามโลกครั้งที่สองจึงกลายเป็นอุบัติการณ์ที่ทำให้เกิดความต้องการให้เลือดทดแทนแก่ผู้บาดเจ็บในสงคราม และเป็นเหตุกระตุ้นให้มีการศึกษาวิจัย ค้นคว้าถึงประโยชน์ของเลือดและส่วนประกอบต่างๆ ของเลือด ตลอดจนแนวทางแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการให้เลือด และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของศาสตร์แขนงใหม่ คือ อิมมูโนวิทยาทางโลหิต (Immunohematology) ในปัจจุบัน

ประวัติศาสต์การให้เลือดครั้งแรกในประเทศไทย

สำหรับวิทยาการทางการแพทย์เกี่ยวกับการให้เลือดในประเทศไทย จากคำบอกเล่าของ ศ.นพ.สุด แสงวิเชียร พบว่าเกิดขึ้นครั้งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช ราวปี พ.ศ. 2470 (ค.ศ.1927) แต่ใครเป็นผู้ทำนั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด จนกระทั่งปี พ.ศ.2474 (ค.ศ.1931) นพ.แบ็กแมน (Carl Bachman) ได้ใช้เลือดของผู้ป่วยให้แก่ผู้ป่วยเองในรายผู้ป่วยมีครรภ์นอกมดลูก และมีการตกเลือดในช่องท้องมากจนอาการเป็นที่น่าวิตก โดยใช้ฟองน้ำซับเลือดที่อยู่ในช่องท้องและช่องเชิงกราน บีบผ่านผ้ากรองที่เป็นผ้าซับโลหิตลงในขวดน้ำเกลือ ซึ่งให้น้ำเกลือผ่านเข้าสู่หลอดเลือดดำของผู้ป่วย

ในเวลาต่อมา มีรายงานอ้างอิงถึงการจัดตั้งธนาคารเลือดแห่งแรกที่โรงพยาบาลศิริราช โดย ศ.นพ.สรรค์ ศรีเพ็ญ ได้บันทึกเป็นหลักฐาน ลงพิมพ์ในสารศิริราช (1: สิงหาคม, 282 - 289, 2492) ว่า "ในระยะสงครามโลกครั้งที่ 2 มีผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้มีความต้องการใช้เลือดเพิ่มมากขึ้นด้วย จึงได้ตั้ง "หน่วยถ่ายเลือด" ขึ้น โดยมีศ.นพ.สรรค์ ศรีเพ็ญ เป็นหัวหน้า และมีพยาบาลประจำ 1 คน เริ่มดำเนินการเมื่อ 1 กันยายน พ.ศ.2489 (ค.ศ.1946)” นับเป็นการเริ่มต้นการดำเนินงานธนาคารเลือดในประเทศไทย ส่วนธนาคารเลือดในต่างจังหวัดพบว่าเปิดขึ้นที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ. 2492 (ค.ศ.1949) ตามข้อมูลหนังสือ “คำแนะนำการจัดตั้งธนาคารเลือด กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข” เขียนโดย นพ.เสม พริ้งพวงแก้ว และประภา สุขอุดม

นับจากเวลานั้น การดำเนินการธนาคารเลือดได้แพร่หลายไปยังโรงพยาบาลต่างๆ สถาบันการแพทย์ทั้งทหาร และพลเรือนทั่วประเทศ เนื่องด้วยระยะเวลาดังกล่าวเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เสร็จสิ้นลง มีนายแพทย์ไทยซึ่งได้รับการฝึกอบรมทางการแพทย์กลับจากประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวนมาก และได้ตระหนักถึงความจำเป็นของการบริการธนาคารเลือดในประเทศไทย

ศาสตราจารย์ นายแพทย์สรรค์ ศรีเพ็ญ

 

เก็บความและภาพจาก

สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน โดยพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

แหล่งที่มา:

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=8&chap=6&page=t8-6-infodetail01.html

http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php?book=8&chap=6&page=t8-6-infodetail04.html