กรมอนามัยเผยข้อมูลเฝ้าระวังคุณภาพตู้น้ำหยอดเหรียญ พบปี 56 พบมีตู้น้ำหยอดเหรียญผ่านเกณฑ์เพียง 50% เตือนร้านค้าตั้งตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐานและไม่ขออนุญาตจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีความผิดโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แนะประชาชนเลือกใช้ตู้น้ำที่มีความสะอาด ปลอดภัยเพื่อป้องกันโรค
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากข้อมูลการเฝ้าระวังคุณภาพตู้น้ำหยอดเหรียญของกรมอนามัย พบว่า ในปี 2552 มีตู้น้ำหยอดเหรียญที่ผ่านเกณฑ์เพียงร้อยละ 33 และเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 50 ในปี 2556 สาเหตุที่ตู้น้ำหยอดเหรียญไม่ผ่านเกณฑ์ คือ พบแบคทีเรีย ความเป็นกรด-ด่าง สี และความขุ่น ที่เกิดจากการดูแลรักษาความสะอาดของเจ้าของตู้น้ำหยอดเหรียญ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนได้ โดยเฉพาะโรคอุจจาระร่วง โรคระบบทางเดินอาหาร โรคบิด ไทฟอยด์ อาหารเป็นพิษ ไวรัสตับอักเสบเอ และจากการสำรวจตู้น้ำหยอดเหรียญที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร ประมาณ 20,000 ตู้ พบว่ามีการแจ้งขึ้นทะเบียนกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพียงร้อยละ 15 เท่านั้น ซึ่งผู้ประกอบกิจการที่ไม่ได้รับอนุญาตจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสาธารณสุข พ.ศ.2535 หมวด 7 กิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นพ.วชิระ กล่าวต่อว่า เพื่อให้ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญมีความสะอาด ปลอดภัย และเป็นการคุ้มครองสุขภาพของประชาชน กรมอนามัยได้ส่งเสริมระบบการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำดื่มจากตู้น้ำหยอดเหรียญ โดยอาศัยความร่วมมือของผู้ประกอบการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชน และจัดทำแนวทางการควบคุมการประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนำไปออกเทศบัญญัติหรือข้อกำหนดท้องถิ่น เพื่อควบคุมดูแลด้านสุขลักษณะ การบำรุงรักษา การทำความสะอาด รวมทั้งกำหนดเกณฑ์หรือมาตรฐานการผลิตที่เหมาะสม ปัจจุบันเร่งดำเนินการในหลายพื้นที่ เริ่มนำร้องที่เทศบาลตำบลสลกบาตร จังหวัดกำแพงเพชร และเทศบาลตำบลโพทะเล จังหวัดพิจิตร และเตรียมการขยายให้ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ
“สำหรับประชาชนควรเลือกใช้บริการจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่ได้มาตรฐาน และสังเกตสภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งภายในและภายนอกโดยตัวตู้จะต้องสะอาด ไม่สกปรก ทำจากวัสดุที่แข็งแรง ทนทาน ไม่ผุกร่อน หรือเป็นสนิม จุดติดตั้งต้องมีความสะอาดโดยรอบ ตั้งอยู่บนพื้นที่เหมาะสม มีสุขอนามัย ไม่ใกล้ถังขยะหรือสิ่งปฏิกูล ช่องรับน้ำภายในตู้ต้องสะอาด มีฝาปิดมิดชิด ไม่เป็นคราบสกปรก ปราศจากฝุ่นละอองและคราบอื่นใด หัวจ่ายน้ำต้องเป็นวัสดุที่เหมาะสม เช่น สแตนเลสไม่ควรเป็นท่อพลาสติกหรือสายยาง และที่สำคัญต้องสะอาดไม่เป็นตะไคร่หรือมีสิ่งสกปรกบริเวณหัวจ่ายน้ำ ไม่มีกลิ่นทุกชนิดปนมากับน้ำหรือมีกลิ่นโชยขณะกดน้ำ หรือจากช่องจ่ายน้ำ รวมทั้งมีสติ๊กเกอร์การตรวจรับรองที่มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ และต้องระบุชื่อผู้ตรวจ ชื่อบริษัท วันเวลาที่มาตรวจอย่างชัดเจน”
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การนำขวดพลาสติกหรือภาชนะอื่นๆ มารองน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญก็ควรทำความสะอาดเป็นประจำ ต้องล้างขวดก่อนการนำมาใช้ซ้ำทุกครั้ง โดยใช้น้ำเขย่าให้ทั่วภาชนะแล้วเททิ้ง ทำซ้ำอีก 1-2 ครั้ง แต่ถ้ามีเวลามากพอก็ควรจะล้างภาชนะดังกล่าวด้วยน้ำยาล้างจาน โดยใช้แปรงขนอ่อนขัดล้าง จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด ผึ่งให้แห้ง จึงนำไปเติมน้ำจากตู้น้ำได้ โดยเฉพาะขวดพลาสติกที่นำมาใช้ซ้ำ หากมีรอยขูดขีด รั่ว แตกร้าว บุบ ก็ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำอีก เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนแบคทีเรียได้
อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การนำขวดพลาสติกหรือภาชนะอื่นๆ มารองน้ำจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญก็ควรทำความสะอาดเป็นประจำ ต้องล้างขวดก่อนการนำมาใช้ซ้ำทุกครั้ง โดยใช้น้ำเขย่าให้ทั่วภาชนะแล้วเททิ้ง ทำซ้ำอีก 1-2 ครั้ง แต่ถ้ามีเวลามากพอก็ควรจะล้างภาชนะดังกล่าวด้วยน้ำยาล้างจาน โดยใช้แปรงขนอ่อนขัดล้าง จากนั้นจึงล้างออกด้วยน้ำสะอาด ผึ่งให้แห้ง จึงนำไปเติมน้ำจากตู้น้ำได้ โดยเฉพาะขวดพลาสติกที่นำมาใช้ซ้ำ หากมีรอยขูดขีด รั่ว แตกร้าว บุบ ก็ไม่ควรนำมาใช้ซ้ำอีก เพราะอาจเสี่ยงต่อการปนเปื้อนแบคทีเรียได้
- 27 views