นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล หัวหน้าศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ คว้ารางวัล JHG Young Scientist Award ผลิตผลงานเป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ทางด้านพันธุศาสตร์มนุษย์ ของสมาคมพันธุศาสตร์มนุษย์ ประเทศญี่ปุ่น จากผลงานวิจัยการค้นหายีนที่เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งช่วยให้เกิดมุมมองใหม่ในการวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์ของวัณโรค
นพ.อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า สมาคมพันธุศาสตร์มนุษย์แห่งประเทศญี่ปุ่น (Japan Society of Human Genetics) มีการจัดประชุมประจำปีของสมาคมพันธุศาสตร์แห่งประเทศญี่ปุ่นขึ้นเป็นประจำทุกปี และจะมีการมอบรางวัล Journal of Human Genetics Young Scientist Award (JHG Young Scientist Award) ให้กับนักวิจัยที่เรียนจบปริญญาเอกภายใน 3 ปีที่ผลิตผลงานเป็นประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์ทางด้านพันธุศาสตร์มนุษย์และได้รับการเผยแพร่ในนิตยสาร Journal of Human Genetics ซึ่งเป็นวารสารทางวิชาการของสมาคมฯ โดยในแต่ละปีจะมีนักวิจัยจำนวนมากนำผลงานมาเผยแพร่ในนิตยสาร Journal of Human Genetics ทางคณะกรรมการของสมาคมฯจะทำการคัดเลือกและมอบรางวัล JHG Young Scientist Award ให้กับนักวิจัย ซึ่งปีนี้เป็นปีที่ 3 ที่มีการให้รางวัลนี้
และในปีนี้มีผู้ได้รับรางวัล 2 คน โดยมีนักวิจัยไทยได้รับรางวัลดังกล่าวด้วย คือ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล หัวหน้าศูนย์พันธุศาสตร์การแพทย์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้รับรางวัลจากผลงานวิจัยการค้นหายีนที่เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค (Utilizing genetic and environmental information in public health) ส่วนอีกคนคือนักวิจัยชาวญี่ปุ่นคือ นายชินจิ โอโนะ(Shinji Ono) คณะจิตเวช มหาวิทยาลัยนางาซากิ จากผลงานวิจัย Mutations in PRRT2 responsible for paroxysmal kinesigenicdyskinesias also cause benign familial infantile convulsions ทั้งนี้ผู้ที่ได้รับรางวัลจะได้กล่าวบรรยายในที่ประชุมอีกด้วย
นพ.อภิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ผลงานวิจัยการค้นหายีนที่เป็นความเสี่ยงต่อการติดเชื้อวัณโรค ของ นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล เป็นการศึกษาลักษณะทางพันธุกรรมของมนุษย์ที่ควบคุมการแสดงอาการภายหลังจากการติดเชื้อวัณโรค ซึ่งคนส่วนใหญ่จะควบคุมการติดเชื้อได้ มีเพียงประมาณร้อยละ 10 ที่จะแสดงอาการ และต้องรับการรักษาด้วยการทานยาต้านวัณโรค ซึ่งการได้รับวัคซีน และพันธุกรรมมนุษย์เป็นส่วนสำคัญที่ควบคุมการแสดงอาการ ในคนวัยทำงานที่แข็งแรงดีแต่กลับแสดงอาการของวัณโรคมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่ควบคุมการแสดงอาการที่แตกต่างจากผู้สูงอายุ นอกจากนี้พันธุกรรมมนุษย์ยังช่วยทำนายผลข้างเคียงจากการได้รับยา หรือการตอบสนองต่อยารักษาวัณโรค เนื่องจากยาวัณโรคมักจะมีผลข้างเคียงที่พบได้ค่อนข้างบ่อย เช่น ตับอักเสบ และผื่นแพ้ยา
“กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมกับโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ สถาบันโรคทรวงอก มหาวิทยาลัยโตเกียว และ สถาบันวิจัยริเคน ประเทศญี่ปุ่น เพื่อศึกษาค้นหาปัจจัยพันธุกรรมที่มีผลต่อการแสดงอาการของวัณโรค และพบปัจจัยเสี่ยงในคนวัยทำงานที่แสดงอาการของวัณโรค แต่ไม่พบปัจจัยเสี่ยงในผู้สูงอายุ จากผลการวิจัยนี้ทำให้ทราบกลไกการแสดงอาการของวัณโรคในผู้ป่วยวัยทำงานมีความเสี่ยงทางพันธุกรรมแตกต่างจากผู้ป่วยสูงอายุ ทำให้เกิดมุมมองใหม่ในการวิจัยทางด้านพันธุศาสตร์ของวัณโรค และนำไปสู่การพัฒนาวิธีการตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยวัณโรคต่อไป” อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว
- 395 views