“นิมิตร์” ชี้ คน กทม.เข้าไม่ถึงการรักษา ใช้สิทธิบัตรทองต่ำ เหตุโครงสร้างระบบบริการไม่เอื้อ มีเพียงหน่วยบริการปฐมภูมิ ศูนย์บริการสาธารณสุข/คลินิกชุมชนอบอุ่น แต่ขาดหน่วยบริการทุติยภูมิ เหมือน รพช.ในต่างจังหวัด ขณะที่ รพ.ใหญ่ตติยภูมิ กทม.ต้องดูแลประชากรทั้งหมด ไม่ตอบโจทย์ พร้อมเสนอเพิ่มศักยภาพศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.ให้เทียบเท่า รพช. ดูแลประชากรแต่ละเขต ช่วยคน กทม.เข้าถึงสิทธิ ชี้ซุปเปอร์คลินิกที่ กทม.ดำเนินการไม่ช่วยแก้ปัญหา ดูแลแค่ผู้ป่วยนอก ไม่ใช่ รพช.พร้อมดันตั้ง กองทุนสุขภาพระดับทัองถิ่น หลัง 14 ปี พื้นที่ กทม.ไม่เกิด ติดไม่มีระเบียบร่วมจ่ายสมทบ และเสนอจัดตั้งกองทุนรักษาพยาบาลคนไร้บ้าน กทม.หลังพบปัญหา รพ.ปฏิเสธการรักษา
หากมองผิวเผินคน กทม.น่าจะเป็นกลุ่มคนที่โชคดีที่สุดในเรื่องของการรักษาพยาบาล เพราะโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน รวมถึงโรงเรียนแพทย์ ล้วนตั้งอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร การเข้าถึงการรักษาจึงน่าจะดีกว่าคนที่อยู่ในต่างจังหวัด
แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ...14 ปีของการดำเนินนโยบาย “ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งช่วยให้คนไทยทั้งประเทศเข้าถึงบริการสุขภาพ แต่คน กทม.กลับกลายเป็นกลุ่มคนที่มีปัญหาเข้าถึงการรักษามากที่สุด มีอัตราการใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับคนต่างจังหวัด และมีจำนวนไม่น้อยยอมจ่ายเงินเองเพื่อเข้ารับการรักษายังหน่วยบริการเอกชน จากอุปสรรคการการเข้ารับบริการในระบบ
นิมิตร์ เทียนอุดม
ต้นเหตุสำคัญของปัญหานี้ นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เกิดจากความไม่เพียงพอของหน่วยบริการปฐมภูมิในระบบเพื่อดูแลประชากรในกรุงเทพซึ่งมีจำนวนกว่า 10 ล้านคน การจัดระบบบริการที่ไม่สะดวกและไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตคนกรุงเทพ นอกจากศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจซึ่งมีเวลาเปิดปิดตามราชการแล้ว ยังให้บริการเพียงผู้ป่วยนอก รักษาเฉพาะโรคเบื้องต้น โดยโรคที่เกินศักยภาพการดูแลจะส่งต่อไปยัง รพ.แทน ซึ่งกรณีที่ผู้ป่วยต้องรักษาที่ รพ.ต่อเนื่อง ยังมีความยุ่งยาก เพราะต้องขอใบนำส่งตัวเป็นรายครั้ง ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานระบบบริการสุขภาพของกรุงเทพฯ ที่แตกต่างจากต่างจังหวัดซึ่งมีโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) เป็นหน่วยทุติยภูมิระดับต้นรองรับประชากรในอำเภอ
นิมิตร์ กล่าวว่า การที่ กทม.ขาดหน่วยบริการแบบเดียวกับ รพช.ทั้งที่แต่ละเขตพื้นที่มีประชากรที่มากกว่าอำเภอในต่างจังหวัด จึงเป็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐานบริการด้านสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดของ กทม. ซึ่งปัจจุบันพบว่าคน กทม.มีเพียงแค่ศูนย์บริการสาธารณสุขและคลินิกใกล้บ้านใกล้ใจที่เป็นหน่วยบริการระดับปฐมภูมิเท่านั้น หากมีหน่วยบริการในรูปแบบ รพช. กระจายในแต่ละเขต ไม่เพียงแต่จะช่วยให้คน กทม.เข้าถึงการรักษาเท่านั้น แต่ยังช่วยลดความแออัดการเข้ารับบริการในโรงพยาบาลใหญ่ระดับตติยภูมิได้ ดังนั้นในข้อเรียกร้องของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายผู้ป่วยใน กทม.กว่า 400 คน ที่ได้เข้ายื่นหนังสือถึง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ กทม.ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขให้มีศักยภาพบริการเทียบเท่า รพช.
“เรื่องนี้เป็นปัญหาโครงสร้างพื้นฐานที่ใหญ่ที่สุดของ กทม.ต้องถามว่าทำไมไม่แก้ ที่ผ่านมาศูนย์บริการสาธารณสุขถูกตั้งขึ้นเพื่อดูแลคน กทม. แต่กลับทำหน้าที่ได้แค่คลินิกเท่านั้น และ กทม.ใช้วิธีนี้ดูแลคน กทม.มาตลอด แถมยังเป็นบริการคลินิกแค่ช่วงเช้าถึงเที่ยงที่ไม่ตอบโจทย์คน กทม. และที่สำคัญในกรณีที่เกิดเจ็บป่วยฉุกเฉิน หากเป็น ต่างจังหวัดจะมี รพช.รองรับตลอด 24 ชั่วโมง แต่สำหรับคน กทม.ต้อง รพ.เอกชนอย่างเดียว เพราะแม้ว่าจะมีโรงพยาบาลรัฐขนาดใหญ่หลายแห่ง แต่ก็มีข้อจำกัดการเข้าถึง เนื่องจาก รพ.ใหญ่เหล่านี้ต้องดูแลประชากรทุกกลุ่ม แต่หากมีหน่วยบริการระดับ รพช.ไว้บริการสำหรับประชากรในแต่ละเขตเฉพาะจะช่วยลดปัญหาลงได้” นิมิตร์ กล่าว
ศูนย์บริการสาธารณสุข กทม.
นิมิตร์ กล่าวว่า การยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 60 เขตเป็น รพช.แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก แต่ กทม.สามารถจัดทำเป็นแผนดำเนินการระยะยาวได้ เพื่อทยอยยกระดับในแต่ละเขต โดยอาจเริ่มจากเขตที่มีความพร้อมก่อน พร้อมกับการจัดทำแผนผลิตบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์และพยาบาล ไม่ใช่ปล่อยให้คน กทม.ในด้านการรักษาพยาบาลต้องกลายเป็นประชาชนชั้น 2 ของประเทศ มีสิทธิแต่เข้าไม่ถึง เพราะขาดหน่วยบริการระดับกลางเพื่อรองรับ ทั้งนี้แม้ว่า กทม.จะมี รพ.ขนาดใหญ่ 6-7 แห่ง และมีแผนก่อสร้าง รพ.ใหญ่ 4 มุมเมืองเพิ่มเติม แต่ไม่ได้ตอบโจทย์ต่อปัญหาการเข้าถึงการรักษาขั้นพื้นฐาน แต่เป็นการตอบโจทย์การส่งต่อผู้ป่วยที่รวดเร็วขึ้น เช่นเดียวกับแผนการยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุขเป็นซุปเปอร์คลินิกที่ยังคงเป็นการดูแลเพียงผู้ป่วยนอกเท่านั้น ไม่ได้เทียบเท่า รพช.
ส่วนที่มีข้อเสนอให้ดึง รพ.เอกชน ที่มีอยู่มากใน กทม.เข้าร่วมนั้น ต้องเข้าใจว่า รพ.เอกชนเราไปกำกับไม่ได้ หากเขาไม่เข้าร่วมบริการผู้ป่วยระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เราก็ทำอะไรไม่ได้ ดังนั้นการดึง รพ.เอกชนเข้าร่วมจึงเป็นเพียงแค่ทางเลือกหนึ่งในระบบหลักประกันสุขภาพเท่านั้น
“การยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข กทม. เป็น รพช. เป็นโจทย์ที่คน กทม.ต้องช่วยกันคิดว่าจะทำอย่างไร เพราะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้คน กทม.มีอัตราการใช้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพที่น้อยมาก วันนี้เชื่อว่าคน กทม.ต่างรับรู้ปัญหานี้ดี ขณะเดียวกันยังขึ้นอยู่กับวิสัยทัศน์ผู้บริหาร กทม.ว่าจะดูแลสุขภาพคนเมืองอย่างไร เพราะที่ผ่านมาปัญหาการเข้าถึงการรักษาของคน กทม.ไม่ได้ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร”
นอกจากการรักษาพยาบาลของคน กทม.ที่เป็นปัญหาแล้ว นิมิตร์ กล่าวว่า ยังมีปัญหาเรื่องการจัดตั้งกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น ซึ่งต้องบอกว่า คน กทม.ไม่มีกองทุนนี้ ทั้งที่ในต่างจังหวัดต้องบอกว่าเรื่องนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จ เป็นการดึงประชาชนเข้ามีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพและป้องกันโรค เกิดการเรียนรู้ ตอบโจทย์สุขภาพชุมชน โดย สปสช.เป็นหน่วยงานสนับสนุนงบประมาณและท้องถิ่นร่วมสมทบ โดย กทม.ให้เหตุผลที่ไม่สามารถจัดตั้งกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นได้เพราะติดที่ระเบียบซึ่งไม่สามารถจ่ายเงินสมทบได้ ส่วนตัวมองว่า นอกจากเป็นคำตอบแบบกำปั้นทุบดินแล้ว ยังสะท้อนว่าผู้บริหาร กทม.ไม่มีวิสัยทัศน์การป้องกันโรคแบบการมีส่วนร่วมเลย
“การจัดตั้งกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่น เห็น สปสช.พยายามพูดคุยกับ กทม.มาหลายปีแล้ว เหตุผลที่เป็นอุปสรรคคือ กทม.ไม่มีระเบียบให้เงินสมทบจึงทำไม่ได้ และพูดเป็นแผ่นเสียงตกร่องมานานแล้วและไม่ทำอะไร แถมที่ผ่านมา สปสช.พยายามผลักดันโดยจ่ายเงินกินเปล่าปีละ 300 ล้านบาท เพื่อหวังสนับสนุนจัดตั้งกองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นให้กับ กทม. โดยให้สำนักอนามัยไปทำงานส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคโดยไม่ต้องมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่ผลที่เกิดขึ้นคือ กทม.กลับไม่มีผลงานใดๆ ในเรื่องนี้ ทำให้ สปสช.ต้องยกเลิกการสนับสนุนงบประมาณนี้ให้กับ กทม.ในที่สุด”
ส่วนที่ระบุว่าพื้นที่ กทม.มีความซับซ้อน มีความแตกต่างของวิถีชีวิตนั้น ต้องบอกว่ากองทุนสุขภาพระดับท้องถิ่นของ กทม. ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนกับ อบต. สามารถคิดรูปแบบเฉพาะเองได้ เช่นเดียวกับพื้นที่เขตพิเศษอื่นๆ อย่างพัทยา โดยอาจใช้การบริหารกองทุนในรูปแบบคณะกรรมการพัฒนาชุมชน กทม.ได้ ซึ่งที่ผ่านมาศูนย์ประสานงานภาคประชาชน กทม. เคยได้นำร่องจัดตั้งกองทุนฯ เขตละ 1 ชุมชน ประมาณ 10 แห่ง พบว่าประชาชนต่างให้ความสนใจและเข้าร่วม ซึ่ง กทม.ควรเดินหน้าในเรื่องนี้ เพื่อให้คน กทม.ลุกขึ้นมาดูแลสุขภาพและส่งเสริมป้องกันโรคด้วยตนเอง
นิมิตร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาการเข้าถึงการรักษาของคนไร้บ้าน ซึ่งต้องบอกว่า กทม.มีคนไร้บ้านอยู่เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่คนเหล่านี้มักไม่มีเอกสารหลักฐานบุคคล ทั้งบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน จึงมีปัญหาการเข้ารับการรักษาเวลาเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บฉุกเฉิน ดังนั้นเพื่อแก้ปัญหาระหว่างค้นหาเอกสารหลักฐานบุคคลเพื่อให้คนเหล่านี้ได้รับการรักษา ควรมีจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือเฉพาะหน้า หรือสถานพยาบาลเพื่อดูแลคนเหล่านี้ และเมื่อทราบตัวตนจึงโอนถ่ายคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลตามสิทธิ์ โดยเรื่องนี้เป็นการนำเสนอโดยเครือข่ายสลัม 4 ภาคที่เห็นปัญหาการปฏิเสธและต้องการให้มีระบบเพื่อช่วยเหลือ
หลังมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า วันนี้ดำเนินเข้าสู่ปีที่ 14 แล้ว แต่คน กทม.ยังเป็นประชาชนชั้น 2 ของประเทศ ในการรับสิทธิการรักษาพยาบาลอย่างทั่วถึง กทม.ในฐานะหน่วยงานท้องถิ่นจึงต้องมีหน้าที่อุดช่องว่างการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น เพื่อให้คน กทม.ได้รับการดูแลจากระบบเท่าเทียมกับคนต่างจังหวัด
- 47 views