“คตร.กำลังติดตามว่า สปสช. ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งการหรือไม่ แต่ถ้า สปสช.มีประเด็นใดขัดข้องจากการห้ามก็จะเสนอกลับมาที่ คตร.ให้พิจารณากลับมา เช่น กรณีจัดหายา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะหากไม่ดำเนินการและให้สถานบริการจัดหาเองก็จะยากลำบากและซื้อเป็นล็อตเล็กๆ ก็จะได้ราคาแพง คตร.ก็มีการพิจารณาอนุมัติให้ในการจัดหายาล็อตใหญ่ๆ และได้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว”
พล.อ.ชาตอุดม ดิตตะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ FM 97.5 เมกะเฮิรตซ์ ถึงการตรวจสอบ สปสช.หลังจากที่ คตร. ได้มีหนังสือห้ามการซื้อยาของ สปสช.ก่อนหน้านี้
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นองค์กรของรัฐที่มิใช่หน่วยราชการ ตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ภายใต้กำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) โดย สปสช.ทำหน้าที่เป็นสำนักงานเลขานุการของบอร์ด มีภารกิจหลักในการบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน โดยมีคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุขหรือบอร์ดคุณภาพ กำกับดูแลอีกชั้นหนึ่ง
ที่บอกว่า “บริหารให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด” ก็เพราะว่าเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพทั้งหมด ได้มาจากภาษีอากรของประชาชนทั้งประเทศ พิจารณาโดยสำนักงบประมาณ และอนุมัติโดย ครม. พูดง่ายๆ คือ หลวงทำหน้าที่จ่าย “เบี้ยประกันสุขภาพ” แทนประชาชน โดยนำเบี้ยประกันทั้งหมดส่งให้กับ สปสช.เพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาลแทนประชาชนเมื่อไปเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
เบี้ยประกันสุขภาพในปีแรก รัฐบาลจัดสรรให้เพียง 1,200 บาทต่อคนภายใต้สิทธิประโยชน์ที่ครอบคลุมเกือบทุกประเภท ตั้งแต่แรกเกิดจนแก่เฒ่า จนรัฐบาลในขณะนั้นออกสโลแกนให้จำง่ายๆ ว่า “30 บาทรักษาทุกโรค” แต่ในข้อเท็จจริง ระบบหลักประกันสุขภาพครอบคลุมการรักษาที่จำเป็นเท่านั้น การรักษาที่เกินความจำเป็น เช่น การผ่าตัดเสริมสวย การจัดฟัน หรือแม้แต่การนอนพักรักษาตัวในห้องพิเศษ ฯลฯ ต้องจ่ายเงินเอง
ต่อมารัฐบาลมีการเพิ่มเบี้ยประกันให้ จนปัจจุบันอยู่ที่ 3,000 บาทต่อคน แต่ด้วยจำนวนสมาชิกที่มีมากถึงกว่า 48 ล้านคน จึงทำให้เม็ดเงินรวมสูงถึง 1.4 แสนล้านบาท แต่กระนั้นเอง ก็ยังต้องกระเบียดกระเสียร ใช้จ่ายอย่างประหยัด จนถูกร้องเรียนจากโรงพยาบาลว่าขาดทุน และถูกแซวในสมัยหนึ่งจากผู้มีอันจะกินที่นิยมไปซื้อบริการจากเอกชนว่า “30 บาท ตายทุกโรค”
ประเด็นที่แซวกันมากที่สุดประเด็นหนึ่งคือคุณภาพ “ยา” ในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยอ้างว่า ไม่ว่าจะเป็นโรคอะไร รพ. ก็จ่ายแต่ยาพารา ซึ่งข้อเท็จจริงแพทย์ย่อมจ่ายยาตามอาการที่ปรากฏเป็นสำคัญ แต่อาการปวดเป็นอาการสามัญที่พบได้บ่อย จึงเป็นยาสามัญที่ต้องมีในใบสั่งยาแทบทุกใบ และเนื่องจากงบประมาณในระบบหลักประกันสุขภาพมีจำกัด ยาที่ปรากฏในใบสั่งยาจึงมีเฉพาะยาที่จำเป็นต้องใช้เท่านั้น
เป็นที่ทราบกันว่า “ยา” เป็นต้นทุนที่สำคัญในระบบสุขภาพ และยาจำนวนมากต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น ยารักษาโรคมะเร็ง ยาแก้พิษ ยาต้านไว้รัสเอดส์ ฯลฯ แทนที่จะปล่อยให้เป็นภาระของ รพ.ในการจัดหายา สปสช.จึงได้สั่งซื้อยาผ่านองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ซึ่งทำหน้าที่เป็นร้ายขายยาของรัฐในการจัดหาให้ ทำให้ได้ยาที่มีคุณภาพและได้ราคาที่ต่ำกว่าท้องตลาด เพราะการซื้อยาเป็นจำนวนมากย่อมได้ราคาถูกกว่าการซื้อทีละเล็กละน้อย แต่ติดปัญหาตรงที่กฎหมายของ สปสช. ไม่ได้เขียนไว้ชัดว่าสามารถจ่ายเงินให้แก่หน่วยอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการได้หรือไม่
สปสช. ซื้อยาจาก อภ. ในปริมาณมากติดต่อกันมาหลายปี โดยซื้อเฉพาะยาที่มีราคาแพง เช่น ยากำพร้า ยาต้านพิษ ยาที่ติดสิทธิบัตร ยาต้านไวรัส HIV ฯลฯ เท่านั้น ซึ่งทำให้ลดการใช้งบประมาณลงได้นับหมื่นล้านบาท โดยที่ยังคงได้รับยาที่มีคุณภาพและมาตรฐานระดับสากล เพราะเมื่อได้รับงบประมาณมาจำกัด ก็ต้องบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพสูงสุดตามวัตถุประสงค์ของกองทุน
เรื่องก็มีด้วยประการฉะนี้
ผู้เขียน : ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ
เผยแพร่ครั้งแรก : นสพ.ASTVผู้จัดการรายวัน วันที่ 20 ตุลาคม 2558
- 18 views