สำหรับประเทศไทยแล้วปัญหาการกระจายแพทย์ไปยังพื้นที่ต่างๆ ยังทำไม่ดีนัก แพทย์ส่วนมากกระจุกตัวอยู่ตามเมืองใหญ่ ส่วนในพื้นที่ห่างไกลความเจริญจะขาดทั้งแพทย์และเครื่องมือในการรักษา โดยเฉพาะปัญหาการขาดแคลนแพทย์และบุคลากรยังคงเป็นปัญหาหลักที่รอการแก้ไขอยู่
นพ.นิพนธ์ อุปมานรเศรษฐ์
นพ.นิพนธ์ อุปมานรเศรษฐ์ ผู้อำนวยการศูนย์การแพทยศาสตรการศึกษาชั้นคลินิก รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนของแพทย์ต่อจำนวนประชากรของไทยยังอยู่ที่ 1:1,900คน หากเทียบกับประเทศมาเลเซียแล้ว มีสัดส่วน 1:1,200 คน ประเทศไทยจึงจำเป็นต้องผลิตแพทย์เพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุผลดังกล่าว รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวีฯ จึงได้เปิดศูนย์การแพทยศาสตร์ชั้นคลินิกขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 จากการประชุมเมื่อ วันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2552 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี อุปนายิกาสภากาชาดไทยทรงเป็นองค์ประธานการประชุม ได้มีมติอนุมัติโครงการร่วมผลิตแพทย์ชั้นคลินิกระหว่าง รพ.สมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา กับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยมีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นสถาบันพี่เลี้ยง
ในปี 2556 ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิกมีนิสิตแพทย์มาศึกษาในชั้นคลินิกเป็นจำนวน 4 รุ่น และเป็นปีที่นิสิตแพทย์รุ่นที่ 1 จบการศึกษาเป็นปีแรก
"เราคาดหวังว่าในปี 2556-2560 เราจะสามารถผลิตแพทย์ได้ และมีสัดส่วนของแพทย์ต่อประชากรเป็น 1:1,150 คน"
นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยประสบปัญหาการกระจายตัวของแพทย์ และอีกปัญหาหนึ่งที่พบ คือ แพทย์ทั่วไปหรือหมอครอบครัว หันไปเรียนเป็นแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น หรืออาจกล่าวได้อีกนัยยะหนึ่งคือ แพทย์ส่วนมากมีค่านิยมที่จะเรียนแพทย์เฉพาะทางมากขึ้น เนื่องจากแพทย์เฉพาะทางมีรายได้ดีและงานไม่หนักเท่าแพทย์ทั่วไป จากการทำงานพบว่า แพทย์ที่ใช้ทุนแล้วประมาณ 70% จะศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว แพทย์ทั่วไปจะต้องตรวจรักษาบุคคลในครอบครัวของผู้ป่วยก่อนที่จะมีการส่งต่อให้กับแพทย์เฉพาะทาง การเข้าถึงแพทย์เฉพาะทางจะต้องมีการส่งตัวจากแพทย์ทั่วไปก่อน แต่ประเทศไทยผู้ป่วยสามารถเลือกที่จะเข้ารับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางได้อย่างง่าย โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการตรวจจากแพทย์ทั่วไปก่อน
"ในความเห็นส่วนตัว ณ วันนี้ อยากให้แพทย์หันมาเปิดคลินิกกัน ซึ่งคลินิกที่เปิดขึ้น เปรียบเสมือนเป็นหน่วยคัดกรองผู้ป่วยเบื้องต้น แต่รัฐจะต้องเข้ามาดูแลเรื่องของยา และอื่นๆ เพื่อเอื้อต่อการใช้สิทธิของประชาชน ซึ่งแพทย์ที่เปิดคลินิกนี้จะเป็นประตูด่านแรกที่ทำหน้าที่เหมือนหมอครอบครัว ที่จะทำการรักษา และวินิจฉัยผู้ป่วยก่อนจะไปถึงมือแพทย์เฉพาะทาง ซึ่งจะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล และอำนวยความสะดวกแก่ผู้ป่วย ไม่ต้องเสียเวลาเป็นวันๆ เพื่อรอการตรวจจากแพทย์ เช่น คลินิกนั้นๆ อาจคิดบริการค่าแพทย์ ส่วนค่ายาและการรักษาอื่นๆ สามารถเบิกจ่ายได้ตามสิทธิ อีกทั้งแพทย์ที่เปิดคลินิกส่วนมากจะรู้จักคนในพื้นที่เป็นอย่างดี มีความสัมพันธภาพที่ดีกับผู้ป่วยซึ่งหมอที่เปิดคลินิกที่เป็นคลินิกปฐมภูมินั้นจะต้องทำงานร่วมกับภาครัฐในลักษณะร่วมใจกันทำงาน รัฐบาลต้องหากลยุทธ์ชักจูงให้แพทย์เปิดคลินิกให้มากขึ้น"
นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาขาดแคลนแพทย์นั้น รัฐบาลจะต้องมุ่งไปในการสร้างบุคลากรคนรุ่นใหม่ แบบการแก้ไขปัญหา3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ด้วยการอัดเม็ดเงินหรืองบประมาณเข้าถึงพื้นที่ในการสร้างแพทย์ใหม่ขึ้นมา เพื่อเข้าไปทำงานในพื้นที่หรือชุมชน
หรืออีกวิธีหนึ่งที่เป็นแนวคิดของตนเองที่จะสร้างแพทย์ใหม่ขึ้นมา เนื่องจากระบบการศึกษาทั่วไปยังไม่สามารถผลิตแพทย์ได้เพียงพอต่อจำนวนสัดส่วนของประชากร คือ การรับผู้ที่จบการศึกษาปริญญาตรีในสาขา สายวิทย์ หรือสายสุขภาพ สาธารณสุข ซึ่งในกลุ่มนี้จะต้องมีประสบการณ์ทำงานในโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัย รพ.สต.มาระยะหนึ่ง ให้มาเป็นนักเรียนแพทย์ 6 ปีและให้เพิ่มวิชาแพทย์ครอบครัวอีก 3 ปี รวมเวลาในการเรียนเพื่อเป็นแพทย์ทั้งหมด 9 ปี
ส่วนการรับผู้ที่เพิ่งจบปริญญาตรีใหม่ จะมีการแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มที่ได้เกียรตินิยม กลุ่มนี้จะต้องมีการให้ทำงานในพื้นก่อนเพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติ ส่วนอีกกลุ่มจะเป็นผู้ที่สอบเข้ามาเอง ซึ่งจะเป็นการสอบรวมกับนิสิตแพทย์ทั่วไป ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรปปริญญาโท ด้านสาธารณสุขศาสตร์ สำหรับผู้ที่ต้องการจะศึกษาต่อทางด้านแพทยศาสตร์ ในขั้นตอนนี้อยู่ในระหว่างการคุยกันอยู่ และเมื่อจบการศึกษาจะให้มีการใช้ทุน 3 ปี
นพ.นิพนธ์ กล่าวว่า โครงการนี้เราจะเรียกว่า โครงการ new tract คาดว่าจะเปิดโครงการได้ในปี 2561 ครอบคุลมพื้นที่เขตภาคตะวันออก
"แพทย์รุ่นใหม่ นอกจากจะทำหน้าที่ในการรักษาแล้ว ยังจะต้องหันมาทำงานในเชิงรุกมากขึ้น ในวิชาชีพแพทย์นั้นเป็นศาสตร์แห่งการบูรณาการ"
ในขณะที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้ดำเนินการเป็นรูปธรรมนั้น กระทรวงสาธารณสุขจะต้องกลับมาทบทวนระบบบริการทางการแพทย์ใหม่ การสื่อสารกับผู้ป่วยเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการสื่อสารที่ชัดเจน การให้ความรู้ จะเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้แพทย์ กับผู้ป่วยมีสัมพันธภาพที่ดี อีกทั้งกระทรวงสาธารณสุขนอกจากเป็นผู้กำหนดนโยบายหลักที่ต้องเอื้อหรื สอดคล้องกับบริบทของแต่ละพื้นที่ด้วย ซึ่งที่ผ่านมาประเทศไทยมักจะดูที่ภาพรวม ส่งผลให้ผลที่ได้มีความแตกต่างกัน อีกทั้งจะต้องมีการดูแลแพทย์ที่จบใหม่ เช่น การเพิ่มค่าตอบแทนในวิชาชีพให้สูงกว่าแพทย์เฉพาะทาง เพื่อป้องกันปัญหาสมองไหล และการเรียนต่อเฉพาะทางมากขึ้น
ทั้งนี้ หากปัญหาที่เกิดขึ้นได้รับการแก้ไขให้ตรงจุดแล้ว เมื่อนั้นสัดส่วนของแพทย์เฉพาะทางกับหมอครอบครัวจะมีสัดสัดส่วนที่สมดุลกัน ส่วนแพทย์รุ่นเก่าบางท่านที่มีความเคยชินกับการักษาเพียงอย่างเดียวก็ให้ทำหน้าที่รักษาผู้ป่วยต่อไป ส่วนแพทย์รุ่นใหม่จะต้องเน้นไปที่การทำงานเชิงรุกให้มากขึ้น
นพ.นิพนธ์ มองว่า ในอนาคต แพทย์จะต้องมีความรู้ ทักษะความชำนาญในด้านต่างๆ มากขึ้น เพื่อให้ทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การผลิตแพทย์อาจต้องแยกออกมาเป็นกลุ่มๆ ซึ่งคนที่เรียนแพทย์จะมีการแบ่งแยกที่ชัดเจนว่า แพทย์คนนี้จะไปเป็นอาจารย์ หรือแพทย์รักษาผู้ป่วย หรือจะเป็นนักวิจัย แต่ในปัจจุบันแพทยสภายังไม่ให้มีการแบ่งเป็นแพทย์เฉพาะกลุ่มแบบที่กล่าวมาข้างต้น
- 174 views