ประธาน คตร.เผยอนุญาตให้ สปสช.จัดซื้อยาได้ ให้เหตุผล “หากไม่ดำเนินการและให้สถานบริการจัดหาเองก็จะยากลำบากและซื้อเป็นล็อตเล็กๆ ก็จะได้ราคาแพง คตร.ก็มีการพิจารณาอนุมัติให้ในการจัดหายาล็อตใหญ่ๆ” ส่วนจะพักงานเลขาธิการ สปสช.นานเท่าไหร่ ยังตอบไม่ได้ ขณะที่การตรวจสอบ สสส.นายกฯ ให้ดำเนินการใน 3 เดือน แจงสิ่งที่ยังไม่เห็นคือการประเมินผล ยังตอบไม่ได้จะพักงาน ผจก.สสส.หรือไม่
เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจรายงานว่า พล.อ.ชาตอุดม ติตถะสิริ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางสถานีวิทยุเอฟเอ็ม 97.0 เมกะเฮิร์ท ถึงการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)ว่า ในส่วนของสปสช.นั้นได้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.แล้วส่วนหนึ่งตามที่ได้สั่งการไว้
แต่การตรวจสอบก็ยังดำเนินการต่อไป และ คตร.กำลังติดตามว่า สปสช.ได้ดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามที่พลเอกประยุทธ์ สั่งการหรือไม่ แต่ถ้า สปสช.มีประเด็นใดขัดข้องจากการห้ามก็จะเสนอกลับมาที่ คตร.ให้พิจารณากลับมา เช่น กรณีจัดหายา อุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะหากไม่ดำเนินการและให้สถานบริการจัดหาเองก็จะยากลำบากและซื้อเป็นล็อตเล็กๆ ก็จะได้ราคาแพง คตร.ก็มีการพิจารณาอนุมัติให้ในการจัดหายาล็อตใหญ่ๆ และได้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ส่วนกรณีการพักงาน นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช. จะพักนานเท่าไรนั้น เป็นอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวของหัวหน้า คสช. ซึ่งตนชี้แจงแทนไม่ได้
ส่วนการตรวจสอบ สสส.นั้น พล.อ.ชาตอุดม กล่าวว่า ก็ได้รายงานต่อ พล.อ.ประยุทธ์ไปแล้วเช่นกัน ส่วนจะพักงาน ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุน สสส.หรือไม่ ก็ตอบไม่ได้เช่นกัน แต่ที่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งการคือให้กระทรวงสาธารณสุขไปดูว่าวัตถุประสงค์ว่าตรงตามที่วางไว้หรือไม่ และให้กระทรวงยุติธรรมรับผลการตรจสอบของ คตร.ที่พบว่าบางโครงการไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งกระทรวงยุติธรรมจะรับไปดำเนินการต่อ ซึ่งทราบมาว่า พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะเชิญส่วนที่เกี่ยวข้องประชุมในสัปดาห์หน้า อาทิ ตัวแทน คตร. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) โดยจะดูว่ามีช่องโหว่ให้เงินรั่วไหลหรือเอื้อต่อการทุจริตหรือไม่ ถ้าพบว่ามีใครที่กระทำมิชอบ ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรมจะนำเรียนนายกรัฐมนตรีและกลุ่มกฎหมายของ คสช. เพื่อนำเรียนหัวหน้า คสช.อีกครั้ง แต่ถ้าไม่มีใครกระทำผิดก็คงไม่มีการสั่งให้ใครพักงาน แต่หัวหน้า คสช.สั่งการให้มีการตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน เพื่อดูว่าโครงการอะไรที่ไม่เรียบร้อยหรือโครงการใดที่ควรจะเดินต่อ
“การตรวจสอบ สสส.ในชั้นต้นของ สตง.ที่นำเรียนพบว่า หลักฐานเอกสารบางอย่างที่จะต้องมี อย่างเช่นการรับเงิน ใบเสร็จรับเงินอะไรทั้งหลาย เขาไม่สามารถเอามาให้เราตรวจสอบได้ ในชั้นต้นที่นำเรียนหัวหน้า คสช.เรานำเรียนไปอย่างนั้น แต่ผมเรียนว่าการดำเนินโครงการบางโครงการอาจจะไม่ตรงวัตถุประสงค์ เราตรวจในหลายมิติไม่ว่าจะในเรื่องของแผน การบริหารโครงการ การตรวจสอบหลักฐานทางด้านบัญชี ซึ่ง สตง.ก็ตรวจสอบหลายมิติเช่นกัน เราไม่ได้ตรวจสอบเฉพาะในเรื่องของบัญชีอย่างเดียว แต่เราตรวจสอบในเรื่องแผนการบริหาร และสิ่งสำคัญที่เราไม่เห็นคือเขาจะต้องกำหนดการประเมินผลหรือการวัดผลหรือตัวชี้วัดแต่ละโครงการ บางโครงการต่อเนื่องมามากกว่า 2-3 ปี ถ้าถามว่าทำได้ผลแล้ว น่าจะมีตัวชี้วัดหรือบางส่วนน่าจะมีการลดลง หรือถ้าได้ผลแม้จะปิดโครงการและถ้าจะดำเนินการต่อเนื่องเราก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่สิ่งที่เราไม่เห็นคือการประเมินผลที่แสดงผลสัมฤทธิ์อย่างชัดเจน” พล.อ.ชาตอุดม กล่าว
ประธาน คตร.กล่าวอีกว่า ช่วงเวลา 3 เดือน ที่มีการตรวจสอบ เราได้ให้ สสส.ไปดูเองว่าถ้าตรงไหนวงเงินไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นไปตามวัตถุประสงค์ เป็นประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงก็ให้ดำเนินการ แต่ก็ต้องรายงานให้ คตร.ทราบด้วย แต่ถ้าโครงการใดวงเงินเกิน 5 ล้านบาท ก็ส่งให้ คตร.ตรวจสอบ ถ้าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ก็ดำเนินการได้ ดังนั้น คตร.ไม่ได้สั่งให้โครงการทุกอย่างหยุดดำเนินการ
“ตอนนี้เราต้องใช้ดุลพินิจกันว่าถ้ามันเป็นไปตามวัตถุประสงค์อย่างตรงไปตรงมาอย่างแท้จริงท่านทำไปได้เลยเราไม่ได้หยุด แต่ถ้าอะไรที่อาจจะดุลพินิจมองได้สองลักษณะก้ำกึ้งยังไม่ชัดเจนก็ควรจะหยุด ไว้ก่อน”พล.อ.ชาตอุดม กล่าว
เมื่อถามว่านายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ประสานกับ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส ในการนำพลังภาคประชาสังคมขับเคลื่อนนโยบายประชารัฐ แต่อีกด้านองค์กรในเครือข่ายของ นพ.ประเวศถูก คตร.ตรวจสอบจะนำไปสู่อะไร ประธาน คตร. กล่าวว่า นโยบายหรือแนวทางของหัวหน้า คสช. ต้องการทำให้เรื่องของการใช้จ่ายเงินโปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นแนวทางของทุกประเทศในสังคมโลกว่าการใช้จ่ายเงินจะต้องโปร่งใส คิดว่าเป็นแนวทางที่จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในเรื่องนี้ ดังนั้นในเมื่อผู้นำให้ความสำคัญในเรื่องนี้ก็เป็นเรื่องดีที่ทุกส่วนทุกฝ่ายน่าจะให้ความร่วมมือกัน ดังนั้นภาคประชาสังคมถ้าคิดว่านี่เป็นเรื่องที่ดี ไม่ได้มีวัตุประสงค์ที่จะกลั่นแกล้งใคร ทำให้สังคมบ้านเราอาจจะเดินซ้ายเดินขวาบ้างให้อยู่ตรงกรอบ ตรงไปตรงมา ใครถามอะไรประชาชนสงสัยอะไรแล้วตอบได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีต่อประเทศชาติต่อไป
ที่มา : www.bangkokbiznews.com
- 3 views