กระทรวงสาธารณสุข เตือนกลุ่มเด็กโต ผู้ใหญ่ ผู้มีโรคประจำตัว ระวังโรคไข้เลือดออกช่วงฤดูฝน หากมีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ซึม รีบไปพบแพทย์ ระวังยาแก้ปวดลดไข้อย่างแรงที่อาจระคายเคืองจนทำให้มีเลือดออกในกระเพาะอาหาร เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต วิธีป้องกันโรคที่ดีที่สุด คือระวังอย่าให้มียุงและระวังอย่าให้ยุงกัด
นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกยังเป็นโรคที่ต้องระวังต่อเนื่องจนถึงช่วงปลายฝนต้นหนาว โรคนี้พบได้กับประชาชนทุกเพศทุกวัย ไม่เฉพาะในเด็ก ข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยา ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-28 กันยายน 2558 พบผู้ป่วยทั่วประเทศ 80,951 ราย เสียชีวิต 82 ราย กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ 15-24 ปี ร้อยละ 28 รองลงมาคืออายุ 10-14 ปี และอายุ 25-34 ปี ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นนักเรียน ร้อยละ 45 จังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรกคือ ระยอง เพชรบุรี ราชบุรี ตราด และอุทัยธานี
นพ.โสภณ กล่าวว่า กลุ่มเสี่ยงสำคัญที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ คือ ผู้ที่มีน้ำหนักมาก ผู้ที่มีโรคประจำตัว เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด หากป่วยจะทำให้การรักษายุ่งยากมากขึ้น เพราะต้องรักษาอาการที่เกิดจากโรคไข้เลือดออกและโรคประจำตัวด้วย ดังนั้น หากมีไข้สูงลอย ปวดศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน ซึม ให้สงสัยว่าป่วยโรคไข้เลือดออกต้องรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาอย่าซื้อยากินเอง โดยเฉพาะยาแก้ปวดลดไข้อย่างแรง เช่น ยาไอบูโพรเฟน ซึ่งระคายเคืองกระเพาะอาหาร เสี่ยงเลือดออกในกระเพาะอาหาร อันตรายถึงเสียชีวิต
สำหรับวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุด คือ1.ระวังอย่าให้มียุง เริ่มต้นที่บ้านของตนเอง โดยทำบ้านไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ปิดภาชนะใส่น้ำ เปลี่ยนน้ำในแจกัน จานรองกระถางต้นไม้ ปล่อยปลากินลูกน้ำในอ่างบัว ทำเป็นประจำทุกสัปดาห์ เป็นวิธีที่ดีและยั่งยืนที่สุด เพราะยุงลายใช้เวลาวางไข่เป็นลูกน้ำแล้วเป็นยุง ใช้เวลาเพียง 5-7 วันเท่านั้น 2.ระวังอย่าให้ยุงกัด โดยเฉพาะยุงลายชอบกัดเวลากลางวัน และเป็นยุงที่มักอาศัยอยู่ในบ้าน โดยเฉพาะผู้ป่วยต้องนอนในมุ้งหรือทายากันยุง ทั้งขณะอยู่พักฟื้นที่บ้านหรือรักษาตัวที่โรงพยาบาล ป้องกันไม่ให้ยุงกัดแล้วไปแพร่เชื้อให้คนอื่น หากมีข้อสงสัยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า กรมควบคุมโรคได้สำรวจทัศนคติความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับโรคและภัยสุขภาพ ดีดีซีโพล (DDC Poll) เรื่อง “โรคไข้เลือดออก” ในกลุ่มอายุ 15 ปีขึ้นไป ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค 24 จังหวัด พบว่า ประชาชนร้อยละ 70.8 รับรู้ว่าลูกน้ำยุงลายเป็นพาหะไข้เลือดออกร้อยละ 73.6 รู้ว่าผู้ใหญ่สามารถป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ รวมถึงหากมีอาการไข้สูงลอย ซึม เบื่ออาหาร มีจุดเลือดออกตามแขนขา ร้อยละ 47.7 ตอบว่าควรรีบไปพบแพทย์ มีเพียงร้อยละ 3.3 ที่ตอบว่าปล่อยให้หายเอง ส่วนพฤติกรรมการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก เช่น การปิดฝาโอ่งหรือถังน้ำเพื่อป้องกันยุงลงไปวางไข่ มีเพียงร้อยละ 36.7 การใส่ทรายกำจัดลูกน้ำมีเพียงร้อยละ 22.9 การเปลี่ยนน้ำในแจกันร้อยละ 26.2 ที่สำคัญประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 36.1 ยังมีความคิดเห็นว่าเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรเป็นกำลังหลักในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
- 10 views