ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข บุก ก.พ. ทวงถามแก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนในกลุ่มข้าราชการ สังกัด ก.พ. หลังยื่นร้องทุกข์ถึงนายกฯ ตั้งแต่ 8 ก.ค. ระบุทำเพื่อประโยชน์และพิทักษ์สิทธิให้แก่ข้าราชการในสังกัด ก.พ.ทั้งประเทศ ไม่ใช่แค่สังกัด สธ.แจงเหลื่อมล้ำทั้งในสังกัด ก.พ.เดียวกันหลังเข้าแท่งบัญชี และเหลื่อมล้ำระหว่างข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ และท้องถิ่นด้วย ทั้งที่อยู่ในระดับเดียวกัน ชี้รองนายกฯ วิษณุรับทราบปัญหาแล้ว ประกาศหาก 30 วัน ก.พ.ยังไม่คืบหน้าเตรียมเข้าพบนายกฯ ให้สำนักนายกฯ รับเป็นเจ้าภาพแก้ปัญหาแทน
วันที่ 1 ตุลาคม 2558 นายประดิษฐ์ ขัติยเนตร ประธานชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ จึงตระกูล ที่ปรึกษาชมรมฯ และนายสมบูรณ์ ศศิจันทรา รองประธานฝ่ายวิชาการเข้าพบสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพื่อติดตามทวงถามความคืบหน้าเรื่องร้องทุกข์กรณีปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการพลเรือน
นายประดิษฐ์ กล่าวว่า การร้องทุกข์ครั้งนี้ เกิดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำเพดานเงินเดือน ที่มีผลมาจากการใช้ พรบ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ที่ทำให้ข้าราชการซึ่งเคยดำรงตำแหน่งระดับเดียวกันในระดับ 7 หลังเข้าแท่งบัญชีเงินเดือนใหม่ เกิดความเหลื่อมล้ำ กล่าวคือผู้ที่เข้าแท่งทั่วไป ระดับอาวุโส มีเพดานเงินเดือนที่สูงกว่าผู้ที่เข้าแท่งวิชาการ ระดับชำนาญการที่ประมาณ 12,000 บาท อีกทั้งข้าราชการ ก.พ. ที่อยู่ในระดับเดียวกัน ก็มีอัตราเพดานเงินเดือนที่ต่ำกว่าข้าราชการครู ข้าราชการท้องถิ่น ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจที่เทียบระดับชั้นยศเดียวกัน
นายประดาฐ์ กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ สมาคมวิชาชีพสาธารณสุข โดยนายไพศาล บางชวด และชมรมนักวิชาการสาธารณสุข ได้ยื่นร้องทุกข์ไว้เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 ต่อนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการ ก.พ. และต่อมาสำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ได้ส่งเรื่องร้องทุกข์ปัญหาความเหลื่อมล้ำดังกล่าวให้ ก.พ.พิจารณาดำเนินการแก้ไขปัญหาให้แก่ข้าราชพลเรือนตามอำนาจหน้าที่แล้ว ได้ส่งมอบเอกสารหลักฐานปัญหาความเหลื่อมล้ำประกอบการร้องทุกข์ ไว้ต่อ ก.พ. พิจารณาเพิ่มเติมด้วย
“ขณะนี้การร้องทุกข์ให้แก้ไขปัญหาเหลื่อมล้ำ ล่วงเลยมากว่า 60 วันแล้ว แต่ยังไม่ได้รับหนังสือตอบรับแจ้งผลการพิจารณาความคืบหน้า จาก ก.พ. แต่อย่างใด จึงได้ไปติดตามทวงถามเพื่อให้ ก.พ. เร่งพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว หากยังไม่มีความคืบหน้าใน 30 วัน จะไปเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้สำนักนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าภาพในการแก้ไขปัญหาให้เป็นผลสำเร็จต่อไป” นายประดิษฐ์ กล่าว
นายสมศักดิ์ กล่าวว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำนี้เกิดขึ้นแก่ข้าราชการพลเรือนทั้งประเทศ มิใช่เพียงแต่ข้าราชการสาธารณสุข เท่านั้น การร้องทุกข์ครั้งนี้ของชมรมฯ จึงทำเพื่อประโยชน์และพิทักษ์สิทธิที่ควรมีให้แก่ข้าราชการในสังกัด ก.พ.ทั้งประเทศ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีข้อมูลสนับสนุนที่เป็นหลักฐานสำคัญว่าเกิดปัญหาความเหลื่อมล้ำจริงคือรายงานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา พ.ร.บ.ข้าราชการพลเรือน พ.ร.บ.เงินเดือน เงินวิทยฐานะ และเงินประจำตำแหน่งข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2558 และวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2558 ซึ่งมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ ได้มีความเห็นไว้ในรายงานการประชุมชั้นลงมติรับหลักการ พ.ร.บ. 2 ฉบับดังกล่าว และคณะกรรมาธิการวิสามัญได้ตั้งข้อสังเกตไว้ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า เงินเดือนครูและบุคลากรทางการศึกษาสูงกว่าข้าราชการพลเรือนสามัญ สมควรที่จะมีการเยียวยา และควรมีการทบทวนอัตราเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูงของข้าราชการประเภทต่างๆ และเจ้าหน้าที่ของรัฐให้เกิดความเท่าเทียมเป็นธรรมโดยเร็ว
ซึ่งรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญ จะเป็นหลักฐานหนังสือสำคัญเพียงพอที่จะนำไปประกอบการฟ้องศาลปกครอง หากไม่ได้รับการแก้ไขปัญหา หรือได้รับการพิจารณาที่ไม่เป็นธรรมจาก ก.พ. ต่อไป
จากการไปติดตามความคืบหน้าจาก ก.พ.ครั้งนี้ ทราบว่าเรื่องร้องทุกข์ดังกล่าวอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักวิจัยและพัฒนาระบบงานบุคคล ก.พ. และได้พูดคุยสอบถามความคืบหน้าจาก นางสาวอลินี ธนะวัฒน์สัจจะเสรี ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มยุทธศาตร์ สำนักวิจัยฯ ก.พ. ทำให้ทราบว่า ก.พ. กำลังมีการพิจารณาโครงการปรับปรุงระบบค่าตอบแทน แต่ ก.พ. ไม่อาจให้คำตอบได้ว่าจะเป็นผลแล้วเสร็จเมื่อใด เพราะเป็นปัญหาใหญ่เชิงระบบ และมีปัจจัยข้อจำกัดหลายประการ อีกทั้ง ก.พ. ไม่ได้แต่งตั้งคณะกรรมการเป็นการเฉพาะสำหรับเรื่องร้องทุกข์นี้ และยังไม่มีหนังสือตอบกลับให้ผู้ร้องทราบในครั้งนี้ด้วย
- 38 views