เตือนระวัง “ตรวจเลือดหยดเดียว วิเคราะห์สุขภาพ” หลังพบผู้ประกอบการหัวใส ตั้งกล้องจุลทรรศน์ ออกตรวจตามห้าง หวังหลอกขายบริการและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ราคาหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท แถมมีผู้ใส่เสื้อกาวน์สีขาวทำหน้าที่ตรวจและวิเคราะห์ผล ส่วนใหญ่เป็นธุรการ ชี้เป็นการแอบอ้างวิชาชีพเทคนิคการแพทย์ พร้อมเตือนน้องๆ เทคนิคการแพทย์อย่าตกเป็นเครื่องมือ
นายภาคภูมิ เดชหัสดิน นักเทคนิคการแพทย์ และอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์สภาเทคนิคการแพทย์ เปิดเผยถึงการตรวจเลือดสด หรือ Live Blood Analysis โดยการเจาะเลือดปลายนิ้ว 1 หยด นำไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ฉากมืด เพื่ออธิบายความผิดปกติเซลล์เม็ดเลือดที่มองเห็น เพื่อขายผลิตภัณฑ์เสริมสุขภาพควบคู่ ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นที่แพร่หลายและเป็นที่สนใจของประชาชนว่า ปกติการตรวจโรคต้องให้หมอเป็นผู้วินิจฉัย ซึ่งกรณีต้องเจาะเลือดเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรค ปกติจะส่งตัวอย่างเลือดไปยังห้องปฏิบัติการเทคนิคการแพทย์ (ห้องแลป) แต่ที่ผ่านมามีการนำวิธีการเจาะเลือดเพื่อประกอบการวินิจฉัยโรคไปประยุกต์ใช้เพื่อหวังผลทางการตลาด โดยเปิดบูธในห้างสรรพสินค้าเพื่อตรวจเลือดให้กับผู้ที่เดินผ่านไปมา ด้วยการนำกล้องจุลทรรศน์ไปตั้งเพื่อใช้ส่องตรวจ ซึ่งกล้องจุลทรรศน์นี้จะเชื่อมต่อกับจอภาพเพื่อให้ผู้รับการตรวจเห็นภาพไปพร้อมกัน นอกจากนี้จะมีผู้ใส่เสื้อกาวน์สีขาวคล้ายนักเทคนิคการแพทย์เป็นผู้ส่องตรวจเลือดและคอยอธิบายผลตรวจที่ปรากฎ
นายภาคภูมิ กล่าวว่า ขณะที่การตรวจเลือดนั้น ยังมีการใช้วิธีและเทคนิคเพื่อให้ผลตรวจเลือดดูแล้วเหมือนผู้รับการตรวจมีปัญหาสุขภาพ เริ่มจากหยดเลือด 1 หยดลงไปในกระจกใส่และปิดด้วยกระจกใสบาง จากนั้นจะนำไปส่องด้วยกล้องจุลทรรศ์ชนิด Dark field Microscope ที่ด้านหลังกล้องสีดำสนิท ซึ่งกล้องจุลทรรศน์แบบนี้ ปกติจะไม่ใช้ตรวจดูเลือดทั่วไป แต่จะใช้ส่องเฉพาะการตรวจดูเชื้อจุลินทรีย์ที่ย้อมสียากเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อให้ผลเลือดที่ออกมาดูน่ากลัวเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นการตรวจยังเน้นส่องบริเวณขอบกระจกเท่านั้น เนื่องจากบริเวณดังกล่าวใกล้กับอากาศทำให้เลือดเริ่มแห้ง และเมื่อส่องดูจะดูเลือกจะกระจุกตัวแข็งเป็นก้อน ดูคล้ายกับเลือดมีความเป็นกรดมาก ทั้งที่หากกล้องส่องบริเวณตรงกลางกระจกจะพบว่าเลือดมีการไหลตัวดี ไม่มีปัญหาอะไร นอกจากนี้ยังมีวิธีการหยดเลือดหนาๆ เพื่อให้เม็ดเลือดเบียดเกาะกลุ่มกัน ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้ดูเหมือนผู้รับการตรวจมีปัญหาสุขภาพ จำเป็นต้องรับการดูแลบำบัดหรือรักษา
ส่วนกรณีที่เห็นวัตถุวาวอยู่ในเลือดบนแผ่นกระจกด้วยนั้น ซึ่งมักถูกระบุว่าเป็นโลหะหนักปะปนในร่างกายนั้น กรณีนี้ชี้แจงว่า หากขั้นตอนการตรวจมีผงปนเปื้อนไม่สะอาดนิดเดียวก็ทำให้เกิดจุดที่เสมือนเป็นโลหะหนักได้
“หลังจากดูผลตรวจแล้ว ผู้รับการตรวจจะถูกแนะนำให้ต้องทำการล้างพิษหรือเข้าคอร์สเสริมสุขภาพ รวมถึงการฉีดเซลล์รักษา มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นถึงหลักแสนบาท รับการรักษาต่อที่คลินิก ทั้งที่ผู้รับการตรวจอาจไม่ได้เป็นอะไร แถมยังแนะนำให้ทำการล้างพิษหรือเข้าคอร์สสุขภาพหลายๆ ครั้ง” นายภาคภูมิ กล่าวและว่า นอกจากนี้ยังมีการนำมาประยุกต์ใช้กับอาหารเสริม โดยจะชวนให้ตรวจเลือดก่อนเช่นกัน และเมื่อพบว่าผลเลือดผิดปกติ เสี่ยงต่อภาวะโรคก็จะให้กินอาหารเสริม และให้นั่งพักประมาณ 15 นาที เพื่อเจาะเลือดใหม่ ด้วยการส่องกล้องตามวิธีปกติ ซึ่งผลเลือดจะไม่มีปัญหา ซึ่งจะบอกว่าเป็นเพราะอาหารเสริมที่กินเข้าไป พร้อมเชิญชวนให้ซื้อกลับบ้าน เท่าที่ทราบเครื่องกรองน้ำก็มีการจัดทำการตลาดในรูปแบบเดียวกัน
นายภาคภูมิ กล่าวว่า กลยุทธ์สำคัญของกระบวนการนี้คือการให้ผู้ตรวจและอธิบายผล แต่งชุดกาวน์สีขาวเช่นเดียวกับนักเทคนิคการแพทย์ แถมมีการนำเครื่องมือการตรวจไปตั้ง แต่เมื่อตรวจสอบดูพบว่า คนที่มาทำหน้าที่นี้เป็นเพียงแค่ธุรการหรือคนทั่วไปที่ผ่านการอบรมวิธีและเทคนิคการตรวจเพื่อทำให้ประชาชนหลงเชื่อ ไม่ได้เป็นนักเทคนิคการแพทย์จริงๆ และคนเหล่านี้เองก็ไม่รู้ว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะเมื่อค้นข้อมูล Live Blood Analysis ทางอินเตอร์เน็ต จะพบว่าเป็นส่วนใหญ่เป็นข้อมูลทางวิชาการที่ดูน่าเชื่อถือ แต่ข้อเท็จจริงคือยังไม่มีการวิจัยหรือรับรองผล เรียกว่าเป็น Pseudo Science จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้กังวลว่า ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นวิชาชีพนักเทคนิคการแพทย์ เพราะมีการแอบอ้างวิชาชีพไปใช้แล้ว แต่ยังอาจกระทบต่อประชาชนที่อาจพลาดโอกาสวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องจากแพทย์ จำเป็นต้องออกมาเตือนเพื่อให้ประชาชนระมัดระวังการตรวจเลือดแบบนี้ ซึ่งเริ่มเป็นที่แพร่กระจายมากขึ้น
นายภาคภูมิ กล่าวว่า ในส่วนผลกระทบต่อวิชาชีพนักเทคนิคการแพทย์ ได้ยื่นเรื่องต่อสภาเทคนิคการแพทย์แล้ว เพราะถือเป็นการบ่อนทำลายนักเทคนิคการแพทย์ โดยนำวิชาชีพนี้ไปหลอกลวงประชาชน อย่างไรก็ตามมีผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้บางส่วนได้เริ่มรับสมัครนักเทคนิคการแพทย์เพื่อออกตรวจเพื่อเลี่ยงปัญหาทำผิด พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ซึ่งตรงนี้ขอฝากเตือนไปยังน้องๆ นักเทคนิคการแพทย์ด้วย โดยเฉพาะผู้ที่จบใหม่เพราะอาจไม่รู้เท่าทัน ขอให้ระวังหากให้มีการออกตรวจเลือดนอกสถานที่และให้วิเคราะห์ผลเลือดโดยใช้เลือดเพียงหยดเดียว อย่าสมัครเข้าทำงาน เพราะอาจตกเป็นเครื่องมือเพื่อทำการตลาด ขณะเดียวกันในส่วนของประชาชนก็ขอให้ตั้งข้อสังเกต หากพบบริการการตรวจเลือดที่มีการติดตั้งจอภาพควบคู่ในการอธิบายตามห้างและที่สาธารณะต่างๆ ขอให้ทราบว่าอาจเป็นการหลอกลวงเพื่อให้ซื้อบริการหรือผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพได้ ซึ่งจะทำให้เสียเงินและเสียโอกาสในการวินิจฉัยและรักษาโรคได้
- 1889 views