กรมควบคุมโรค เผยผลสำรวจประชาชนกว่า 2 หมื่นคน พบพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพต่อการเกิดโรค มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สำรวจ ปี 2558 พบสูบบุหรี่ในปัจจุบัน 21.3% เพิ่มขึ้นจากสำรวจ ปี 2553 ซึ่งเท่ากับ 18.7% ส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา 36.2% เพิ่มขึ้นจากสำรวจฯ ปี 2553 เช่นกัน ซึ่งเท่ากับ 29.5%
วันนี้ (30 กันยายน 2558) ที่กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อม นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และ นพ.ภานุวัฒน์ ปานเกตุ ผู้อำนวยการสำนักโรคไม่ติดต่อ ร่วมแถลงข่าวผลการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ ปี 2558
นพ.โสภณ กล่าวว่า ในปีหนึ่งๆ ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตราว 430,600 คน ในจำนวนนี้ 70% หรือประมาณการ 314,000 คน เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อ, อีก 30% เสียชีวิตด้วยสาเหตุหลักๆคือโรคติดเชื้อต่างๆ และจากอุบัติเหตุจราจรมีสัดส่วนเกือบใกล้เคียงกัน นอกจากนี้ยังพบว่าการเพิ่มขึ้นของการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่ออย่างต่อเนื่องและเริ่มทวีความรุนแรงมากขึ้นเมื่อพบมีการป่วยที่มีอายุลดลง ขณะที่การมีพฤติกรรมเสี่ยงทางสุขภาพสะสมเพิ่มขึ้นเช่นกัน
กรมควบคุมโรค จึงได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมเสี่ยงโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ ปี 2558 ซึ่งเป็นการวัดสุขภาพระดับประชากร สำหรับเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังโรคไม่ติดต่อและการบาดเจ็บ ด้วยการติดตามการสถานการณ์และแนวโน้มของพฤติกรรมเสี่ยงและโรคไม่ติดต่อสำคัญที่พบมาก ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง หรือโรคเบาหวาน พฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การรับประทานผักและผลไม้ และการได้รับบริการตรวจและป้องกันโรคไม่ติดต่อในประชากรอายุ 15-79ปี จำนวนตัวอย่างทั้งหมด 22,502 คนใน 12 เขตสุขภาพ(ไม่รวม กทม.) ระหว่างกุมภาพันธ์ถึงกรกฎาคม 2558
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า จากผลการสำรวจดังกล่าว พบว่าประชาชนที่ทราบว่าตนเองเป็นโรคความดันโลหิตสูงมากที่สุด 15.3%ประมาณการประชากร 5,733,872 คน เพิ่มขึ้นจากการสำรวจฯ ปี 2553 คือ 9.1% ประมาณการประชากร 4,109,289 คน หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 1.6 ล้านคน ซึ่งกลุ่มอายุ 65 ปีขึ้นไปพบได้สูงถึง 45% ส่วนโรคเบาหวานพบมีผู้ทราบว่าตนป่วยเป็นโรคเบาหวาน เพิ่มขึ้น 2 เท่า จากการสำรวจฯ ปี 2553 ซึ่งเท่ากับ 4.2% และในปี 2558 เป็น 8.3% โดยพบว่ากลุ่มที่มีแนวโน้มการป่วยด้วยโรคเบาหวานหรือมีภาวะความดันโลหิตสูงคล้ายคลึงกัน พบมากในกลุ่มที่มีระดับการศึกษาประถมศึกษามากกว่ากลุ่มผู้มีการศึกษาที่สูงกว่า
จากการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขต่อมาตรการการตรวจสุขภาพประจำปีในกลุ่มประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป ทำให้สามารถเพิ่มความครอบคลุมการคัดกรองตรวจวัดความดันโลหิตสูงในรอบปีที่ผ่านมาได้ 71.4% ได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาระดับน้ำตาลผิดปกติได้ 56.5% เป็นผลให้ประชาชนได้รับรู้ ตระหนัก และดูแลสุขภาพของตนเองอย่างเหมาะสม โดยผู้มีภาวะความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน ได้รับการติดตามและการตรวจรักษาโดยแพทย์ พยาบาลหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ณ หน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่
นอกจากนี้ ยังพบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน โดยผลสำรวจพบ 30.5% มีภาวะน้ำหนักเกินที่ค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 25 กิโลกรัม/ตารางเมตรขึ้นไป และผู้ที่ถือว่าอ้วนลงพุงมีอยู่ 7.5% ซึ่งภาวะน้ำหนักเกินหรือ ภาวะอ้วนนี้ มีความสัมพันธ์และเกี่ยวข้องกับปัจจัยเสี่ยง เช่น ระดับไขมันในเลือดสูงหรือระดับน้ำตาลในเลือดสูง เป็นสาเหตุของการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง, โรคเบาหวาน นอกจากนี้ภาวะน้ำหนักตัวเกินยังเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการมีกิจกรรมทางกายด้วย
ด้าน นพ.อัษฎางค์ กล่าวว่า สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อหรือการมีพฤติกรรมเสี่ยงสุขภาพที่สะสมให้เกิดการป่วยในอนาคต มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทั้งการสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งการสำรวจฯ ปี 2558 พบว่า การสูบบุหรี่ในปัจจุบัน 21.3% เพิ่มขึ้นจากสำรวจฯ ปี 2553 ซึ่งเท่ากับ 18.7% ส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พบมีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ภายใน 1 ปีที่ผ่านมา 36.2% เพิ่มขึ้นจากสำรวจฯ ปี 2553 เช่นกัน ซึ่งเท่ากับ 29.5% ขณะที่การรับประทานผักและผลไม้ได้ไม่เพียงพอ ผลการสำรวจฯปี 2558 ลดลงเล็กน้อยจากการสำรวจฯ ปี 2553 ที่ 78.5% เป็น 75.7%
“ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งรัดการจัดบริการป้องกันควบคุมโรคไม่ติดต่อ ตั้งแต่การให้ความรู้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดความเสี่ยงลดโรคในประชากรทั่วไป การจัดบริการตรวจคัดกรองโรคหรือค้นหากลุ่มเสี่ยงโรคเพื่อให้การป้องกันโรค และค้นหากลุ่มผู้ป่วยเพื่อการดูแลรักษาที่ทันท่วงที ลดภาวะแทรกซ้อนอันตรายของโรคด้วยมาตรการเพิ่มคุณภาพระบบป้องกันควบคุมโรคด้วยแนวปฏิบัติทางคลินิกการจัดโปรแกรมดูแลผู้ป่วยและป้องกันภาวะแทรกซ้อนทางไต การป้องกันโรคหัวใจ และการจัดองค์กรรักษ์สุขภาพ ที่สำคัญประชาชนควรให้ความสนใจและดูแลสุขภาพตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ ถือเป็นการให้ต้นทุนชีวิตทางสุขภาพที่สูง เพราะสุขภาพที่ดีทำให้ชีวิตมีความสุข มีอายุยืนยาว ลดการป่วยด้วยโรคที่สามารถป้องกันได้ และลดภาระค่าใช้จ่ายและภาระทางสังคมจากการเจ็บป่วยด้วย” นพ.อัษฎางค์ กล่าว
- 32 views