กระทรวงสาธารณสุข เตรียมใช้กราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตเด็กแรกเกิด - 5 ปี ขององค์การอนามัยโลก ในเด็กไทย เริ่ม 1 ตุลาคม 2558 นี้ ตั้งเป้าส่งเสริมการเจริญเติบโตเด็กไทยให้มีน้ำหนักและส่วนสูงเทียบเท่ากับมาตรฐานสากล เชื่อหากเด็กได้รับอาหารตามหลักโภชนาการและอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี จะมีการเจริญเติบโตไม่ต่างกัน
เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต และดร.ริชาร์ด บราวน์ รักษาการผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ร่วมกันแถลงข่าว การใช้กราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิด - 5 ปี ขององค์การอนามัยโลกในเด็กไทย
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายที่จะยกระดับคุณภาพบริการและสุขภาพของประชาชน ให้มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ และทั่วถึง โดยตั้งเป้าให้ประชาชนไทยมีอายุยืนยาวและสุขภาพดี ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) รายงานว่า หากประชาชนมีภาวะโภชนาการดี จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจดีขึ้นและโภชนาการที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก ส่งผลต่อโครงสร้างร่างกาย ระดับเชาวน์ปัญญา ความสามารถในการเรียนรู้ สร้างภูมิต้านทานโรค ลดการเจ็บป่วย ลดอัตราการตายด้วยโรคติดเชื้อ ลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ลดค่ารักษาพยาบาล และเป็นการวางรากฐานของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี
นพ.ปิยะสกลกล่าวต่อว่า ในวันที่ 1 ตุลาคม 2558 จะนำกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตในเด็กแรกเกิด–5 ปีขององค์การอนามัยโลก ที่เป็นมาตรฐานสากลและใช้มาแล้ว 125 ประเทศทั่วโลก มาใช้กับเด็กไทย โดยมี 3 ดัชนีบ่งชี้ ได้แก่ น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ (weight for age) ส่วนสูงตามเกณฑ์อายุ (height for age) และน้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง (weight for height) เพื่อให้เด็กไทยทุกคนมีโอกาสเจริญเติบโตอย่างเต็มศักยภาพ มีประสิทธิภาพ รวมถึงส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ ทารก และเด็กได้รับอาหารอย่างเหมาะสมทั้งชนิดและปริมาณ รวมทั้งการเสริมสารอาหารสำคัญให้เพียงพอ ได้แก่ ไอโอดีน กรดโฟลิก เหล็ก ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี ตั้งเป้าหมายส่งเสริมการเจริญเติบโตเด็กไทยให้มีน้ำหนักและส่วนสูงอยู่ในเกณฑ์การเจริญเติบโตเทียบเท่ากับมาตรฐานสากลผ่านกลไกการขับเคลื่อนระบบสุขภาพระดับอำเภอ
นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า สำหรับกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลกที่นำมาใช้กับเด็กไทยแต่ละเพศนั้น จะมีกราฟการเจริญเติบโตทั้งหมด 4 แผ่น คือ 1.น้ำหนักตามเกณฑ์อายุ 2.ความยาวตามเกณฑ์อายุและส่วนสูงตามเกณฑ์อายุอยู่ในแผ่นเดียวกัน เนื่องจากเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี กับเด็กอายุ 2-5 ปี มีวิธีการวัดความสูงไม่เหมือนกัน นั่นคือ เด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ต้องวัดความสูงในท่านอน เรียกว่า วัดความยาว และเด็กอายุ 2-5 ปี ต้องวัดความสูงในท่ายืน 3.น้ำหนักตามเกณฑ์ความยาว และ4.น้ำหนักตามเกณฑ์ส่วนสูง ซึ่งแสดงระดับของการเจริญเติบโตดี การขาดอาหาร ภาวะอ้วน นอกจากนี้ ยังมีระดับที่แสดงถึงภาวะเสี่ยงต่อการเจริญเติบโตที่ไม่ดี เป็นการเตือนให้ระวังการเกิดปัญหาการขาดอาหารหรืออ้วน
นพ.พรเทพ กล่าวต่อว่า การที่ประเทศไทยนำกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตในเด็กแรกเกิด - 5 ปี ขององค์การอนามัยโลกมาปรับใช้ เนื่องจากการกำหนดคุณลักษณะของกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กที่ได้รับอาหารตามหลักโภชนาการและอยู่ภายใต้สภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี มีเชื้อชาติแตกต่างกันใน 5 ทวีป 6 ประเทศ ได้แก่ บราซิล กานา อินเดีย นอร์เวย์ โอมาน และสหรัฐอเมริกา และวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นการเก็บข้อมูลระยะยาวในเด็กคนเดิม มีความถี่ในการเก็บข้อมูลที่เพียงพอต่อการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงวัยทารก ทำให้ค่าน้ำหนักและส่วนสูงของเด็กในแต่ละประเทศมีค่าเฉลี่ยใกล้เคียงกัน แสดงให้เห็นว่า หากเด็กได้รับอาหารตามหลักโภชนาการและอยู่ในสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี จะมีการเจริญเติบโตไม่แตกต่างกัน
จากการเปรียบเทียบข้อมูลภาวะการเจริญเติบโตของเด็กแรกเกิด - 5 ปี ระหว่างเกณฑ์อ้างอิงของเด็กไทยกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก โดยใช้ข้อมูลการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 4 พ.ศ.2551-2552 พบว่า ภาวะเตี้ยเพิ่มจากร้อยละ 6.4 เป็นร้อยละ 10.5 และภาวะอ้วนจากร้อยละ 7 เพิ่มเป็นร้อยละ 8.7 ตามลำดับ
ขณะนี้กรมอนามัย ได้สนับสนุนกราฟการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลกให้กับสถานบริการของรัฐในภูมิภาค เพื่อไปติดแทนกราฟเดิมในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก สำหรับเด็กที่เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป จนกว่าจะบรรจุกราฟมาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลกในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็กที่พิมพ์ใหม่ในปี พ.ศ. 2559 นอกจากนั้น ยังสนับสนุนคู่มือการใช้มาตรฐานการเจริญเติบโตขององค์การอนามัยโลกในเด็กแรกเกิด-5 ปี ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย
- 136 views