อปสข.เขต 4 สระบุรีขับเคลื่อนงานสุขภาพตามนโยบาย รมว.สธ. 6 เรื่อง 1.ลดอัตราตายอุบัติเหตุจากรถ 2.ลดรอคิว หัวใจ มะเร็ง 3.ชะลอเวลาผู้ป่วยติดเตียง 4.แก้ปัญหาการนำเงิน อปท.มาใช้ดูแลสุขภาพประชาชน 5. เสริมสร้างไอคิวเด็ก ป้องกันเกิดโรคเอ๋อ และ 6.พัฒนาศักยภาพ อสม.
เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2558 ณ จ.ปทุมธานี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 4 สระบุรี ประชุมคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.) เขต 4 สระบุรี ครั้งที่ 8/2558 โดยมี นพ.ชูวิทย์ ลิขิตยิ่งวรา ประธาน อปสข.ทำหน้าที่ประธานการประชุม นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 ในฐานะที่ปรึกษา และคณะอนุกรรมการเข้าร่วมประชุม มี นพ.ชลอ ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี รองประธาน และนางพนิต มโนการ รองผู้อำนวยการ สปสช.เขต 4 สระบุรี อนุกรรมการและเลขานุการ ทำหน้าที่เลขานุการ การประชุม
นพ.ชูวิทย์ กล่าวว่า การประชุม อปสข.ครั้งที่ 8/2558 เป็นครั้งที่ 3 ของการประชุม อปสข.ชุดใหม่ โดยในการประชุมมีเรื่องสำคัญตามนโยบายรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร ซึ่งได้ให้นโยบายที่เน้นหนักการทำงานในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 4 ที่สำคัญ 6 เรื่อง จากการมาตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 4 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 ที่ รพ.สระบุรี ได้แก่
1.การลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจร ซึ่งประเทศไทยมีการเสียชีวิตจากสาเหตุนี้สูงเป็นอันดับ 3 ของโลก ประมาณ 23,000 คนต่อปี สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการบาดเจ็บ พิการ หลายแสนล้านบาทต่อปี โดยให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เน้นการทำงานเชิงรุกเพื่อการป้องกันให้มากขึ้น ซึ่งการรักษาด้านการแพทย์ทำได้ดีอยู่แล้ว โดยให้จังหวัดตั้งศูนย์รวบรวมข้อมูลรายวันต่อเนื่องไม่เฉพาะเทศกาล จะทำให้การแก้ไขปัญหามีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
2.การบูรณาการรักษาพยาบาลและการส่งต่อผู้ป่วยโรคยุ่งยากซับซ้อน โดยเฉาะโรคหัวใจ ซึ่งในเขตสุขภาพนี้มีอัตราตายสูงที่สุดในประเทศ แสนละ 42 คน และโรคมะเร็ง ให้ได้รับการรักษาเร็วขึ้นกว่าที่ผ่านมา คิวรอผ่าตัดหัวใจไม่เกิน 1 ปี คิวรอฉายแสงไม่เกิน 6 สัปดาห์ และขอให้ประสานความร่วมมือโรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด รักษาผู้ป่วยโรคเฉพาะทางเร็วขึ้น
3.การดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง ซึ่งมีหลายแห่งที่เป็นต้นแบบระดับชาติ เช่น ที่ลำสนธิ จ.ลพบุรี อยากให้ขยายผลให้ทั่วประเทศ และเพิ่มการดูแลผู้สูงอายุให้มีสุขภาพดีควบคู่ไปด้วย เพื่อชะลอเวลาติดบ้านติดเตียงให้ได้มากที่สุด
4.การแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการงบประมาณของท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้ไม่สามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพประชาชนได้ จะเร่งหารือกับ สตง.เพื่อคลี่คลาย และสามารถนำมาใช้ร่วมกับงบของกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยให้งานเกิดประสิทธิภาพสูงขึ้น
5.การตรวจสอบ IQ เด็กไทย มีเครื่องมือง่ายๆ เพื่อตรวจสอบให้ชัดเจนจากกรมสุขภาพจิต เพื่อเป็นข้อมูลในการแก้ไขปัญหาตามบริบทของแต่ละพื้นที่
และ 6.เสริมศักยภาพ อสม.ให้สามารถทำงานได้แบบพอดี ข้อมูลที่ต้องการจาก อสม.ควรเป็นแบบสรุปสั้นๆ เพื่อเป็นข้อมูลนำเข้าให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่สนับสนุนการแก้ปัญหาในรายละเอียดต่อไป
ซึ่งนโยบายดังกล่าวถือเป็นนโยบายที่สำคัญในการที่ อปสข.เขต 4 สระบุรีจะต้องขับเคลื่อนให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการเขตสุขภาพของ สปสช.และ สธ.โดยผ่านกลไก อปสข.
นพ.วันชัย กล่าวว่า ตามที่ประชุมคณะกรรมการกำหนดแนวทางการใช้เงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ของหน่วยบริการสังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขระดับเขต เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2558 ณ รพ.สระบุรี ได้มีข้อสรุปที่สำคัญ 3 เรื่อง และได้นำเป็นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจราชการเขตสุขภาพที่ 4 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2558 นั้นได้แก่
1.การแก้ปัญหาหน่วยบริการในเขตสุขภาพที่ 4 ที่มีปัญหาวิกฤติการเงินระดับ 7 จำนวน 12 แห่ง เป้าหมาย ปีงบประมาณ 2559 โรงพยาบาลวิกฤติทางการเงินระดับ 7 จะหมดไป กลไกในระดับเขตทำงานร่วมกันระหว่างเขตสุขภาพ สป.สธ. และ อปสข.เขต 4 กลไกในระดับประเทศ ได้แก่ ปรับเกลี่ยเงินที่กันไว้จากเขต 1% คืนให้เขตสุขภาพที่ 4 ในสัดส่วนที่เหมาะสม และเพิ่มเงื่อนไขในการช่วยเหลือโรงพยาบาลทั่วไปขนาดเล็ก ที่มีประชากร UC น้อยกว่า 60,000 คน และโรงพยาบาลชุมชนที่มีประชากร UC น้อยกว่า 30,000 คน
2.การแก้ปัญหาการรอคอยการรักษาพยาบาลของประชาชนในโรคที่เป็นปัญหาสำคัญระดับเขตสุขภาพที่ 4 เป้าหมายปีงบประมาณ 2559 จะลดการรอคอยคิวการรักษาพยาบาล โรคหัวใจ และโรคมะเร็งลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง โดยใช้กลไกในระดับเขต ข้อเสนอขอรับการสนับสนุนนโยบายในระดับกระทรวง เพื่อประสานเครือข่ายในระดับมหาวิทยาลัยที่อยู่นอกเขตสุขภาพที่ 4
และ 3.การบูรณาการการทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ได้แก่ อบจ., เทศบาล, อบต. เพื่อสนับสนุนการพัฒนางานสาธารณสุขในพื้นที่ ข้อเสนอเพื่อขอรับการสนับสนุนจากระดับกระทรวงประสานกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ อปท.สามารถใช้รายได้ของ อปท. ในการสนับสนุนงานด้านสาธารณสุขได้
ทั้งนี้มติที่ประชุม อปสข.ครั้งที่ 8/2558 ได้พิจารณาเห็นชอบการจัดสรรงบประมาณผู้ป่วยในสนับสนุนการพัฒนาระบบส่งต่อ ปี 2558 วงเงิน 30 ล้านบาท เพื่อจ่ายให้โรงพยาบาลที่ส่งกลับและโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยไว้รักษา และสรุปความก้าวหน้าการเบิกจ่ายงบบัญชี 6 และ 7 หลังจากประกาศปิดบัญชีเงินกองทุนและเงินบริหารจัดการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด รวมถึงการรับขึ้นทะเบียนหน่วยบริการภาคเอกชน มิตรไมตรี คลินิกเวชกรรม สาขาลาดสวาย จ.ปทุมธานี โดยมีผลดำเนินการได้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2558 และการนำเสนอผลงานศูนย์วิหารแดงแบ่งปันรักศูนย์ดูแลผู้สูงอายุในภาวะพึ่งพิง โดยนายแปลก เทพรักษ์ นายอำเภอวิหารแดง จ.สระบุรี
นายแปลก เทพรักษ์ นายอำเภอวิหารแดง กล่าวว่า อำเภอวิหารแดงโชคดีที่มีกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นหรือกองทุนตำบล ซึ่งสามารถนำเงินมาช่วยจ้างนักบริบาลในการดูแลสุขภาพประชาชนได้ โดยวิหารแดง จ่ายนักบริบาลในการดูแลผู้มีภาวะพึ่งพิง 75 บาทต่อราย นักบริบาล 1 คน ดูแลผู้ป่วย 3 ราย ส่วนตำบลไหนที่ไม่มีกองทุนตำบล อำเภอจะใช้งบกลางในการดูแล ปัจจุบัน สปสช.ได้ทำให้เกิดกองทุนตำบลในทุกที่ อยากให้ใช้ประโยชน์จากกองทุนตำบลเพื่อดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดบ้านติดเตียงเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการดูแลประชาชนในพื้นที่ ทั้งนี้ประเด็นปัญหาคือ สตง. ตั้งข้อสังเกตในการท้วงติง เรื่องการใช้เงินกองทุนตำบลในการดูแลรักษา จึงฝากความหวังกับรัฐมนตรีว่าการะทรวงสาธารณสุขที่จะรับไปหารือในระดับประเทศ
- 6 views