กรมควบคุมโรค เดินหน้าแก้ปัญหาวัณโรคดื้อยา จับมือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลรักษาระดับประเทศ มุ่งเป้าหมายเพื่อลดการป่วย การตาย การขาดยา และป้องกันการดื้อยา ภายในปี 2562 หลังพบมีแนวโน้มดื้อยาเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่แต่ละปีมีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่กว่า 1 แสนราย
เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2558 ที่โรงแรมนารายณ์ กรุงเทพฯ นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานเปิดการสัมมนาวิชาการ “การบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน” สำหรับทีมสหวิชาชีพในศูนย์ดูแลผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ครั้งที่ 1 พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แด่คณะผู้เชี่ยวชาญการดูแลรักษาวัณโรคดื้อยา ระดับประเทศ
นพ.โสภณ กล่าวว่า วัณโรคยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลก โดยเฉพาะในประเทศไทย จากผลสำรวจวัณโรคในประเทศไทยล่าสุด คาดประมาณผู้ป่วยวัณโรครายใหม่อยู่ที่ 113,900 ราย เท่ากับป่วยวันละ 312 ราย หรือ ชั่วโมงละ 13 คน คิดเป็นอัตราป่วย 170 ต่อแสนประชากร ในจำนวนผู้ป่วยรายใหม่นี้ พบว่าขึ้นทะเบียนรับการรักษาเพียงร้อยละ 60 หรือ 67,000 รายเท่านั้น ส่วนวัณโรคดื้อยาหลายขนานในผู้ป่วยที่ไม่เคยได้รับยาต้านวัณโรคมาก่อนพบได้ร้อยละ 2 ส่วนผู้ป่วยที่เคยได้รับยาต้านวัณโรคมาก่อนพบเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานสูงร้อยละ 19 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคติดเชื้อเอชไอวี นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาการดื้อยาไปเป็นวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก ทำให้ต้องสูญเสียค่ารักษาต่อคอร์สต่อคนสูงกว่าเดิมจาก 2 แสนบาทเป็น 1 ล้านบาท
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้วางแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี พ.ศ. 2558 - 2562 โดยมุ่งเป้าหมายเพื่อลดการป่วย การตาย การขาดยา และป้องกันการดื้อยา ภายในปี 2562 ซึ่งเน้นหนัก 3 เรื่อง คือ ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาระบบและเครือข่ายการป้องกันดูแลรักษา โดยดำเนินงานควบคุมวัณโรคมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งประกอบด้วยการส่งเสริม สร้างกระแสให้ประชาชนเกิดการรับรู้ ตื่นตัว ตระหนักและมีความรู้ในการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันวัณโรค ตลอดจนสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในการดำเนินงานควบคุมป้องกันและแก้ไขปัญหาวัณโรค ที่สำคัญเพื่อให้ประชาชนมีทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรควัณโรค และนำไปสู่การลดการรังเกียจตีตราผู้ป่วย อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายสูงสุด คือ“เมืองไทยปลอดวัณโรค”
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า สำหรับการสัมมนาวิชาการ “การบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน” สำหรับทีมสหวิชาชีพในศูนย์ดูแลผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ครั้งที่ 1 นี้ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้พัฒนาความรู้ทางด้านการบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน ทั้งในด้านคลินิค และการบริหารจัดการ ด้วยการทำงานเป็นทีมแบบสหวิชาชีพในศูนย์ดูแลผู้ป่วย เพิ่มศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาที่มีความซับซ้อน รวมถึงเพิ่มแรงจูงใจ ที่สำคัญเตรียมความพร้อมรวมถึงการเพิ่มศักยภาพของศูนย์ในการพัฒนาเป็นศูนย์วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง และชนิดรุนแรงมากในอนาคต ซึ่งมีมาตรการสำคัญคือ1.ค้นหาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาตั้งแต่แรกและรีบรักษา เน้นกลุ่มประชากรที่เสี่ยง ผู้ป่วยที่เคยรักษามาก่อน ผู้ป่วยกลับเป็นซ้ำ ล้มเหลวผู้สัมผัสโรคผู้ป่ววัณโรคดื้อยา ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้ต้องขัง แรงงานข้ามชาติ 2.พัฒนาเครือข่ายห้องปฏิบัติการชัณสูตรวัณโรค การนำเทคโนโลยี การวินิจฉัยเร็ว 3.กำหนดมาตรการการป้องกันการแพร่กระจายเชื้อวัณโรคในโรงพยาบาลและชุมชน
นอกจากนี้ ยังมีพิธีมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ แด่คณะผู้เชี่ยวชาญการดูแลรักษาวัณโรคดื้อยา ระดับประเทศ ซึ่งเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านวัณโรค เพื่อให้การดูแลรักษาวัณโรคดื้อยามีประสิทธิภาพ และควบคุมไม่ให้วัณโรคดื้อยาขยายเป็นปัญหาระดับชาติในอนาคต ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 10 ท่าน ได้แก่ 1.นพ.ไพรัช เกตุรัตนกุล กรมการแพทย์ 2.นพ.ยุทธิชัย เกษตรเจริญ ที่ปรึกษาสำนักวัณโรค กรมควบคุมโรค 3.ศ.นพ.กรีฑา ธรรมคำภีร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ 4.นพ.เจริญ ชูโชติถาวร สถาบันโรคทรวงอก กรมการแพทย์ 5.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 6.ศ.พญ.วิภา รีชัยพิชิตกุล มหาวิทยาลัยขอนแก่น 7.รศ.นพ.ทวี โชติพิทยสุนนท์ สถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินี 8.ผศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 9.นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ สถาบันบำราศนราดูร กรมควบคุมโรค และ10.รศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ คณะผู้เชี่ยวชาญได้ร่วมกำหนดสูตรยารักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยาหลายขนาน, วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรง และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก เป็นครั้งแรกในประเทศไทย และได้ผลิตคู่มือแนวทางการบริหารจัดการผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา เพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา ได้มีหลักวิธีการรักษาที่เป็นมาตรฐาน เป็นประโยชน์สำหรับแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วย รวมทั้งได้มาตราฐานสากล
- 42 views