เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : สมาคมราชวิทยาลัยแพทยศาสตร์แห่งสหราชอาณาจักรได้ริเริ่มโครงการ Choosing Wisely เพื่อแก้ไขวัฒนธรรมการรักษาเกินความจำเป็นในบริการสาธารณสุข ตามที่พบว่าผู้ป่วยได้รับสั่งจ่ายยาโดยขาดข้อมูลทางคลินิกรับรองและมีทางเลือกการรักษาอื่นที่ดีกว่า  

ใบสั่งยาที่ผิดพลาด  ภาพประกอบโดย  tOrange.biz

นอกเหนือจากการรณรงค์ชี้แจงสาเหตุที่การตรวจวินิจฉัยบางรายการหรือการรักษาบางประเภทไม่ได้ผลแล้ว โครงการ Choosing Wisely ยังมีแผนจะตีพิมพ์บัญชีการตรวจวินิจฉัยและยาซึ่งอาจรวมถึงการเอ็กซเรย์สำหรับอาการปวดหลัง หรือการจ่ายยาสเตตินสำหรับผู้ที่อายุ 75 ปีหรือมากกว่าเพื่อลดไขมันและป้องกันโรคหัวใจ

ซึ่งในประเด็นยาสเตตินนั้นยังไม่มีหลักฐานแน่ชัดที่ยืนยันว่าระดับคอเลสเตอรอลที่สูงนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจ ขณะที่มีแนวโน้มว่ายาสเตตินอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรงในผู้สูงอายุ โดยศาสตราจารย์ซู เบลีย์ ประธานราชวิทยาลัยเปิดเผยว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ “เพื่อกระตุ้นให้แพทย์หารือกับผู้ป่วย” เกี่ยวกับการรักษาและการตรวจวินิจฉัยที่ไม่จำเป็นและ “พิจารณาแนวทางที่ดีกว่าและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม”

โครงการ Choosing Wisely เดินเครื่องแล้วในสหรัฐและแคนาดา ซึ่งในสหราชอาณาจักรก็มีโครงการลักษณะเดียวกันอีกหลายโครงการ รวมถึงโครงการ Too Much Medicine โดยวารสารการแพทย์ British Medical Journal สำหรับผลตอบรับที่ผ่านมาก็มีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงวิจารณ์โดยบางส่วนเห็นว่า NHS จำเป็นต้องแก้ไขทัศนคติเชิงบริโภคนิยมซึ่งมองว่ายาเป็นคำตอบสำหรับทุกโรค ขณะที่บางส่วนมองว่าโครงการอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความปลอดภัย และมีเสียงทักท้วงถึงมาตรการลดการตรวจวินิจฉัยและการรักษาแบบครอบจักรวาล ซึ่งแม้แต่สื่อหลักของสหราชอาณาจักรเองก็ยังวิจารณ์ว่าโครงการดังกล่าวเป็นมาตรการปราบปรามที่อาจนำไปสู่การปฏิเสธที่จะให้การรักษา

แล้วเหตุใดประชาชนจึงกังวลว่าจะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่ไม่มีประโยชน์ ?

ขอแค่ได้รักษา

ในทางหนึ่งผู้ป่วยมีหน้าที่เลือกการบริการในฐานะที่เป็นผู้บริโภค ซึ่งเรามีความรู้ ความมั่นใจ และศักยภาพที่จะตัดสินใจบนพื้นฐานของประโยชน์สูงสุดที่เราจะได้รับ ศาสตราจารย์มากาเรต ซอเมอร์วิลล์เรียกแนวคิดนี้ว่า “ปัจเจกนิยมสุดขั้ว” ซึ่งสะท้อนการโดดเดี่ยวตนเองจากผู้อื่น กระนั้นปฏิกิริยาเชิงลบนี้ก็เผยให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างผลลัพธ์ของการเจ็บป่วยหรือบาดเจ็บต่อแผนการของผู้ป่วย อันเป็นประเด็นที่ยังไม่มีข้อมูลชัดเจน

การเจ็บป่วยจะนำไปสู่ความคาดหวังว่า การรักษาด้วยยาจะช่วยให้เรากลับมามีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติ โดยที่ยาและกระบวนการรักษาที่เกี่ยวข้องเป็นเครื่องมือในการที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดี เนื่องจากความเชื่อมั่นนี้เองเป็นสิ่งที่คอยค้ำจุนให้เรามีกำลังใจเมื่อเผชิญกับความเจ็บป่วย จึงทำให้การจำกัดการเข้าถึงการรักษาด้วยยาบางตัวถึงแม้ว่ายานั้นมีประโยชน์เพียงน้อยนิดกลายเป็นการสั่นคลอนความเชื่อมั่นและความไว้วางใจต่อการรักษา

สร้างความไว้วางใจ

ความเชื่อของผู้ป่วยต่อยาที่ได้รับสั่งจ่ายและการรักษาในฐานะหนึ่งในแนวทางที่เชื่อมั่นได้มากที่สุดสำหรับฟื้นฟูสุขภาพ โดยเนื้อแท้แล้วก็เป็นความไว้วางใจในตัวศาสตร์และการรักษาด้วยยา ซึ่งความไว้วางใจต่อการรักษานั้นสูงอย่างยิ่งจนทำให้การขัดขวางการรักษากระทั่งการรักษาที่มีประโยชน์น้อยเป็นสาเหตุให้เกิดความวิตกกังวล และตรงกันข้ามกับทัศนคติของกลุ่มต่อต้านวัคซีนซึ่งการขาดความไว้วางใจเป็นสาเหตุให้ออกมาต่อต้านการรักษา

หากแนวคิดนี้เป็นความจริงก็จำเป็นที่จะต้องศึกษาว่า เหตุใดพวกเราในฐานะที่เป็นผู้ป่วยจึงพร้อมให้ความไว้วางใจต่อการรักษาด้วยยา ในขณะเดียวกับที่มองบุคคลที่ต้องการช่วยให้เรากลับมามีสุขภาพแข็งแรงเป็นปกติด้วยสายตาเคลือบแคลง

ความไว้วางใจในการรักษาด้วยยาและความไว้วางใจในบุคลากรด้านการแพทย์ อยู่ในหลักการที่ศาสตราจารย์ซอเมอร์วิลล์เรียกว่า “การรับมอบความไว้วางใจ” ความไว้วางใจทั้ง 2 ประการจะต้องสร้างขึ้นผ่านการสร้างความสัมพันธ์ซึ่งอาจมีองค์ประกอบแตกต่างกันไป โดยตัวการรักษานั้นได้รับความไว้วางใจในฐานะที่ช่วยฟื้นฟูสุขภาพ ขณะที่บุคลากรด้านการแพทย์ได้รับความไว้วางใจจากการที่คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย รวมถึงเปิดทางให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจแม้จะอยู่ในฐานะที่มีอำนาจตัดสินใจเองทั้งหมด อันเป็นแนวทางหนึ่งที่ช่วยปรับสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรและผู้ป่วย

ลองสมมติตัวอย่างผู้ป่วยซึ่งมาขอรับบริการเอ็กซเรย์หรือตรวจเอ็มอาร์ไอเนื่องจากอาการปวดหลังส่วนล่าง ผู้ป่วยอาจเชื่อว่ากระบวนการตรวจร่างกายดังกล่าวเป็นวิธีการตรงที่จะช่วยเผยให้เห็นสาเหตุของอาการปวด รวมถึงอาจคิดว่าเป็นแผนการดีที่สุดในการเริ่มต้นฟื้นฟูสุขภาพให้เป็นปกติ อย่างไรก็ดีสาเหตุของอาการปวดหลังอาจเกิดได้จากหลายปัจจัยนอกเหนือจากความผิดปกติด้านโครงสร้างหรือระบบประสาทอันเป็นเป้าของการตรวจเอ็กซเรย์หรือเอ็มอาร์ไอ     

บุคลากรด้านการแพทย์จะสามารถสร้างความไว้วางใจโดยให้ความเชื่อมั่นแก่ผู้ป่วยว่าการตรวจวินิจฉัยดังกล่าวอาจไม่จำเป็นผ่านการชี้แจงในลักษณะที่ผู้ป่วยสามารถทำความเข้าใจตามได้ อันจะช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของบุคลากรด้านการแพทย์ในฐานะที่เป็นผู้มีความรู้ ความรับผิดชอบ และน่าเชื่อถือ

หากโครงการ Choosing Wisely มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริม “การเลือกแนวทางที่ดีกว่าสำหรับการดูแลรักษาสุขภาพ” ดังที่ศาสตราจารย์เบลีกล่าว ก็จำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องตระหนักถึงความรับผิดชอบในการพิจารณาการบริการดูแลรักษาสุขภาพของตนเองอย่างฉลาด ซึ่งจะเป็นไปไม่ได้เลยหากขาดความเข้าใจถึงบทบาทของความไว้วางใจที่มีผลต่อการเลือก ทั้งนี้  ผู้เขียนเห็นว่าโครงการรณรงค์ของสมาคมราชวิทยาลัยอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีหากสามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจถึงสาเหตุของการจำกัดการรักษา พร้อมทั้งชี้ให้เห็นประโยชน์ที่ดีกว่าจากการรักษาอื่นหรือด้วยแนวทางอื่น

ผู้เขียน คลาร์ก ฮอบสัน ผู้ช่วยสอน จากมหาวิทยาลัยเบอร์มิงแฮม

ขอบคุณที่มา : www.theconversation.com