The Conversation : คงไม่มีเรื่องราวใดอีกแล้วในแวดวงสาธารณสุขระดับโลกที่จะเปลี่ยนไปไม่รู้จบ น่าสะพรึงกลัว และอวลไปด้วยความเศร้าสลดดังเช่นการระบาดของโรคเอดส์ โรคร้ายซึ่งเพิ่งเป็นที่รู้จักได้เพียงชั่วอายุคนปรากฏตัวในฐานะอาการป่วยลึกลับในหมู่หนุ่มรักร่วมเพศที่นครนิวยอร์คและซานฟรานซิสโกเมื่อมิถุนายน 2524 ก่อนที่จะระบาดไปทั่วทุกทวีปในอีกไม่กี่ปีต่อมาจนกลายเป็นหนึ่งในเหตุโรคระบาดครั้งร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ โรคเอดส์ไม่เพียงเป็นสาเหตุความทุกข์ทรมาน หากยังนำไปสู่การแตกสลายของสังคมและการพังทลายของเศรษฐกิจ
การจุดเทียนอันเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมวันเอดส์โลกที่กรุงจาการ์ตา ภาพประกอบโดย Dadang/Tri
ในช่วงที่โรคเอดส์เริ่มระบาดนั้น เจ้าหน้าที่สาธารณสุขยังคงอาศัยแนวทางป้องกันโรคสำหรับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ทั่วไป ได้แก่ การตรวจโรค ให้คำปรึกษา ให้ความรู้ แนะนำการใช้ถุงยางอนามัยและแจ้งแก่คู่นอน ขณะที่ผู้ป่วยที่เพิ่งตรวจพบเชื้อมักอยู่รอดได้เพียง 6 ถึง 8 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่อ่อนแอลงไปทุกทีทำให้ผู้ป่วยไวต่อมะเร็งที่พบได้ยาก ปอดอักเสบ อ่อนเพลียเรื้อรัง และซูบลงอย่างน่าใจหายจนกระทั่งมัจจุราชมาเยือน
ในความหวาดกลัว เจ็บปวด และสิ้นหวัง
ภาคสังคมและการเมืองในขณะนั้นทำได้แค่เพียงปฏิเสธ เพิกเฉย และไม่ปริปาก กระทั่ง โรนัลด์ เรแกน ประธานาธิบดีของสหรัฐฯ ในเวลานั้นเองก็ไม่เคยหล่นคำว่า “เอดส์” ต่อหน้าสาธารณชนเลยสักครั้งจนกระทั่งถึงปี 2529 ซ้ำร้ายสังคมกลับแบ่งแยก กีดกัน และซ้ำเติมผู้ติดเชื้อว่าโทษทัณฑ์ที่พวกเขาได้รับนั้นสาสมแล้วกับความผิดที่ก่อไว้ ทำให้ระดับความหวาดกลัว เจ็บปวด และสิ้นหวังที่ผู้ติดเชื้อเอดส์และครอบครัวอันเป็นที่รักต้องแบกหน้าเผชิญนั้นสุดที่จะบรรยายได้
อย่างไรก็ดีเมื่อปี 2553 โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอดส์) ได้ประกาศแผน “เข้าใกล้เป้าหมายที่เป็นศูนย์” นั่นคือ จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นศูนย์ จำนวนการตายเนื่องจากโรคเอดส์เป็นศูนย์ และการกีดกันเป็นศูนย์
การประชุมเอดส์ระหว่างประเทศ (International AIDS Conference) ปี 2555 จัดขึ้นที่สหรัฐอเมริกาเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปีอันเป็นผลมาจากมาตรการจำกัดการเข้าเมืองสำหรับผู้ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งมีผลบังคับใช้ระหว่างปี 2533-2555 โดยในที่ประชุมดังกล่าวนางฮิลลารี คลินตันรมว.ต่างประเทศสหรัฐฯ ในเวลานั้น ได้แถลงเรียกร้องให้นานาชาติร่วมมือกันเพื่อสร้างชั่วอายุคนที่ปลอดจากโรคเอดส์ แน่นอนว่าเป้าหมายอันทะเยอทะยานนี้ย่อมเรียกเสียงวิจารณ์จากผู้เชี่ยวชาญซึ่งมองว่าไม่สะท้อนความเป็นจริงและขาดกรอบที่แน่ชัด ไม่ว่าจะเป็นนิยามของคำว่า “ศูนย์” หรือ “ปลอดจากโรคเอดส์” ตลอดจนชั่วอายุคนที่เป็นเป้าหมาย
แต่ลองถอยออกจากการทุ่มเถียงระหว่างเป้าหมายและความเป็นจริง... สิ่งที่เราพบเห็นในทุกวันนี้คือความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีซึ่งทำให้เหล่าผู้นำในวงการสาธารณสุขเชื่อมั่นว่าจุดจบของโรคเอดส์จะต้องมาถึงเข้าสักวัน
นวัตกรรมการรักษาทรงประสิทธิภาพ
การรักษาด้วยยาต้านไวรัสนับเป็นนวัตกรรมที่มีนัยสำคัญที่สุดต่อการเดินหน้าพิชิตโรคเอดส์ ดังที่ประเมินว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ซึ่งมีอายุ 25 ปีในปัจจุบันอาจมีชีวิตรอดไปได้อีก 50 ปีหากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัส แต่การจะบรรลุผลลัพธ์ดังกล่าวได้นั้นยังคงต้องอาศัยมาตรการเชิงป้องกันร่วมกันซึ่งนอกเหนือไปจากการตรวจโรค ให้คำปรึกษา แนะนำการใช้ถุงยางอนามัย และให้ความรู้อันเป็นมาตรการระดับพื้นฐาน
ข้อมูลจาการศึกษาวิจัยชี้ให้เห็นอัตราการแพร่เชื้อเอชไอวีที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากการขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย การให้ยาต้านไวรัสแก่ผู้ที่ยังไม่ติดเชื้อเอชไอวีก่อนมีการสัมผัสโรค (pre-exposure prophylaxis - PrEP) และการรักษาด้วยยาต้านไวรัส ดังที่ผู้เข้าร่วมการประชุมเอดส์ระหว่างประเทศเมื่อปี 2554 ตะลึงกับรายงานข้อมูลอัตราการแพร่เชื้อซึ่งลดลงกว่าร้อยละ 95 ในคู่รักต่างเพศที่เกาะติดการรักษาด้วยยาต้านไวรัส
ลองคิดดูสิว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือติดเชื้อมาแล้วสามารถเข้าถึงยาต้านไวรัสอย่างถ้วนหน้า จะเกิดอะไรขึ้นหากนวัตกรรมใหม่เปิดทางให้ผู้หญิงสามารถปกป้องตัวเองจากเชื้อเอชไอวี ดังเช่นครีมยาฆ่าเชื้อสำหรับทาภายในช่องคลอดซึ่งกำลังจะสำเร็จเป็นรูปเป็นร่าง และเมื่อรวมกับความมุ่งมั่นของภาคการเมืองด้วยแล้วจะเป็นไปไม่ได้เชียวหรือที่ประชาคมโลกจะเดินหน้า “เข้าใกล้เป้าหมายที่เป็นศูนย์”
นวัตกรรมการรักษาที่กล่าวมาเกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วด้วยเหตุใดกันโรคเพียงตัวเดียวจึงเบิกทางไปสู่การค้นพบทางวิทยาศาสตร์อย่างที่ไม่เคยมีก่อน ช่างน่าเศร้าที่พัฒนาการด้านเทคโนโลยีนี้ไม่อาจเกิดขึ้นกับโรคภัยไข้เจ็บอื่นที่กลุ้มรุมผู้ป่วยทั่วโลกทั้งโรคจิตเวช มะเร็ง หรือวัณโรค และแม้พูดกันว่าโรคดังกล่าวมีความซับซ้อนและเกี่ยวโยงกับปัจจัยหลายตัวต่างจากโรคเอดส์ แต่คำตอบข้างต้นก็ช่างห่างไกลจากความจริงเสียเหลือเกิน
ขับเคลื่อนสังคมอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
โรคเอดส์เป็นหนึ่งในโรคที่เรื้อรังและซับซ้อนที่สุดเท่าที่โลกเคยรู้จัก แต่ถึงกระนั้นหากพิจารณาในมิติทางสังคมและการเมืองแล้ว ก็นับได้ว่าวิกฤติสาธารณสุขจากโรคเอดส์เป็นต้นกำเนิดของการขับเคลื่อนทางสังคมครั้งใหญ่ที่สุดเป็นประวัติการณ์
นับจากเครือข่ายพันธมิตรเอดส์เพื่อปลดปล่อยพลัง (AIDS Coalition to Unleash Power - ACT UP) และองค์การสิทธิมนุษยชนแลมบ์ดาลีกอลดีเฟนซ์ (Lambda Legal Defense) ของสหรัฐฯ เรื่อยไปจนถึงโครงการรณรงค์เข้าถึงการรักษาโรคเอดส์ (Treatment Action Campaign – TAC) ในประเทศแอฟริกาใต้ จะเห็นได้ว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่างช่วยกันพลิกนโยบายด้านโรคเอดส์จากการเพิกเฉยและเย้ยหยันไปสู่การส่งเสริมและร่วมแรงร่วมใจในสังคม การขับเคลื่อนทางสังคมดังกล่าวไม่เพียงมุ่งต่อสู้ในมิติเชิงสังคมของโรคเอดส์ในแง่การเรียกร้องศักดิ์ศรี การยอมรับ และความยุติธรรม หากเนื้อแท้นั้นกลับมุ่งตรงไปที่ปัญหาความเท่าเทียมในการเข้าถึงยา
โครงการรณรงค์โรคเอดส์ล้วนเรียกร้องความยุติธรรมทางสังคมอย่างตรงไปตรงมา โดยฟ้องให้เห็นว่ามีแต่คนรวยเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงยาสำหรับประคับประคองชีวิต คำประจานนี้ไม่เพียงก้องอยู่ในประเทศพัฒนาแล้วซึ่งคนจนมักไม่สามารถเข้าถึงยาต้านไวรัส แต่ยังอื้ออึงทั้งในฟากประเทศกำลังพัฒนาซึ่งประชากรส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงยาช่วยชีวิตได้เหมือนคนส่วนใหญ่ในชาติพัฒนาแล้ว
โครงการรณรงค์การเข้าถึงยาอย่างทั่วถึงทำให้นักเคลื่อนไหวด้านโรคเอดส์หันไปแก้ปัญหาที่พ้นออกไปจากกรอบงานสาธารณสุข โดยโจมตีไปที่นโยบายการค้าอย่างเสรีซึ่งเน้นการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา และเรียกร้องให้ยกระดับสิทธิด้านสาธารณสุขของประชาชน ดังตัวอย่างโครงการ TAC ซึ่งสามารถกดดันให้รัฐบาลแอฟริกาใต้ยกเลิกข้อจำกัดการรักษาในระยะปริกำเนิดผ่านศาลรัฐธรรมนูญ
ส่วนในระดับสากลก็เห็นได้ชัดว่าเครือข่ายเพื่อผู้ป่วยโรคเอดส์สามารถผลักดันให้การเข้าถึงยากลายเป็นวาระสำคัญขององค์การอนามัยโลกจนนำไปสู่โครงการต่างๆ เช่น โครงการรักษาผู้ป่วยโรคเอดส์ 3 ล้านคนภายในปี 2548 ซึ่งในอีกด้านหนึ่งยังบีบให้องค์การการค้าโลกต้องปรับเปลี่ยนนโยบายการค้าเห็นได้จากการปรับลดความเข้มงวดของการพิทักษ์ทรัพย์สินทางปัญญาในคำประกาศโดฮา
ความร่วมมือในระดับโลก
ผลพวงจากการขับเคลื่อนทางสังคม รวมไปถึงการเปิดกรุทรัพยากรสาธารณสุขระดับโลกทำให้เม็ดเงินหลั่งไหลสู่การวิจัยด้านชีวการแพทย์ วัคซีน และการรักษา นอกจากนี้ยังเปลี่ยนโฉมการบริหารงานสาธารณสุขในระดับโลก โดยเฉพาะกลไกการให้ความช่วยเหลือจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจ เช่น PEPFAR ของสหรัฐฯ และ UNITAID ซึ่งก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างบราซิล ชิลี ฝรั่งเศส นอร์เวย์ และสหราชอาณาจักร
การขับเคลื่อนทางสังคมด้านโรคเอดส์ยังส่งผลให้กลุ่มประเทศมหาอำนาจยอมรับเป็นครั้งแรกว่า โรคระบาดเป็นภัยคุกคามระดับชาติระหว่างการประชุมสุดยอดจี 8 ขณะเดียวกันก็กระตุ้นให้สหประชาชาติต้องจัดการประชุมสุดยอดว่าด้วยโรคเอดส์เป็นครั้งแรก และในอีกทางหนึ่งยังนำไปสู่การจัดตั้งกองทุนโลกเพื่อต่อสู้โรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย (Global Fund to Fight AIDS, Tuberculosis and Malaria) อันเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนภายนอกโครงสร้างของสหประชาชาติ/องค์การอนามัยโลกซึ่งมีบทบาทด้านการจัดหาและระดมเงินทุน
แต่ถึงกระนั้นความพยายามต่อสู้กับโรคเอดส์ของประชาคมโลกยังคงเผชิญกับปัญหาการปะทะด้านความคิด ดังที่นักเคลื่อนไหวด้านโรคเอดส์กังวลว่ามาตรการสาธารณสุขทั่วไป เช่น การตรวจโรคและรายงานผลอาจกระทบต่อความเป็นส่วนตัวหรือนำไปสู่การกีดกัน ขณะที่ฝ่ายบริหารก็ทุ่มเถียงกันถึงแนวทางการรักษาที่จะให้ประสิทธิผลสูงสุด
นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความเห็นต่างในประเด็นความคุ้มค่าของการรักษาและนำไปสู่คำถามว่ารัฐบาลจะสามารถอุดหนุนการรักษาที่มีต้นทุนสูงได้หรือไม่ เช่น การรักษาด้วยยาต้านไวรัสไปตลอดชีวิต และจะจัดสรรสิทธิการรักษาอย่างเป็นธรรมในกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อหรือผู้ติดเชื้อที่มีอยู่เป็นจำนวนมากได้อย่างไรในกรณีที่ทำไม่ได้ และอีกด้านหนึ่งยังมีคำถามว่าสมควรหรือไม่ที่จะต้องจัดสรรทรัพยากรในระดับเดียวกับโรคเอดส์สำหรับภารกิจสำคัญในด้านอื่น เช่น สุขภาพแม่และเด็ก การบาดเจ็บ ตลอดจนโรคไม่ติดต่อ
ข้อโต้แย้งดังกล่าวปะทุขึ้นทั้งในภาคการสาธารณสุขระดับประเทศและการหารือจัดสรรความช่วยเหลือด้านสาธารณสุขต่างประเทศโดยที่ยังไม่มีเค้าว่าจะได้ข้อสรุปแน่ชัด
แปลและเรียบเรียงโดย: ภัทรภร นิภาพร pingni1997@gmail.com
*บทความนี้เป็นเนื้อหาส่วนแรกจากทั้งหมดสามส่วนซึ่งเรียบเรียงจากหนังสือ Global Health Law โดย ศ.ลอว์เรนซ์ กอสติน
ผู้เขียน: ศ.ลอว์เรนซ์ โอ กอสติน ผู้อำนวยการสถาบันโอนีล มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์
- 52 views