นสพ.ไทยรัฐ : เมื่อพูดถึง “บ้านพักคนชรา” ห้วงความคิดของคนไทยแทบทุกคน คงจะนึกถึงสภาพบ้านพักแบบ “บ้านบางแค” ปรากฏขึ้นมาในสมอง
แม้ผู้สูงอายุที่มาพักใน “บ้านบางแค” ต้องมาอยู่ภายใต้เงื่อนไข “ความสมัครใจ” อาจเพราะไม่มีใครดูแล ไม่อยากเป็นภาระของลูกหลาน หรือต้องการลบปัญหาความเหงา มาอยู่เพื่อให้มีเพื่อนและมีกิจกรรม
แต่ถ้าเลือกได้และมีทางเลือกที่ดีกว่า คนส่วนใหญ่คงไม่อยากไปอยู่ “บ้านพักคนชรา” แน่
แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในสังคมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ก้าวสู่ “สังคมคนชรา” หรือสังคมคนสูงวัยแล้ว กลับมีมุมมองที่ต่างออกไป ถึงขนาดที่บรรดาภาคธุรกิจเอกชน 500-600 บริษัท หันมาจับธุรกิจสร้างบ้านพักเพื่อดูแลคนสูงวัยในช่วงบั้นปลายของชีวิตอย่างจริงๆจังๆ
บ้านพักที่สร้างขึ้นต่างคำนึงถึงความละเอียดอ่อน ทุกสิ่ง ทุกอย่างที่สำคัญสำหรับคนสูงอายุ มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน พร้อมมีผู้ให้บริการดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด สร้างบรรยากาศเสมือนกับการก้าวเข้าไปใช้บริการในโรงแรมมาตรฐาน “ระดับ 5 ดาว” แทนจะรู้สึกว่าเป็น “บ้านพักคนชรา”
ในโอกาสที่บริษัท โตเกียว มารีน ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ได้เชิญสื่อมวลชนจากประเทศไทยบินไปยังสถานที่ตั้งของบริษัทแม่ บริษัท โตเกียว มารีน โฮลดิ้งส์ ที่ประเทศญี่ปุ่นพร้อมดูงานของบริษัทลูกอีกแห่งคือบริษัท โตเกียว มารีน นิชิโด ซามูเอล จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ
ทำให้เราได้เห็นความแตกต่างของการดูแล “เทคแคร์” ผู้สูงอายุของญี่ปุ่นและไทย และยังได้ชมบรรยากาศของสถานที่จริงๆ ของบ้านพักคนชรา ภายใต้แบรนด์ “Hyldemoer” หรือ “ฮิลเดอมอร์” ภายใต้ความหวังว่าจะมีรูปแบบเช่นนี้ในประเทศไทยบ้าง
เพราะประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ “สังคมผู้สูงวัย” เหมือนประเทศญี่ปุ่น ดังนั้น คงจะดีไม่น้อยหากธุรกิจไทยจะเริ่มวางแผนการลงทุนเพื่อสร้างบ้านพักคนชราในรูปแบบนี้ “ทีมเศรษฐกิจ” จึงถือโอกาสนี้ถอดโมเดลการดูแลสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเพื่อเป็นอีกทางเลือกและ “โมเดล” ที่น่าพิจารณาสำหรับสังคมไทยในอนาคต ดังนี้ :
ไทยเตรียมเข้าสังคมผู้สูงอายุ
ประเทศญี่ปุ่นนั้นได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรโดยรวมสูงที่สุดและสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอันดับต้นๆของโลก โดย 1 ใน 3 ของประชากรเป็นผู้สูงอายุ
ขณะที่ประเทศไทยนั้น ปัจจุบันเรามีจำนวนผู้สูงอายุ 10 ล้านคน คิดเป็น 14.9% ของประชากรทั้งประเทศ แต่ตามรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) นั้น ในอีก 25 ปีข้างหน้า หรือปี 2583 ผู้สูงอายุของไทยจะมีสัดส่วนถึง 32.1% ของประชากรทั้งประเทศหรือราว 20.5 ล้านคน
นายคูโรสุ อะทซึโอะ ประธานบริษัท โตเกียว มารีน นิชิโด ซามูเอล จำกัด (มหาชน) จึงให้ข้อคิดต่อผู้เกี่ยวข้องในไทยว่า ต้องเตรียมพร้อมในการรองรับการดูแลผู้สูงอายุให้ดี “เพราะเวลาอีก 25 ปี ถือว่ารวดเร็ว เพราะญี่ปุ่นเองในช่วงก่อนหน้านี้ต้องใช้เวลามากกว่า 20 ปีในการเตรียมพร้อมดูแลผู้สูงอายุเช่นกัน”
เขาวิเคราะห์ภาพของสังคมผู้สูงอายุให้เห็นว่า ในญี่ปุ่นปี 2523 มีค่าเฉลี่ยอายุของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ 76 ปี ขณะที่ในปีปัจจุบันค่าเฉลี่ยอายุของคนญี่ปุ่นอยู่ที่ 80.5 ปี และในปี 2593 คนญี่ปุ่นจะมีอายุเฉลี่ยสูงถึง 90 ปี
สำหรับประเทศไทย ในปี 2523 ค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยอยู่ที่ 64 ปี และในปี 2553 คนไทยจะมีค่าเฉลี่ยอายุที่ 75 ปี และเชื่อว่าในปี 2593 แม้จะยังไม่ทราบประมาณการ แต่เชื่อได้ว่าคนไทยจะมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับคนญี่ปุ่น
ขณะที่อัตราการเกิดของคนญี่ปุ่นในปี 2543 อยู่ที่ 1.36 คนต่อครอบครัว ปี 2553 อยู่ที่ 1.39 คนต่อครอบครัว และในปี 2556 อยู่ที่ 1.43 คนต่อครอบครัว ส่วนประเทศไทยในปี 2543 มีอัตราการเกิดอยู่ที่ 1.68 คนต่อครอบครัว ปี 2553 อยู่ที่ 1.44 คนต่อครอบครัว และปี 2556 อัตราการเกิดของคนไทยลดต่ำลงมากกว่าญี่ปุ่นมาอยู่ที่ 1.40 คนต่อครอบครัว
ส่วนผู้สูงอายุที่อายุเกิน 65 ปี ของประเทศญี่ปุ่นในปี 2543 มีสัดส่วนอยู่ที่ 17% ปี 2553 อยู่ที่ 23% และในปี 2593 อยู่ที่ 36% สำหรับประเทศไทยในปี 2543 มีผู้สูงอายุอยู่ที่ 7% ปี 2553 อยู่ 9% และในปี 2593 จะอยู่ที่ 36% การเปรียบเทียบคนเกิดใหม่ของไทยที่ลดลงและคนไทยที่มีอายุสูงขึ้น แสดงให้เห็นชัดว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเช่นเดียวกับญี่ปุ่น
ที่ชัดเจนมากกว่านั้นคืออัตราการเกิดของไทย ที่ลดลงเร็วกว่าญี่ปุ่น สะท้อนความเป็นครอบครัวขนาดเล็กหรือครอบครัวเดียวมากขึ้นของคนไทย ซึ่งหมายถึงอนาคตที่คนไทยจะต้องดูแลตัวเองโดยอาจไม่มีลูกหลานมาดูแล ในช่วงจังหวะที่มีอายุยืนยาวมากขึ้น แถมยังขาดศักยภาพในการหารายได้เพิ่มเติม
คนไทยขาดหลักประกันอนาคต
“จริงๆ แล้วประเทศไทยเริ่มพูดถึงการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมาพักใหญ่แล้ว และเข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเด็นการพูดถึงจะเน้นถึงการขาดแคลนคนที่อยู่ในวัยแรงงานมากกว่าการคำนึงถึงการใช้ชีวิตของผู้สูงอายุจากอายุที่ยืนนานขึ้น จนทำให้เงินออมที่มีไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพซึ่งน่าจะเป็นปัญหาที่น่าตระหนักมากกว่า”
เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาในระหว่างการแถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/2558 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เริ่มกระตุ้นให้ผู้คนหันมาให้ความสำคัญของการทำงานของผู้สูงอายุ ด้วยมองว่าอายุเฉลี่ยของคนไทยมีแนวโน้มจะสูงกว่า 80 ปี ทำให้มีชีวิตหลังการทำงานที่ยาวนานขึ้น ส่งผลให้ผู้สูงอายุต้องบริหารเงินออมให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น หากไม่มีเงินบำนาญรายเดือน
สอดคล้องกับที่ นายสมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โตเกียว มารีน ประกันชีวิต (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หัวหน้าคณะที่พาสื่อมวลชนไทยไปเยี่ยมชมบ้านพักคนชราของญี่ปุ่นที่ระบุว่า “สถานการณ์สังคมผู้สูงอายุในไทยถือเป็นเรื่องที่น่ากังวล !”
เนื่องจาก 16 ปีจากนี้ไป หรือในปี 2563 จำนวนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านคน แต่สวัสดิการที่จะนำมาใช้รองรับการใช้จ่ายหลังเกษียณกลับมีเพียงเบี้ยยังชีพต่อเดือนเพียง 600 บาท เงินบำนาญที่มาจากประกันสังคม หรือเงินจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ภาครัฐใส่เงินสนับสนุนให้สูงสุด 1,200 บาทต่อปีเท่านั้น
เมื่อเปรียบเทียบกับสังคมของคนญี่ปุ่นที่มีระบบ “รัฐสวัสดิการ” ที่ชัดเจนมีการพัฒนาระบบไม่ต่ำกว่า 20–30 ปี
ตัวอย่างกลุ่มคนที่มีเงินบำนาญต่ำสุดคือ “อาชีพกรรมกร” หรือผู้ใช้แรงงาน เมื่อถึงวัยเกษียณ 60 ปี จะได้รับเงินบำนาญต่ำสุดที่ 100,000 เยนต่อเดือน หรือประมาณ 30,000 บาทและในบางอาชีพอาจสูงถึงเดือนละ 100,000 บาท
“สิ่งที่สังคมไทยจะต้องฉุกคิด คือ จะทำอย่างไรให้มีเงินใช้ในยามเกษียณต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 20-30 ปีข้างหน้า หรือจนกว่าจะถึงอายุ 90 ปี เช่น อย่างน้อยต้องมีเงินพอยังชีพไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000 บาท”
เขามองว่าสังคมไทยพูดกันมาหลายปีเรื่องสังคมผู้สูงอายุ แต่ก็พูดกันลอยๆไม่ได้ทำอะไรจริงจัง !
ญี่ปุ่นสร้างหลักประกันหลายชั้น
สำหรับประเทศญี่ปุ่นซึ่งเข้าสู่สังคมคนชรา ได้สร้างหลักประกันให้กับคนในประเทศหลายชั้น ที่ทั้งนายคูโรสุ และนายสมโพชน์ได้ร่วมกันให้ข้อมูลว่า รัฐบาลญี่ปุ่นใส่ใจกับสวัสดิภาพของประชาชนในประเทศเป็นอย่างดี โดยมีทั้งกองทุนประกันสังคม กองทุนบำนาญแห่งชาติ
โดยกำหนดการจ่ายเงินสมทบของกองทุนบำนาญแห่งชาติตามอายุ โดยในวงเงิน 100% คนญี่ปุ่นอายุ 40-64 ปี ต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนบำนาญประมาณ 29% อายุ 65 ปีขึ้นไปต้องจ่าย 21% หรือประมาณ 1,347 บาทต่อเดือน และอีก 50% รัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายเงินสมทบ
โดยเงินส่วนนี้หลังเกษียณคนญี่ปุ่นจะมีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 30,000 บาท จากกองทุนบำนาญ และหากรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และประกันบำนาญที่ซื้อไว้ด้วยอาจจะมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 100,000 บาททีเดียว
นอกจากนี้ ยังมีกองทุนให้กับผู้สูงอายุที่ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้อีกหนึ่งคือ กองทุน Long Term Care โดยบังคับให้ผู้มีรายได้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปจะต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนนี้ จะได้รับการดูแลจากภาครัฐด้วยการประเมินจากความสามารถในการดูแลตัวเอง ก่อนส่งเข้าไปยังสถานดูแลคนชราที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ที่มีอยู่กว่า 5,000 แห่งทั่วประเทศ
นอกเหนือจากนี้ คนญี่ปุ่นจำนวนมากยังเลือกซื้อประกันชีวิต แบบที่สามารถใช้ชีวิตยืนยาวอย่างมั่นคง และเข้าถึงระบบรักษาพยาบาลได้มากขึ้น เงินจำนวนมากที่คนญี่ปุ่นสะสมไว้หลายทาง จึงเป็นหนทางให้เกิดธุรกิจดูแลผู้สูงอายุขึ้นมา
แตกต่างกับคนไทยที่เลือกซื้อประกันชีวิตแบบลงทุนหรือเก็บเงินไว้ให้ลูกหลาน!
ธุรกิจบ้านพักคนสูงวัยของญี่ปุ่น
ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุโดยรวมในญี่ปุ่นในปี 2556 มีมูลค่าสูงถึง 8 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 2.56 ล้านล้านบาท มีการเติบโตเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลังถึง 10% รายได้ต่อปีเฉลี่ย 4.54 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 1.452 ล้านล้านบาท กำไรเพิ่มขึ้น 5.1% โดยมีผู้ให้บริการด้านนี้มากถึง 500-600 บริษัท
บริษัท โตเกียว มารีน นิชิโด ซามูเอล จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในธุรกิจนี้ มีผลประกอบการในอันดับที่ 21 มีศูนย์บริการหรือบ้านพักผู้สูงอายุ 2 แบรนด์ คือ ฮิลเดอมอร์ (Hyldemoer) และฮิลเต้ (Hutte) เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2543
ปัจจุบันมีศูนย์ดูแลผู้สูงอายุรวม 11 อาคาร รวม 498 ห้อง อยู่ในหลายเมืองทั้งโตเกียว คานาคาวา เกียวโต และนากาโน จับกลุ่มระดับบน (ไฮเอนด์) เป็นหลัก
ที่พูดถึงกลุ่มไฮเอนด์เพราะหลักเกณฑ์ของการเข้าอยู่ในบ้านพักคนชราแห่งนี้ต้องมีค่าแรกเข้า สำหรับฮิลเดอมอร์ มีค่าแรกเข้าขั้นต่ำประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนฮิลเต้ ประมาณ 5 ล้านบาท และมีค่าใช้จ่าย รายเดือนเฉลี่ยทั้ง 2 แห่งใกล้เคียงกันประมาณเดือนละ 100,000 บาท
อัตราค่าแรกเข้าที่แตกต่างกันมักจะขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่ห้องพักตั้งแต่ 20 ตารางเมตร จนถึง 120 ตารางเมตร จนถึงจำนวนคนที่ดูแล เช่น 1 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน หรือคนดูแล 3 คนต่อผู้สูงอายุ 1 คน อีกทั้งแต่ละตึกยังแบ่งระดับของผู้สูงอายุแบบช่วยเหลือตัวเองได้และช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ต้องมีการทำกายภาพบำบัด
ซึ่งในมุมมองของคนไทยอาจจะมองว่าสูงมาก แต่คนญี่ปุ่นที่ตัดสินใจจ่ายเงินก้อนนี้เขามองว่าเป็นการซื้อบ้านที่อยู่หลังสุดท้ายอย่างแท้จริง
ชีวิตบั้นปลายที่มีความสุข
“บ้านพักคนชรา” ที่ทางบริษัท โตเกียว มารีน นิชิโด ซามูเอล พาคณะสื่อมวลชนเข้าไปชม เป็น 2 อาคารในแบรนด์ฮิลเดอมอร์ สิ่งที่ได้สัมผัส เห็นได้อย่างชัดเจนว่า “น่าอยู่” “ปลอดภัย” และ “มีความสุข”
บรรยากาศภายในสร้างขึ้นเหมือนโรงแรม 5 ดาว ผู้สูงอายุแต่ละคนจะมีผู้ติดต่อประสานงานส่วนตัว ที่พยายามเข้าใจการดำเนิน ชีวิต ตั้งแต่วิถีชีวิต งานอดิเรก และของกินที่ชอบ มีการเสิร์ฟอาหารที่อร่อยและปลอดภัย และเสิร์ฟอาหารตามแต่ละเทศกาลในฤดูต่างๆ เพื่อสร้างให้เกิดความรู้สึกแปลกใหม่ โดยตกแต่งหน้าตาอาหารให้น่ารับประทานเหมือนกับอาหารปกติ
ขณะเดียวกัน มีการจัดกิจกรรมที่เหมาะกับความต้องการและความสนใจของผู้พักอาศัย เช่น จัดดอกไม้ คัดลายมือ งานศิลปะหัตถกรรม หรือคาราโอเกะ รวมทั้งมีการจัดงานเทศกาลต่างๆ เช่น งานไหว้พระขอพรปีใหม่ ชมดอกไม้ ชมดอกไม้ไฟ เทศกาลฤดูร้อน และปาร์ตี้ฉลองวันคริสต์มาส
นอกจากนี้ ยังมีชมรมต่างๆสำหรับผู้อยู่อาศัย เช่น ขับร้องประสานเสียง การแข่งขันแต่งโครงกลอน หมากล้อม จัดสวนและเล่นกล
สำหรับห้องพักมีความละเอียดอ่อน แม้กระทั่งพื้นห้องที่ปูด้วยไม้ซากุระเพื่อให้ความรู้สึกเหมือนอยู่กับบ้าน ภายในห้องพักมีทุกอย่างครบเหมือนโรงแรม 5 ดาว เช่น เตียงนอนอย่างดี โต๊ะกินน้ำชา โซฟา ทีวี เครื่องซักผ้าและห้องอาบน้ำ
สำหรับพื้นที่ส่วนรวม มีห้องโถงสำหรับนั่งพักผ่อน มีห้องออกกำลังกาย ห้องตัดผม ห้องอาบน้ำแร่ออนเซ็น
“ที่นี่มีทุกสิ่งที่ดูแลร่างกายและจิตใจของพวกเขา แม้กระทั่งตอนตายก็รับหน้าที่จัดพิธีศพให้แก่ผู้ล่วงลับภายในสถานดูแล ด้วยเพราะคนญี่ปุ่นนิยมทำพิธีศพที่บ้าน และเขาขอให้ทำพิธีศพที่นี่ เนื่องจากที่แห่งนี้เป็นบ้านหลังสุดท้ายของพวกเขาแล้ว”.
ทีมเศรษฐกิจ นสพ.ไทยรัฐ
ที่มา : www.thairath.co.th
- 814 views