“หมอปิยะสกล” เผย มติบอร์ด สปสช.อนุมัติแนวทางบริหารงบดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงในปี 59 ระบุเป็นปีแรกที่เริ่มเปิดงานเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ครม.ให้งบ 600 ล้านบาท ดูแลผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 1 แสนราย ก่อนขยายให้ครบ 1 ล้านรายในปี 61 ใช้กลไก เทศบาล/อบต. กองทุนสุขภาพตำบล เป็นฐานพร้อมการสนับสนุนของ รพ.สต./รพช.ดูแลสิทธิประโยชน์การแพทย์ เกิดเป็นศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชน และความร่วมมือจาก อปท.เพื่อดูแลบริการด้านสังคม มอบ สปสช.ประสาน กรมบัญชีกลาง สปส. ก่อนเสนอ ครม.เพื่อขยายให้ครบทุกสิทธิ

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2558 ณ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถ.แจ้งวัฒนะ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ประชุมได้มีการพิจารณากรอบแนวทางการบริหารงบค่าบริการสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ปี 2559

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2559 นี้จะเป็นปีแรกที่จะเปิดงานการดูแลผู้สูงอายุเป็นครั้งแรกเพื่อรองรับการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของไทย ซึ่งเริ่มต้นจากผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง หรือผู้สูงอายุติดบ้าน ติดเตียง ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ศักยภาพของครอบครัวในการดูแลผู้สูงอายุก็ถดถอยลง และระบบริการสาธารณสุขและสังคมที่ผ่านมาอยู่ในลักษณะตั้งรับ รพ.สามารถดูแลได้ในกลุ่มที่ไม่มีภาวะพึ่งพิง ส่วนกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพิงนั้นยังมีบริการจำกัด และมักเป็นไปในรูปแบบสงเคราะห์เป็นครั้งคราว ไม่ต่อเนื่อง ในปีงบประมาณ 2559 ครม.จึงอนุมัติงบ 600 ล้านบาทเพิ่มเติมจากงบเหมาจ่ายรายหัวให้ สปสช.ดำเนินการครอบคลุมผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียงจำนวนประมาณหนึ่งแสนคนหรือร้อยละ 10 ของกลุ่มเป้าหมายและจะขยายให้ครบทุกคนภายใน 3 ปี โดยยึดหลักการใช้ชุมชนเป็นฐานในการดูแลภายใต้การสนับสนุนทางวิชาการและบริการจาก รพ. ซึ่งเป็นบริการทางการแพทย์ ขณะเดียวกันก็จะบูรณาการกับงานช่วยเหลือทางสังคมที่ดำเนินการอยู่แล้วขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และงบจากกองทุนหลักประกันสุขภาพของ สปสช.ร่วมกับท้องถิ่นทั่วประเทศกว่าปีละ 500 ล้านบาท

นพ.ปิยะสกล กล่าวต่อว่า สำหรับงบ 600 ล้านบาทเพื่อบริการด้านการแพทย์ในปีแรกนั้น บอร์ด สปสช.เห็นชอบให้จัดสรร 100 ล้านบาทให้สถานพยาบาลปฐมภูมิ 1,000 แห่ง และ 500 ล้านบาทให้กองทุนหลักประกันสุขภาพของเทศบาลและ อบต.ขนาดใหญ่ทั่วประเทศ 1,000 แห่ง ในอัตรา 5,000 บาท/ผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง 1 รายต่อปี เพื่อจัดบริการตามชุดสิทธิประโยชน์ด้านการแพทย์ที่ได้กำหนดไว้ เช่น ตรวจคัดกรอง ประเมินความต้องการดูแล การเยี่ยมบ้าน สร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด อุปกรณ์เครื่องช่วยทางการแพทย์ ส่วนบริการด้านสังคมก็เป็นงบของ อปท. อยู่แล้ว เช่น บริการช่วยเหลือเบี้ยยังชีพ การปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน อุปกรณ์ช่วยเหลือทางสังคม กิจกรรมนอกบ้าน เป็นต้น

“มติบอร์ดฯ ยังได้มอบให้ สปสช.ประสานกรมบัญชีกลาง สำนักงานประกันสังคม และอาจต้องเสนอ ครม.เพื่อพิจารณาขยายสิทธิประโยชน์การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงนี้ให้ครบทุกสิทธิด้วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว

ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ รักษาการเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า จากการจัดสรรงบดังกล่าวจะทำให้เกิดศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุขึ้นในชุมชนที่มีผู้จัดการศูนย์ที่เป็นมืออาชีพ หรือ Care Manager และอาสาสมัครที่ผ่านการฝึกอบรมขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดูแลผู้สูงอายุ หรือ Care Giver ศูนย์นี้มีบทบาทจัดทำข้อมูลและแผนดูแลกลุ่มเป้าหมายเป็นรายคน ฝึกอบรมการให้บริการเชิงรุก และให้บริการเดย์แคร์ (Daycare) เพื่อฟื้นฟูและกิจกรรมบำบัด กลไกหลักในการดำเนินงานคือ เทศบาล/อบต.ซึ่งมีกองทุนสุขภาพตำบล และร่วมมือกับ รพ.สต.และ รพ.ชุมชนในพื้นที่ ปีแรกตั้งเป้าหมาย 10% หรือ 1 แสนราย ใน 1,000 ตำบล ปีที่ 2 หรือปี 2560 เป้าหมาย 50% หรือ 5 แสนราย ใน 5,000 ตำบล และปีที่ 3 หรือปี 2561 ครบ 100% หรือประมาณ 1 ล้านคน

นพ.ประทีป กล่าวต่อว่า ในปีแรกที่เริ่มดำเนินการนั้น มีการกำหนดตัวชี้วัดการดำเนินการ และตั้งเป้าหมายว่าต้องได้ผลผลิตจากการดำเนินงานคือ ผู้สูงอายุติดบ้านติดเตียง 1 แสนรายได้รับการดูแลตามชุดสิทธิประโยชน์ มีเทศบาลและ อบต.ขนาดใหญ่ 1,000 แห่ง รับผิดชอบบริหารระบบบริการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว มีศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ใช้เป็นฐานในการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน 1,000 แห่ง มีนักวิชาชีพของ อปท.ทำหน้าที่ Care Manager ประมาณ 1,000 คน มีอาสาสมัครทำหน้าที่เป็น Care Giver เพื่อดูแลผู้สูงอายุ ที่ผ่านการอบรมตามมาตรฐาน 10,000 คน และมีสถานพยาบาลปฐมภูมิในพื้นที่เข้าร่วม 1,000 แห่ง