รพ.บ้านเหลื่อม เปิดห้องผ่าตัดครั้งแรก หลังถูกปิดตายนานเกือบ 10 ปี ช่วยผู้ป่วยหญิงเหตุจำเป็นต้องทำหมัน แต่ไม่สามารถรับการรักษายัง รพ.ใหญ่ห่าง 100 กม.ได้ พร้อมเดินหน้าเปิดห้องผ่าตัดรักษาผู้ป่วยต่อ เพิ่มโอกาสผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา แถมช่วยลดความแออัดผู้ป่วยใน รพ.ขนาดใหญ่
“ห้องผ่าตัดโรงพยาบาลบ้านเหลื่อม” ถูกเปิดขึ้นอีกครั้งเพื่อทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วย หลังจากถูกปิดทิ้งร้างมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปี การกลับมาเปิดห้องผ่าตัดใหม่อีกครั้งนี้ เกิดจากความสัมพันธ์อันดีระหว่างหมอและคนไข้ ความวางใจของผู้ป่วยที่มีต่อ รพ.บ้านเหลื่อม และความเข้าใจของหมอต่อข้อจำกัดของผู้ป่วย นำมาสู่จุดเริ่มต้นของการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยที่นี่อีกครั้ง
นพ.อิทธิพล อุตมะปัญญา
นพ.อิทธิพล อุตมะปัญญา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านเหลื่อม จ.นครราชสีมา เล่าถึงที่มาของการกลับมาเปิดห้องผ่าตัดในครั้งนี้ว่า ช่วง 8 ปีที่ผ่านมานี้ โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ระดับ 30 เตียง ต่างปิดตายห้องผ่าตัดกันไปเกือบหมดแล้ว ยกเว้น รพช.ที่ตั้งอยู่ในถิ่นทุรกันดารจริงๆ และมีความจำเป็นต้องเปิดเท่านั้น ทั้งนี้เป็นผลกระทบจากกรณีการฟ้องหมอ รพ.ร่อนพิบูลย์ ที่ถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่าแพทย์ผิด เนื่องจากไม่มีความเชี่ยวชาญด้านการดมยาสลบ แม้ว่าศาลอุทธรณ์ กลับคำตัดสินว่า หมอไม่ผิด และจบคดีแล้ว โดยญาติผู้ป่วยยอมรับ และไม่ฎีกาต่อ แต่ยังเป็นกระแสทำให้หมอ รพช.ทั่วประเทศเลือกที่จะไม่ผ่าตัด โดยส่งผู้ป่วยไปรับการรักษายังโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) แทน เพราะกลัวถูกฟ้องร้องหากเกิดปัญหาในการรักษาภายหลัง
“รพ.บ้านเหลื่อมเองไม่ได้แตกต่างจาก รพช.อื่น ห้องผ่าตัดที่นี่ได้ถูกปิดตายเช่นกัน โดยในช่วงระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา กรณีของผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าตัด ทาง รพ.จะทำการส่งผู้ป่วยไปรับการรักษายัง รพ.ขนาดใหญ่แทน แม้ว่าจะอยู่ห่างไปถึงร้อยกิโลเมตร ซึ่งในช่วงเกือบ 2 ปี ที่ได้เข้ามาทำงานยัง รพ.บ้านเหลื่อมแห่งนี้ก็เป็นเช่นนั้น”
นพ.อิทธิพล เล่าต่อว่า แต่เนื่องจากที่ผ่านมามีกรณีผู้ป่วยหญิงรายหนึ่งจำเป็นต้องทำหมันหลังคลอดลูก ประกอบกับครอบครัวมีฐานะที่ลำบากมาก ทำให้มีข้อจำกัดและเป็นเรื่องยากที่จะเดินทางไกลกว่าร้อยกิโลเมตรเพื่อรับการผ่าตัดใน รพ.ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายและญาติติดตามดูแล จึงยินดีขอรับการผ่าตัดที่ รพ.บ้านเหลื่อมแทน โดยให้ความเชื่อมั่นกับหมอและทีมแพทย์ของ รพ.บ้านเหลื่อม
แต่ด้วย รพ.ซึ่งไม่มีการผ่าตัดผู้ป่วยมานานแล้ว แน่นอนว่าการเปิดผ่าตัดครั้งนี้ ย่อมต้องส่งผลต่อความมั่นใจของบุคลากรในทีม บางคนแม้เคยมีประสบการณ์ร่วมทีมผ่าตัดผู้ป่วยมาแล้ว แต่ก็ร่วม 8 ปีมาแล้ว และบางคนเพียงแค่ฝึกในช่วงเรียนเท่านั้น ยังไม่เคยร่วมผ่าตัดจริง จึงต้องให้ความมั่นใจให้กับทีมงานด้วย ดังนั้นจึงทำความเข้าใจบุคลากรในทีมก่อนถึงความจำเป็นของการผ่าตัดให้กับผู้ป่วยรายนี้ เน้นให้เห็นถึงประโยชน์ของผู้ป่วยที่จะได้รับ รวมถึงความมั่นใจของญาติที่มีให้กับ รพ. จึงเป็นที่มาของการเปิดห้องผ่าตัดของ รพ.บ้านเหลื่อมเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี
นพ.อิทธิพล กล่าวว่า การผ่าตัดผู้ป่วยรายนี้ผ่านไปด้วยดี ไม่มีปัญหา ก่อนมาอยู่ที่ รพ.บ้านเหลื่อมได้ผ่าตัดให้กับผู้ป่วยอยู่แล้ว ซึ่งการผ่าตัดทำหมันในทางการแพทย์ถือเป็นการผ่าที่ไม่ซับซ้อน และปกติ รพช.ทำได้อยู่แล้ว แม้แต่แพทย์ที่จบใหม่ซึ่งเรียนมา 6 ปีก็สามารถทำได้ และในอดีต รพช.ก็เคยให้บริการมาก่อน เพียงแต่หลังมีกรณี รพ.ร่อนพิบูลย์ ประกอบกับในทางกฎหมายได้กำหนดให้การผ่าตัดของแพทย์ต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผู้มีวุฒิบัตร ซึ่งเท่ากับว่าการผ่าตัดผู้ป่วยจะทำได้เฉพาะใน รพ.ใหญ่ จึงส่งผลให้หมอที่ให้การรักษาผู้ป่วยใน รพช.เลือกที่จะไม่ผ่าตัดให้กับผู้ป่วย เพราะกลัวปัญหาตามมาภายหลัง โดยส่งต่อผู้ป่วยไปรับการรักษายัง รพ.ใหญ่แทน
ทั้งนี้ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือ ยิ่งทำให้ผู้ด้อยโอกาสขาดโอกาสในการรักษาเพิ่มขึ้น แม้ว่า รพ.ใหญ่ จะมีศักยภาพและความพร้อมในการรักษาทุกด้าน แต่ผู้ป่วยต้องใช้เวลาและเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ทำให้เป็นปัญหา ขณะเดียวกันการพัฒนาระบบการแพทย์ในปัจจุบัน มองว่ามีแต่การทำให้แย่ลง เพราะเป็นการมุ่งพัฒนาให้เกิดความพร้อมและการบริการที่ต้องเป็นมาตรฐาน แต่ไม่ได้มองความพร้อมของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบททุรกันดารที่ต้องเข้าถึงการรักษา ซึ่งคนกลุ่มนี้ยังลำบากมาก
“การผ่าตัดนอกจากมองด้านความพร้อมตามมาตรฐานทางการแพทย์และวิชาชีพแล้ว เช่น ต้องมีแพทย์ มีหมอดมยา มีพยาบาลวิชาชีพ และเทคโนโลยีทางการแพทย์แล้ว ยังต้องมองในส่วนของประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วย ไม่ใช่ใช้การแพทย์มองปัญหาทางการแพทย์ และแก้ปัญหาด้วยวิธีทางการแพทย์ โดยไม่ได้มองปัจจัยอื่นๆ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ป่วยที่ต้องรับบริการ ซึ่งอาจส่งผลต่อการเข้าถึงการรักษาของผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดารได้” นพ.อิทธิพล กล่าว
นพ.อิทธิพล กล่าวต่อว่า หลังจากที่ รพ.บ้านเหลื่อมได้เปิดผ่าตัดครั้งแรกให้กับผู้ป่วยรายนี้ในรอบเกือบ 10 ปี ในวงวิชาชีพมีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนตัวยังคงยืนยันที่จะเปิดผ่าตัดผู้ป่วยต่อไป เพียงแต่ต้องดูผู้ป่วยเป็นกรณี พิจารณาจากความเสี่ยงและความคุ้มค่า นอกจากภาวะโรคแล้วคงต้องดูในส่วนผู้ป่วยด้วยว่า ผู้ป่วยที่มีความพร้อมเดินทางไป รพ.ใหญ่ได้หรือไม่ ประกอบกับหากไม่มีปัญหาค่าใช้จ่ายและค่าเดินทาง รพ.คงจะส่งต่อเช่นเดิม แต่ในส่วนของผู้ป่วยที่ลำบาก มีข้อจำกัดการเดินทางไปรับรักษายัง รพ.ใหญ่ คงต้องประเมินและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติก่อน
สำหรับมุมมองของชาวบ้านในพื้นที่ หลัง รพ.บ้านเหลื่อมได้กลับมาเปิดผ่าตัดให้กับผู้ป่วยนั้น นพ.อิทธิพล กล่าวว่า เสียงของชาวบ้านที่สะท้อนกลับมา ดูเหมือน รพ.จะมีศักยภาพในการรักษาและดูแลผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว รพ.ยังคงศักยภาพบริการเท่าเดิม เพราะในอดีต รพ.ได้ให้บริการผ่าตัดอยู่แล้ว เพียงแต่ได้ตัดบริการส่วนนี้ออกไปในภายหลัง ซึ่ง รพช.ทุกแห่งต่างมีความพร้อมในการผ่าตัดที่ไม่ซับซ้อนได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการทำคลอด การผ่าท้องคลอด การทำหมัน และผ่าตัดไส้ติ่ง เป็นต้น เพียงแต่ไม่มีแพทย์ดมยา และไม่มีแพทย์ซึ่งมีวุฒิบัตรผ่าตัดคอยควบคุม ทำให้ต่างกังวลต่อการฟ้องร้องในภายหลังหากเกิดปัญหาขึ้น
“การจะทำให้ รพช.กลับมาเปิดบริการผ่าตัดได้เช่นเดียวกับในอดีตนั้น วิธีแก้ปัญหาคือต้องสร้างความมั่นใจให้กับหมอ โดยเฉพาะกรณีการถูกฟ้องร้อง เพราะหมอต่างมีใจที่ต้องการรักษาและให้ผู้ป่วยหายขาดอยู่แล้ว รวมถึงการสร้างความสัมพันธ์ต่อผู้ป่วย ชาวบ้านและชุมชน โดยให้บริการเปรียบเสมือนคนในครอบครัวและญาติมิตร ซึ่งจะช่วยลดปัญหาลงได้” ผอ.รพ.บ้านเหลื่อม กล่าวและว่า ทั้งนี้หาก รพช.ทั่วประเทศเปิดผ่าตัดให้กับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น จะช่วยให้ผู้ป่วยแต่ละพื้นที่เข้าถึงการรักษาเพิ่มขึ้นและรวดเร็ว รวมถึงยังเป็นการการลดความแออัดของผู้ป่วยใน รพ.ใหญ่ ที่กำลังเป็นปัญหาเช่นกัน.
- 214 views