แอดมินเพจร้อยรวมใจชาว วสส. ชี้ ปัญหายุบรวมตำแหน่ง ขรก.สธ.เกษียณ เป็น “ชำนาญการพิเศษ” เพิ่มความก้าวหน้าวิชาชีพ แต่ทำอัตราบรรจุลูกจ้างชั่วคราวเป็น ขรก.ลดลง ส่งผลภาระงานเพิ่ม เสนอ รมว.สธ. เป็นเจ้าภาพ ดึง ก.พ.ร่วม เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ
น.ส.พิริยะ บุญทีไธสง เจ้าพนักงานสาธารณสุข ในฐานะแอดมินเพจ ร้อยรวมใจชาว วสส. กล่าวถึงการบรรจุตำแหน่งข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในส่วนของอัตราทดแทนตำแหน่งผู้ที่เกษียณอายุราชการ ว่า ในแต่ละปีจะมีตำแหน่งข้าราชการ สธ. จากผู้ที่เกษียณอายุราชการ โดยปีหนึ่งจะมีจำนวนมากพอสมควร เพื่อนำมาบรรจุให้กับตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราว รวมถึงในส่วนของตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพด้วย แต่ที่ผ่านมาในจำนวนตำแหน่งที่เกษียณเหล่านี้ ส่วนหนึ่งจะต้องถูกยุบรวมนำไปเพิ่มเติมในส่วนของตำแหน่งชำนาญการพิเศษ เพื่อเพิ่มความก้าวหน้าในสายวิชาชีพให้กับผู้ที่ขั้นการทำงานและเงินเดือนตันแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตำแหน่งเภสัชกรชำนาญการพิเศษ พยาบาลชำนาญการพิเศษ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชำนาญการพิเศษ เป็นต้น ซึ่งการยุบรวมเพื่อเพิ่มตำแหน่งในส่วนนี้ทำให้อัตราการบรรจุตำแหน่งใหม่ให้กับลูกจ้างชั่วคราวต้องถูกลดลงไปด้วย
น.ส.พิริยะ กล่าวว่า การยุบรวมตำแหน่งเกษียณเพื่อเพิ่มตำแหน่งชำนาญการพิเศษนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลให้อัตราการบรรจุตำแหน่งลูกจ้างชั่วคราวลดลง แต่ยังส่งผลให้อัตรากำลังเพื่อทดแทนผู้ที่เกษียณไปลดลงไปด้วย ทำให้ผู้ที่ยังคงอยู่ในระบบต้องรับภาระงานเพิ่มขึ้น ซึ่งในส่วนของโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากและมีเงินบำรุงมากพอก็อาจจ้างพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวมาทำงานเพิ่มเติมได้ แต่ในส่วนของโรงพยาบาลขนาดเล็กและมีเงินบำรุงไม่มากก็จะเป็นปัญหา เพราะนั่นหมายถึงภาระเงินเดือนและค่าใช้จ่ายที่โรงพยาบาลต้องรับภาระมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งนี้ปีนี้ สธ.ได้การประกาศหลักเกณฑ์คุณสมบัติผู้ที่จะขึ้นสู่ตำแหน่งชำนาญการพิเศษออกมาแล้ว โดยในส่วนสายวิชาการอาจต้องยุบรวม 2 ตำแหน่งเกษียณ เพื่อให้ได้ตำแหน่งใหม่เพื่อเพิ่มความก้าวหน้า ซึ่งก็เป็นกลุ่มที่น่าเห็นใจ เพราะบางคนเงินเดือนตันมานานแล้ว ควรมีการขยับเพิ่มขึ้นเช่นกัน นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างแรงจูงใจการทำงานให้กับผู้ปฏิบัติงานด้วย ส่วนจะมีการยุบรวมกี่ตำแหน่งหรือจะมีการบรรจุตำแหน่งข้าราชการเท่าไหร่นั้น คงต้องรอดูในเดือนมกราคมหรือเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาประกาศบรรจุของทุกปี
อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบวิชาชีพครูและตำรวจ แม้ว่าตำแหน่งจะตัน แต่ในส่วนของเงินเดือนกลับสามารถปรับขึ้นได้ ต่างจากบุคลากรในส่วนของ สธ. ที่หากขั้นไม่ขยับ เงินเดือนก็ไม่สามารถเพิ่มได้ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะงบประมาณในระบบ สธ.ที่มีอยู่อย่างจำกัด
“ถ้าเป็นครูหรือตำรวจ ถึงตำแหน่งจะตัน แต่เงินเดือนก็ยังเพิ่มขึ้น ขณะที่ในส่วนของ สธ.เข้าใจว่าคงมีข้อจำกัดใน งบประมาณการปรับเพิ่มเงินเดือนให้กับผู้ที่ตำแหน่งตันจึงทำได้ลำบาก จึงใช้วิธียุบรวมตำแหน่งเกษียณแทน แต่ก็ทำให้คนทดแทนเข้าสู่ระบบลดลง ทำให้คนหายไปจากระบบ ส่งผลต่อการทำงาน และน้องๆ ที่รอการบรรจุ” แอดมินเพจ ร้อยรวมใจชาว วสส. กล่าว และว่า ส่วนการบรรจุข้าราชการ สธ.รอบที่ 3 ตามมติ ครม.ปี 2555 จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า ซึ่งก็ไม่ทราบว่าติดในขั้นตอนใด
น.ส.พิริยะ กล่าวต่อว่า หากตำแหน่งการบรรจุข้าราชการของ สธ. ยังคงเป็นแบบนี้ เชื่อว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า พยาบาลวิชาชีพจะวิกฤตแน่นอน เพราะที่ผ่านมามีตำแหน่งพยาบาลที่เกษียณไปมาก แต่การบรรจุตำแหน่งกลับไม่ได้มาในจำนวนที่สามารถทดแทนกันได้ ซึ่งภาพรวมทั้งโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) น่าจะวิกฤตเหมือนกันหมด ขณะเดียวกันในส่วนของพยาบาลลูกจ้างชั่วคราวก็มีปัญหาการไหลออกไปภาคเอกชน เพราะรอคิวการบรรจุข้าราชการไม่ไหว ขณะเดียวกันยังเงินเดือนน้อยและภาระงานมาก
เมื่อถามว่ามองอย่างไรกับข้อเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) น.ส.พิริยะ กล่าวว่า เคยเห็นเป็นร่าง พ.ร.บ.เพื่อให้ สธ.อออกจาก ก.พ. สมัย นพ.ไพจิตร วราชิต เป็นปลัด สธ. แต่ก็เงียบหายไป ซึ่งไม่ทราบเป็นเพราะเหตุใด แต่เห็นว่าการออกจาก ก.พ.คงเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก และ ก.พ.เองก็คงไม่ยอม เพราะด้วยจำนวนบุคลากร สธ. ที่มีอยู่กว่า 300,000 คน ซึ่งจะทำให้บทบาทของ ก.พ. ลดลง และเรื่องนี้จนถึงขณะนี้จึงยังไม่มีการดำเนินการต่อ
“ทางออกเรื่องนี้ต้องดูภาพรวมทั้งหมดว่า ขณะนี้ในระบบมีปัญหาอะไรบ้าง เรามีปัญหาทั้งความก้าวหน้า ภาระงาน และภาระงบประมาณของหน่วยบริการ รวมถึงคุณภาพการบริการ ตรงนี้ต้องคุยกันโดยมีเวทีพูดคุยเพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหา ซึ่ง รมว.สาธารณสุขต้องเป็นเจ้าภาพ และดึง ก.พ.ในฐานะหน่วยงานที่ดูเรื่องบุคลากร สธ. เข้าร่วม และต้องเปิดใจคุยกัน นอกจากนี้ยังต้องดึงผู้บริหารหน่วยบริการทุกระดับเข้าร่วม เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบร่วมกันด้วย” น.ส.พิริยะ กล่าว
- 95 views