มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีมอบรางวัล พยาบาลจากแทนซาเนีย และซิมบับเว เป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ทางการการพยาบาล สาธารณสุข ในประเทศซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกาที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์
เว็บไซต์เดลินิวส์ : มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการพิจารณามอบรางวัลให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์จากทุกประเทศทั่วโลก ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ เห็นความสำคัญของบุคลากรผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่ได้ทุ่มเทชีวิตให้แก่การทำงาน ร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิต ด้านการสาธารณสุขของประชาชนให้ดีขึ้น และเพื่อเป็นพระราชานุสรณ์ เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี หรือ “สมเด็จย่า” ผู้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์
มูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการพิจารณามอบรางวัลให้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ จากทุกประเทศทั่วโลก ที่มีผลงานดีเด่นเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับชาติและระดับนานาชาติ มาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปีนับตั้งแต่ พ.ศ.2543 ปีที่จัดตั้งมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีฯ เนื่องในวโรกาส 100 ปี แห่งการเสด็จพระราชสมภพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี
ปีนี้ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีฯ เสด็จฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการมูลนิธิรางวัลสมเด็จพระศรีฯ ที่โรงแรมแมนดาริน โอเรียนเต็ล กรุงเทพฯ เมื่อบ่ายวันอังคารที่ผ่านมา เพื่อพิจารณาตัดสินผู้สมควรได้รับพระราชรางวัลสมเด็จพระศรีนคริน ทราบรมราชชนนี ประจำปี 2558 ซึ่งมีหน่วยงานด้านวิชาชีพการพยาบาล ได้แก่ สมาคมพยาบาล, สภาการพยาบาล และกระทรวงสาธารณสุขของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกนำเสนอประวัติและผลงานของผู้ประกอบอาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ที่มีคุณสมบัติเพื่อเข้ารับการพิจารณาจำนวน 38 ราย จาก 32 ประเทศ และผลการพิจารณาขั้นสุดท้ายมีมติเป็นเอกฉันท์มอบรางวัลให้พยาบาลวิชาชีพ 2 ท่าน ได้แก่ รศ.พอลลีน ปีเตอร์ เมลลา จากสาธารณรัฐแทนซาเนีย และ ดร.โรส จเอล นโลวู จากสาธารณรัฐซิมบับเว
ภาพหลังการประชุม รศ.ดร.ทัศนา บุญทอง รองประธานกรรมการ เลขาธิการมูลนิธิรางวัลฯ เผยว่า เนื่องด้วยผู้ที่ได้รับรางวัลเป็นผู้ที่ทำคุณประโยชน์ทางการการพยาบาล สาธารณสุข ในประเทศซึ่งอยู่ในทวีปแอฟริกา นอกจากเป็นประเทศที่มีความยากจนแล้วยังมีปัญหาเรื่องสุขอนามัยมากเช่นกัน แต่ทั้งสองท่านได้แก้ปัญหา พัฒนา และยกระดับการศึกษาการพยาบาล การบริการรักษาจนได้มาตรฐานและเป็นที่ยอมรับในระดับประเทศและนานาชาติ
สำหรับผู้ที่ได้รับรางวัล รศ.พอลลีน ปีเตอร์ เมลลา อายุ 73 ปี ชาวแทนซาเนีย ผู้พัฒนาหลักสูตรการศึกษาและริเริ่มสร้างโรงเรียนพยาบาลและผดุง ครรภ์หลายแห่งในประเทศเริ่มตั้งแต่ระดับอนุปริญญา ประกาศนียบัตรขั้นสูงและปริญญาตรี อีกทั้งก่อตั้งคณะพยาบาลแห่งแรกในมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สุขภาพมูฮิม บิลี หลังเกษียณได้ก่อตั้งคณะพยาบาลศาสตร์ในมหาวิทยาลัยเฮาร์เบิร์ทไครูกิ เมมโมเรียล และยังคงทำงานพัฒนาการศึกษาพยาบาลให้มีคุณภาพสูงขึ้น
ส่วน ดร.โรส จเอล นโลวู อายุ 76 ปี ชาวซิมบับเว เป็นนักพัฒนาวิชาชีพ นักการศึกษาและผู้นำทางการพยาบาล ผดุงครรภ์ มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาการศึกษาวิชาการพยาบาล ผดุงครรภ์จากระดับอนุปริญญาที่มีการเรียนการสอนในโรงพยาบาลสู่ระดับอุดมศึกษาทั้งในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ทำให้วิชาชีพการพยาบาลในประเทศซิมบับเวมีการพัฒนาก้าวหน้าและได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง.
ที่มา : http://www.dailynews.co.th
- 8 views