สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์จัดประชุมแพทย์ผิวหนังผู้เชี่ยวชาญหลายด้าน อาทิ แพทย์ฉายแสงรักษาโรคผิวหนัง ผู้เชี่ยวชาญโรคด่างขาว โรคผื่นแพ้สัมผัส และการรักษาฝ้า พร้อมโชว์ 3 เทคนิคการรักษาผู้ป่วยผิวหนังที่แตกต่างเฉพาะรายตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีมาตรฐาน ถูกต้อง และเหมาะสม พร้อมพัฒนางานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล โดยจัดตั้งห้องปฏิบัติการทางพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังให้มีคุณภาพและมาตรฐาน
วันนี้ (10 กันยายน 2558) ที่สถาบันโรคผิวหนัง กรุงเทพมหานคร นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดการประชุมวิชาการประจำปีของสถาบันโรคผิวหนัง ว่า สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์เป็นสถาบันหลักของประเทศในการดูแลปัญหาโรคผิวหนัง จากสถิติของกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556 โรคผิวหนังเป็นโรคที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 8 ทั่วประเทศ มีอัตราป่วย 98.64 ต่อประชากร 1,000 คน และจากสถิติผู้ป่วยที่มารับบริการที่สถาบันโรคผิวหนังเฉลี่ยวันละ 800 คน กรมการแพทย์โดยสถาบันโรคผิวหนังให้ความสำคัญต่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเฉพาะทางโรคผิวหนัง เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการมีคุณภาพและมาตรฐาน จึงได้จัดประชุมวิชาการสถาบันโรคผิวหนังขึ้น
เพื่อให้ผู้เข้าประชุมได้รับความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ด้านโรคผิวหนังที่ก้าวหน้า ทันสมัย และมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางคลินิกในกลุ่มโรคผิวหนังที่สำคัญและเป็นปัญหาทางเวชปฏิบัติ ซึ่งองค์ความรู้และเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีความก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา หากแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขมีโอกาสรับรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากขึ้น ย่อมเกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วยและประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ป่วยที่มารับการรักษาโรคที่เกี่ยวกับผิวหนังจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสม
พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวว่า เนื่องจากการวินิจฉัยโรคผิวหนังเป็นการตรวจเฉพาะด้านที่แตกต่างไปจากการตรวจวินิจฉัยโรคอื่นๆ ดังนั้น แพทย์ที่ทำการตรวจต้องมีความรู้ มีทักษะผ่านประสบการณ์
ฝึกปฏิบัติมามากมาย จึงสามารถตรวจวินิจฉัยโรคผิวหนังเฉพาะรายที่เหมาะสมได้ สถาบันโรคผิวหนังเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวจึงได้จัดประชุมวิชาการขึ้น โดยมีแพทย์ผิวหนังจากทั่วประเทศทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และแพทย์ที่สนใจเข้าร่วมประชุมจำนวน 180 คน ซึ่งมีหัวข้อการประชุมที่น่าสนใจ คือ การรักษาโรคผิวหนังที่แตกต่างเฉพาะรายตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย
โดยมีอาจารย์แพทย์ผิวหนังที่เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา อาทิ ผู้เชี่ยวชาญด้านการฉายแสงรักษาโรคผิวหนัง ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคด่างขาว ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาโรคผื่นแพ้สัมผัส ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาฝ้า รวมถึงการนำเสนอกรณีตัวอย่างผู้ป่วยที่น่าสนใจ เพื่อให้แพทย์ที่เข้าร่วมประชุมได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพผิวหนังแก่ประชาชน
นพ.เวสารัช เวสสโกวิท รองผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคผิวหนังที่แตกต่างเฉพาะรายตามสภาพปัญหาของผู้ป่วย เป็นสิ่งที่แพทย์ให้ความสำคัญเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะตัว การใช้ชีวิตประจำวัน
และความต้องการของแต่ละคนที่แตกต่างกัน เพื่อเลือกการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งในปัจจุบันการรักษาแบบเฉพาะรายเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการสาธารณสุขมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นการคัดเลือกการรักษาผู้ป่วยตามลักษณะปัจเจกบุคคลตามความต้องการ และความสะดวกของผู้ป่วยในทุกระยะของการดูแลรักษา รวมไปถึงการวินิจฉัย การป้องกัน การดูแลรักษา และการติดตามหลังการรักษา
การรักษาแบบเฉพาะบุคคล ในปัจจุบันมี 3 วิธี คือ การรักษาแบบแม่นยำ (precision medicine) แบบเฉพาะตัว (bespoke) และแบบใช้ผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง (preference) การรักษาแบบแม่นยำ เป็นการนำข้อมูลบางอย่างมาเป็นตัวตัดสินใจในการเลือกใช้การรักษาผู้ป่วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ การใช้ข้อมูลโรคผิวหนังที่เกิดจากพันธุกรรมบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ผิวหนัง โรคสะเก็ดเงิน โรคท้าวแสนปม เนื่องจากมีความสำคัญในด้านการพยากรณ์โรค การดูแลรักษา ตลอดจนการเฝ้าระวังภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ปัจจุบันได้นำการวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมมาใช้ทางคลินิก เพื่อทำนายความเสี่ยงต่อการแพ้ยาบางชนิด การวินิจฉัยการติดเชื้อรา โดยไม่ต้องรอเวลาเพาะเชื้อ ตลอดจนใช้ในการทำนายความเสี่ยงต่อการเกิดโรคผิวหนัง
การรักษาแบบเฉพาะตัว อาทิ เครื่องมือในการปรับขนาดอินสุลินสำหรับผู้ป่วยเบาหวานแบบพกติดตัวและฉีดอัตโนมัติ หรือการสร้างอวัยวะเทียมที่มีขนาดพอดีกับผู้ป่วยแต่ละราย
การรักษาแบบใช้ผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง หมายถึง เป็นการรักษาที่พิจารณาตามความสะดวกหรือความต้องการผู้ป่วยเป็นหลัก เช่น ผู้ป่วยเป็นโรคผิวหนัง บางคนอาจไม่อยากรับประทานยาหรือไม่อยากทายา จึงมีการเลือกใช้การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เป็นต้น
ทั้งนี้ สถาบันโรคผิวหนังมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนางานวิจัยด้านพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุลจึงได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการทางพันธุศาสตร์ระดับโมเลกุล และเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย อาทิ เครื่องเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่ เครื่องสกัดดีเอ็นเอ เครื่องถอดรหัสพันธุกรรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังให้มีคุณภาพและมาตรฐาน ดังนั้น การประชุมครั้งนี้ จึงเป็นการนำเสนอแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังที่แตกต่างเฉพาะราย และกรณีตัวอย่างที่น่าสนใจ แก่แพทย์ที่เข้าร่วมประชุม และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การรักษา เพื่อให้แพทย์ได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ในการรักษาและดูแลผู้ป่วยต่อไป
- 120 views