กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และเครือข่าย ร่วมกันพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของประเทศไทยและประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อให้มีระบบเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพที่มีคุณภาพ และร่วมกันแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันทั้งในระดับประเทศและระดับอาเซียน
พญ.มยุรา กุสุมภ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมสัมมนาเรื่อง การพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการเครือข่ายเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพระดับประชาคมอาเซียน ณ โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี ว่า จากการศึกษาวิจัยและเฝ้าระวังปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพของศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ปัญหาการดื้อยาต้านจุลชีพหรือยาปฏิชีวนะของเชื้อแบคทีเรียในประเทศไทยน่าเป็นห่วง เพราะเชื้อหลายชนิดมีแนวโน้มการดื้อยามากขึ้นเป็นลำดับ เช่น เชื้อสเตร็ปโตค็อกคัส นิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ทำให้เกิดโรคปอดอักเสบที่พบในเด็กไม่เกิน 5 ขวบ มีการดื้อยามากขึ้นโดยปี 2541 พบ 47% แต่ปี 2556 พบ 77.8% และเชื้ออีโคไล (E.coli) มีแนวโน้มดื้อยากลุ่ม carbapenems อย่างต่อเนื่อง
พญ.มยุรา กล่าวเพิ่มเติมว่า สถานการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพเป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วโลก ซึ่งหลายหน่วยงานในระดับโลกเห็นความสำคัญและต้องการแก้ปัญหา เช่น World Health Organization (WHO), Food and Agriculture Organization (FAO) และ World Organization for Animal Health (OIE) ทั้งสามหน่วยงานเน้นการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยาที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของคนและสัตว์ไปพร้อมๆกัน และเสริมสร้างความเข้มแข็งในการทำงานร่วมกัน โดยเสนอ Global Action Plan on Antimicrobial Resistance เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการให้กับประเทศต่างๆ ในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก
ในส่วนของภูมิภาคอาเซียนนั้น ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพเป็นประเด็นภายใต้เสาหลักด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC) ซึ่งดำเนินการภายใต้กรอบ Senior Officials Meeting on Health and Development (SOMHD) ซึ่งใน ASEAN Post-2015 Health Development Agenda แบ่งการทำงานออกเป็น 4 กลุ่ม โดยเชื้อดื้อยาอยู่ในกลุ่มระบบสาธารณสุขในการตอบสนองความเสี่ยงและโรคอุบัติใหม่ (Health system response to all hazard and emerging threats) เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานเรื่องปัญหาเชื้อดื้อยา
ประเทศไทยโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงจัดสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับนานาชาติ ด้านการพัฒนาศักยภาพห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน โดยมีการปรับพื้นฐาน ทบทวนความรู้และมาตรฐานใหม่ๆ รวมทั้งแลกเปลี่ยนเทคนิคการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพในภูมิภาคอาเซียน เพื่อร่วมกันหาแนวทางการแก้ไขปัญหาเชื้อดื้อยา
รศ.คลินิก พญ.วารุณี จินารัตน์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่าในเรื่องของการแก้ไขปัญหาเชื้อแบคทีเรียดื้อยาต้านจุลชีพ ด้านความมั่นคงทางสุขภาพของโลก (Global Health Security Agenda: GHSA) นั้น ได้มีการกำหนดชุดปฏิบัติการด้วยกันทั้งหมด 11 ชุด โดยประเทศไทยรับผิดชอบในประเด็นการป้องกันการดื้อยาต้านจุลชีพ (Prevention action package 1) ซึ่งมีหน่วยงานหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา สำหรับในมนุษย์จะมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นหลัก ประกอบด้วย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งมี WHO collaborating center และศูนย์เฝ้าระวังเชื้อดื้อยาต้านจุลชีพแห่งชาติ (NARST) เพื่อติดตามแนวโน้มการดื้อยาในภาพรวมของประเทศ นอกจากนี้มีกรมควบคุมโรค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข สำหรับในสัตว์จะมีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหลัก ประกอบด้วยกรมปศุสัตว์ กรมประมง สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ และยังมีหน่วยงานภาคประชาสังคม เช่น แผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) เป็นต้น
- 70 views