เขตสุขภาพที่ 9 “นครชัยบุรินทร์” จัดงานมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต “เด็กอัจฉริยะแสนดี” หลังผลสำรวจพบไอคิวเด็ก ป.1 ต่ำกว่ามาตรฐาน เร่งแก้ไขในกลุ่มหญิงมีครรภ์และเด็ก พร้อมพัฒนางานต่อเนื่อง เพื่อเด็กไทย “สูงดีสมส่วน ฟันไม่ผุ พัฒนาการสมวัย”
พญ.มยุรา กุสุมภ์
เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2561 ณ ลานวาไรตี้ฮอลล์ ชั้น 3 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ โคราช พญ.มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต “เด็กอัจฉริยะแสนดี” เขตนครชัยบุรินทร์ พ.ศ. 2561 โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวรายงาน, นพ.ยุทธนา พูนพานิช สาธารณสุขนิเทศ เขต 9 ผู้บริหารสาธารณสุขในเขตสุขภาพที่ 9 ผู้เข้าร่วมประกอบด้วยหญิงตั้งครรภ์ เด็กอายุ 0-5 ปี เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและภาคีเครือข่ายสุขภาพจาก 4 จังหวัดคือ นครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ ให้การต้อนรับ
พญ.มยุรา กุสุมภ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขมุ่งหวังพัฒนาให้เด็กไทยเจริญเติบโตเป็นเด็กสมบูรณ์ “เป็นเด็กดี มีทักษะชีวิต เด็กเก่งและสุขภาพที่ดี” ครบทั้ง 4 ด้าน เป็นเด็กไทย 4.0 นำสู่การเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพสูง เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศต่อไป ดังนั้นระยะ 1,000 วันแรกของชีวิตนับตั้งแต่ปฏิสนธิจนถึง 2 ขวบบริบูรณ์ จึงเป็นช่วงวัยทองของเด็กที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาสมองส่งผลต่อการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ
เขตสุภาพที่ 9 นครชัยบุรินทร์ร่วมกับกรมอนามัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน จึงได้จัดงานมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกของชีวิต “เด็กอัจฉริยะแสนดี” เขตนครชัยบุรินทร์ พ.ศ. 2561 ขึ้น เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้ครอบครัว ชุมชนและสังคมตระหนักถึงความสำคัญ ของการดูแลและเอาใจใส่ สร้างความผูกพัน ร่วมมือกันพัฒนาสุขภาพของสตรีตั้งครรภ์และเด็กอายุ 0-2 ปี ตลอดจนร่วมกันแก้ปัญหาและหาทางออกให้กับครอบครัว ซึ่งจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีมาตรฐานตามชุดสิทธิ์ประโยชน์ที่พึงได้รับ
ซึ่งนิทรรศการความรู้ การเสวนา และกิจกรรมต่างๆภายในงานครั้งนี้ จะช่วยสื่อสารถึงการยกระดับการดูแลด้านสุขภาพของหญิงตั้งครรภ์และเด็กที่ได้มาตรฐานสูง การส่งเสริมพัฒนาการเด็กด้วยกระบวนการ “กิน กอด เล่น เล่า” หารูปแบบการทำงาน ทั้งกิจกรรมทางสังคม และด้านสุขภาพในพื้นที่เขตเมือง ภายใต้บริบท คลินิกหมอครอบครัวและพื้นที่ชนบท ผสมผสานระหว่างกิจกรรมทางสังคมกับระบบสุขภาพแผนตะวันตก และประเพณีวัฒนธรรมของคนอีสานใต้ เช่น การรับขวัญเด็กตามแบบฉบับดั้งเดิม การฝึกสมาธิ ฝึกการเป็นพ่อแม่จิตประภัสสรตั้งแต่นอนอยู่ในครรภ์ ทำให้เกิดความเชื่อใจ ไว้วางใจการทำงาน เกิดความร่วมมือด้านสุขภาพในทุกด้าน จะช่วยส่งเสริมให้ทารกเจริญเติบโต เป็นเด็กไทย 4.0 ต่อไป
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 9 กล่าวเพิ่มว่า เขตสุขภาพที่ 9 ได้นำร่องโครงการดังกล่าว ใน 10 อำเภอ 10 ตำบล และคลินิกหมอครอบครัว 4 แห่ง ของเขตสุขภาพที่ 9 ตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากพบผลการสำรวจระดับสติปัญญาเฉลี่ยในเด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ในปี 2559 ของกรมสุขภาพจิต ว่า IQ เฉลี่ยทั้งเขต 96.58 และมีค่า IQ เฉลี่ยจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์และสุรินทร์ มีค่าเท่ากับ 96.25, 95.81, 98.60 และ 95.41 ตามลำดับ ซึ่งต่ำกว่าค่ามาตรฐาน ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อระดับ IQ และ EQ คือ พันธุกรรม โภชนาการและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้แก่ สภาพครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู ชุมชนและสังคม
เขตสุขภาพที่ 9 ได้จัดทำโครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต มีกรอบแนวคิดในการแก้ไขปัญหา โดยใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นฐาน (Family and Community-based) ตั้งต้นจากการสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันครอบครัว ครอบครัวจึงเป็นฐานในการปฏิบัติการสำคัญ สร้างให้ตระหนักในบทบาทหน้าที่ในการดูแล เอาใจใส่ ให้ความสำคัญกับสตรีตั้งครรภ์และเด็ก ในกรณีที่ครอบครัวไม่พร้อมจากปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม ภาคีเครือข่ายในชุมชนกลุ่มจิตอาสาต่างๆ จะมาทำหน้าที่สนับสนุน ให้ความช่วยเหลือ ซึ่งผลการดำเนินงานที่สำคัญ โครงการมหัศจรรย์ 1,000 วันแรกแห่งชีวิต เขตสุขภาพที่ 9 ในพื้นที่นำร่อง (เบื้องต้นตั้งแต่ 1 ก.ค. - 30 พ.ย.2560) ดังนี้
1.สตรีที่อยู่กินกับสามี และวางแผนจะตั้งครรภ์ 397 ราย ได้รับยาโฟเลททุกคน
2.สตรีตั้งครรภ์จำนวน 625 ราย ฝากท้องครั้งแรก เมื่ออายุครรภ์น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ร้อยละ 81.92 ได้รับยาเม็ด Triferdine ร้อยละ 99.24 และได้รับนมจืด 90 วัน 90 กล่อง ร้อยละ 72.58
3.เด็กแรกเกิดจำนวน 824 ราย น้ำหนักน้อยกว่า 2,500 กรัม ร้อยละ 8.25 และกินนมแม่ อย่างเดียว ร้อยละ 81.07
ทั้งนี้เขตสุขภาพที่ 9 เรามุ่งพัฒนางานอย่างต่อเนื่อง เพื่อเด็กไทย “สูงดีสมส่วน ฟันไม่ผุ พัฒนาการสมวัย”
- 215 views