ผู้ป่วยฟ้องศาล รพ.เอกชนตรวจเลือดผิด ผลแล็ปบอกเป็นเอชไอวี ทนทุกข์ทรมานกว่า 4 ปี แต่เมื่อไปตรวจใหม่ที่ รพ.เดิมกลับพบไม่มีเชื้อเอชไอวี แพทย์ให้คำตอบว่าร่างกายสามารถทำลายเชื้อได้เอง แถม รพ.ปัดความรับผิดชอบ ด้าน ‘ปรียนันท์’ วอน ‘หมอปิยะสกล’ นำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เข้า ครม.โดยเร็ว ลดการฟ้องร้องแพทย์-ผู้ป่วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นางปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ ได้โพสเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุถึงความผิดพลาดของการตรวจเลือดในห้องปฏิบัติการของแพทย์และโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังแห่งหนึ่ง โดยตรวจผิดว่าผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี จนนำไปสู่การฟ้องร้อง และศาลได้ตัดสินว่าแพทย์มีความผิดจนต้องจ่ายค่าเสียหาย แต่ปรากฎว่าโรงพยาบาลเอกชนกลับไม่มีความผิดใดๆ เลย
ล่าสุดนางปรียนันท์ กล่าวว่า เรื่องนี้สืบเนื่องจากมีผู้ป่วยมาร้องเรียนว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมจาก รพ.เอกชนแห่งหนึ่ง โดยมีการตรวจเลือดผิดพบว่าเป็นเอชไอวี และเข้าใจมาตลอดจนมาทราบทีหลังว่า ไม่ใช่ แต่กลับได้คำตอบจากแพทย์ รพ.นี้ว่า เป็นเพราะร่างกายผู้ป่วยล้างเชื้อเอชไอวีได้เอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย จึงนำไปสู่การฟ้องร้อง อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าว ความจริงเกี่ยวเนื่องกัน ผลแล็ปที่ออกมาถือเป็นความรับผิดชอบของ รพ.โดยตรง ส่วนการวินิจฉัยเป็นความรับผิดชอบของแพทย์ ซึ่ง รพ.ความรับผิดชอบด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีแพทย์นั้น เบื้องต้นได้หารือกับทางผู้เสียหายเห็นว่า ไม่ร้องต่อแพทยสภา เนื่องจากคงไม่มีประโยชน์
“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้เรารู้สึกว่า มาตรฐานการตรวจ มาตรฐานห้องแล็ปเป็นอย่างไรกันแน่ ทั้งๆ ที่เรื่องผลแล็ปสำคัญมาก เพราะส่งผลต่อทั้งชีวิตของคนไข้ โดยเฉพาะเชื้อเอชไอวี ที่รักษาไม่หาย เมื่อคนไข้รู้ผลย่อมเกิดความทุกข์และทรมานจิตใจอย่างแสนสาหัส ไม่กล้าแม้แต่จะไปตรวจซ้ำที่อื่นเพราะอับอาย กรณีนี้สะท้อนให้เห็นว่าแม้จะเป็น รพ.เอกชนชื่อดัง ก็ผิดพลาดได้ แต่เมื่อผิดพลาดแล้วกลับไม่มีความรับผิดชอบ ต้องให้ผู้เสียหายไปฟ้องศาลเอาเอง” นางปรียนันท์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าในฐานะประธานเครือข่ายฯ จะมีการผลักดันกฎหมายอะไรอีกหรือไม่ นางปรียนันท์ กล่าวว่า กรณีนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว ตนในฐานะประธานเครือข่ายฯ คงปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการ ซึ่งยังต้องสู้กันต่อไปในชั้นอุทธรณ์และฎีกา ไม่รู้อีกกี่ปีจึงจะสิ้นสุด เฉพาะศาลชั้นต้นก็ 3 ปีกว่าแล้ว หากมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้เสียหายฯ เชื่อว่ากรณีนี้จะจบลงอย่างรวดเร็วภายใน 1 ปี และความสัมพันธ์ระหว่างคนไข้กับ รพ.ก็คงไม่ไปจบลงที่การฟ้องร้องอย่างแน่นอน แต่ขณะนี้ไม่มีกฎหมายลักษณะนี้ จึงอยากวิงวอนถึงรัฐมนตรีว่าการ สธ.คนใหม่ ได้โปรดนำร่าง พ.ร.บ. เข้า ครม.ในเร็ววัน เพื่อลดปัญหาการฟ้องร้องระหว่างหมอกับคนไข้ เพื่อความสงบสุขของสังคมต่อไป
ด้านผู้ป่วยที่ได้รับความเสียหาย กล่าวเพียงว่า รู้สึกเสียใจและเสียความรู้สึกกับระบบเช่นนี้ เนื่องจากไปตรวจเลือดและพบว่าติดเชื้อเอชไอวี และเข้าใจเช่นนี้มาเป็นเวลา 4 ปี โดยไม่กล้าไปตรวจซ้ำที่อื่น ซึ่งตอนนั้นเพิ่งเลิกกับสามี ซึ่งค่อนข้างเจ้าชู้เลยเข้าใจว่าอาจติดจากสามีหรือไม่ แต่พอช่วงหลังๆ สังเกตอาการตัวเองแล้วทำไมถึงสุขภาพยังดีอยู่ จนมาตรวจกับแพทย์อีกท่านที่ รพ.เดิมกลับพบว่า ไม่มีเชื้อเอชไอวี และได้รับคำตอบจาก รพ.ว่าร่างกายตนเองสามารถทำลายเชื้อเอชไอวี หากเป็นเช่นนั้นจริง ทั่วโลกคงมาเอาเลือดไปทำยาแล้ว ซึ่งรู้สึกว่า รพ.ปัดความรับผิดชอบมาก กรณีแบบนี้เป็นการละเมิดสิทธิอย่างมาก
- 680 views