โรค ‘เอ๋อ’ หรือ ‘ภาวะปัญญาอ่อน’ อีกหนึ่งโรคที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในอนาคตของลูกน้อย ซึ่งหากรู้ถึงวิธีการป้องกันและได้รับการรักษาที่ทันท่วงที ลูกน้อยของคุณก็สามารถพ้นภัยโรคเอ๋อได้แน่นอน ดังนั้น เพื่อป้องกันการเกิดภาวะปัญญาอ่อนอย่างทันท่วงที ทารกแรกเกิดทุกคนจึงควรเข้ารับโปรแกรมการคัดกรองโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดทันทีภายหลังมีอายุครบ 48 – 72 ชั่วโมง โดยทีมแพทย์จะทำการวินิจฉัยเด็กโดยการเจาะเลือดจากส้นเท้าหรือหลังมือเพียงเล็กน้อย เพื่อส่งมาตรวจหากพบความผิดปกติที่บ่งชี้ลักษณะของอาการใดๆ ทางโรงพยาบาลจะติดตามทารกมาตรวจสอบซ้ำหรือเข้ารับการรักษาทันที
พญ.พิริยา จันทราธรรมชาติ นายแพทย์ปฏิบัติการประจำสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กล่าวว่า ช่วงเวลาของเด็กแรกเกิดจนถึงวัย 3 ขวบนับเป็นช่วงเวลาสำคัญ ที่คุณพ่อคุณแม่ต้องคัดสรรคุณภาพอาหารเพื่อให้ลูกน้อยได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน เพื่อการพัฒนาการที่ดีทั้งสมอง สติปัญญา และร่างกายส่วนต่างๆ ให้ก้าวสู่อนาคตที่สดใส แต่ยังมีเด็กกลุ่มหนึ่งที่ต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพราะโดนทำร้ายจาก ’โรคเอ๋อ’ หรือ ‘ภาวะปัญญาอ่อน’ ที่เกิดจากภาวะการขาดไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งเป็นสารสำคัญในการควบคุมอวัยวะต่างๆ ของร่างกายให้ดำเนินไปตามปกติ และกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตทั้งร่างกายและพัฒนาการ หรือที่เรียกว่า “โรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน (Hypothyroidism)” โดยจากการสำรวจเด็กแรกเกิด 3,000 –4,000 คน พบเด็กเพียง 1 คนเท่านั้น ส่วนใหญ่พบบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากความผิดปกติแต่กำเนิด เช่น เด็กที่ไม่มีต่อมไทรอยด์ หรือมีต่อมไทรอยด์ผิดตำแหน่ง และความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น การขาดสารไอโอดีน ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนในร่างกาย
ดังนั้น เพื่อการป้องกันการเกิดภาวะปัญญาอ่อนอย่างทันท่วงที ทารกแรกเกิดทุกคนจึงควรเข้ารับโปรแกรมการคัดกรองโรคพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแต่กำเนิดทันทีภายหลังมีอายุครบ 48 – 72 ชั่วโมง โดยทีมแพทย์จะทำการวินิจฉัยเด็กโดยการเจาะเลือดจากส้นเท้าหรือหลังมือเพียงเล็กน้อย เพื่อส่งมาตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข หรือศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ในเขตต่างๆ ซึ่งหากพบความผิดปกติที่บ่งชี้ลักษณะของอาการใดๆ ทางโรงพยาบาลจะติดตามทารกมาตรวจสอบซ้ำหรือเข้ารับการรักษาทันที
ซึ่งลูกน้อยที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรองเบื้องต้น คุณพ่อคุณแม่ควรสังเกตและตรวจอาการของลูกน้อยอย่างใกล้ชิดในช่วงอายุ 2 – 3 เดือนว่าเข้าค่ายในกลุ่มเสี่ยงที่จะเกิดโรคหรือไม่ อาทิ ภาวะตัวเหลืองนาน ท้องผูก ท้องอืด ดูดนมไม่ดี ลิ้นโต กระหม่อมกว้าง ซึ่งจะปรากฏอย่างชัดเจนและควรนำลูกมารับการรักษาอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง เพราะเด็กยังสามารถเจริญเติบโต รวมถึงมีพัฒนาการและสติปัญญาตามปกติได้เช่นกัน
นอกจากการตรวจคัดกรองโรคที่สามารถป้องกันความผิดปกติแต่กำเนิดแล้ว หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรยังต้องรับสารไอโอดีนในระดับที่เพียงพอต่อความต้องการของลูกน้อยเพื่อป้องกันความผิดปกติจากการขาดไอโอดีนด้วย ซึ่งองค์การอนามัยโลกแนะนำให้หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตรควรได้รับไอโอดีนอย่างน้อย 250 ไมโครกรัมต่อวัน และเด็กที่มีอายุน้อยกว่า 2 ปีควรได้รับไอโอดีนอย่างน้อย 90 ไมโครกรัมต่อวัน และเพิ่มเป็น 150 ไมโครกรัมต่อวันในช่วงวัยรุ่น เพื่อป้องกันโรคที่เกิดจากการขาดไอโอดีน เช่น โรคคอหอยพอก เป็นต้น
อย่างไรก็ตามจากผลสำรวจระดับไอโอดีนในปัสสาวะของหญิงตั้งครรภ์ทั่วประเทศไทยในปี พ.ศ. 2556 พบว่า หญิงตั้งครรภ์มากกว่าร้อยละ 50 มีค่าเฉลี่ยไอโอดีนในปัสสาวะต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานซึ่งบ่งบอกถึงภาวะขาดไอโอดีนที่มีผลต่อการเกิดภาวะปัญญาอ่อนของทารกแรกเกิดได้ ทางรัฐบาลจึงมีนโยบายให้สถานพยาบาลของรัฐทุกแห่งจ่ายยาเม็ดวิตามินรวม ซึ่งประกอบด้วยไอโอดีน ธาตุเหล็ก และกรดโฟลิกให้หญิงตั้งครรภ์ทุกคนตั้งแต่ฝากครรภ์จนถึงช่วงให้นมบุตรเป็นเวลา 6 เดือน ร่วมกับการรณรงค์การรับประทานเกลือเสริมไอโอดีนเพื่อลดภาวะขาดไอโอดีนในประชาชนอีกด้วย
นอกจากความผิดปกติจากการพร่องไทรอยด์ฮอร์โมนแล้ว ยังมีอีกหลายโรคที่คุณแม่ควรรู้และดูแลลูกน้อยตั้งแต่อยู่ในครรภ์ อาทิ ภาวะพร่องเอนไซม์ย่อยสลายกรดอะมิโนฟีนิลอะลานีน หรือโรคฟีนิลคีโตนูเรีย ที่หากพบความบกพร่องเหล่านี้ได้แต่เนิ่นๆ จะทำให้ทีมแพทย์สามารถหาวิธีดูแลรักษาได้อย่างเหมาะสม ซึ่งทำให้เด็กมีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรงและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย
- 4025 views