ชัดเจนว่าการมาของ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นอกจากมาสานต่อการเดินหน้าปฏิรูประบบสาธารณสุขแล้ว ยังมาแก้ปัญหาการทำงานระหว่าง สธ. และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่คั่งค้างในสมัยของ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อดีตรัฐมนตรีว่าการ สธ. ด้วยปมที่ค้างคาคือการจัดสรรเงินของ สปสช.ไปยังโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ทั่วประเทศ ที่มีรูปแบบใหม่คือ กระจายผ่าน "เขตสุขภาพ" แต่ข้อตกลงต่างๆ ระหว่าง 2 ฝ่ายยังไม่ลงตัว เพราะกองเชียร์ของแต่ละฝ่ายมีความคิดเห็นแตกต่าง
วันแรกที่ นพ.ปิยะสกล เข้ามาทำงานแทน นพ.รัชตะ นพ.ปิยะสกลได้ประกาศ ต่อที่ประชุมคณะผู้บริหาร สธ.ว่า "จะเข้ามา ช่วยกันคิด ช่วยกันทำงาน และหนึ่งในนโยบายที่ต้องการเดินหน้าคือ บูรณาการเขตสุขภาพโดยเฉพาะการทำงานระหว่าง สธ.และ สปสช. ต้องเดินหน้าอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อประชาชน" จึงชัดเจนว่า การมาครั้งนี้ของ นพ.ปิยะสกล เพื่อเป็น "กาวใจ" ให้ทั้งสองฝั่งทำงานด้วยกันได้เกิดคำถามว่า แล้วจากนี้ นพ.ปิยะสกลจะทำอย่างไร โดยเฉพาะการปรับกลไกการบริหารระบบการเงินการคลังและการจัดสรรงบในกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ระหว่าง สปสช.ในฐานะผู้ซื้อบริการแทนประชาชน และโรงพยาบาลในสังกัด สธ.ในฐานะผู้ให้บริการ
ในประเด็นการจัดสรรงบประมาณนั้น นพ.ปิยะสกล ในฐานะประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้กำชับในระหว่างตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายคณะแก่คณะผู้บริหาร สปสช.ว่า ให้พิจารณาที่มติบอร์ด สปสช.เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 โดยเฉพาะเรื่องการจัดสรรงบประมาณที่เบื้องต้นระบุว่า "เห็นควรให้จัดสรรงบผ่านเขตสุขภาพ (กลุ่มจังหวัด) การปรับปรุงองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการหลักประกันสุขภาพระดับเขตพื้นที่ (อปสข.)"
แต่ที่ยังไม่ชัดเจนคือ การบริหารงบของกลุ่มโรคเฉพาะ ซึ่งที่ผ่านมาโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) ต่างเรียกร้องให้ถอนรายการกลุ่มการผ่าตัดต้อกระจกและกลุ่มโรคหอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรัง เพราะมองว่าเป็นการแบ่งย่อยงบกองทุนมากเกินไป แต่ควรนำไปเพิ่มให้กับงบรายหัวมากกว่า ขณะที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพไม่เห็นด้วย เรื่องนี้ นพ.ปิยะสกลบอกว่า จากมติวันที่ 9 กุมภาพันธ์ จนถึงขณะนี้ 6 เดือนแล้ว ไม่ทราบว่าดำเนินการอะไรไปบ้าง แต่อยากให้ทั้ง สธ.และ สปสช.บูรณาการการทำงานร่วมกัน อะไรทำได้ทำทันที อะไรยังติดขัดให้หาทางออก แต่ที่แน่ๆ ต้องบริหารผ่านเขตสุขภาพ ส่วนรายละเอียดต่างๆ ต้องให้ชัดเจนก่อนวันที่ 1 ตุลาคมนี้ เพื่อให้การบริหารร่วมครั้งใหม่เริ่มได้ในปี 2559
สำหรับกลุ่มโรคเฉพาะ ทั้งการผ่าตัดต้อกระจกและโรคหอบหืดกับปอดอุดกั้นเรื้อรังนั้น นพ.ปิยะสกลระบุว่า เข้าใจว่า สปสช.ตั้งขึ้นเพื่อให้ลดการรอคิว เพราะเดิมผู้ป่วยสะสมมาก แต่เมื่อผู้ป่วยเข้าถึงบริการ การรอคิวลดลงเรื่อยๆ สุดท้ายการรักษาโรคเฉพาะเหล่านี้จะหายไปเองอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้ทราบว่าเรื่องหอบหืดและปอดอุดกั้นเรื้อรังเริ่มน้อยลงเรื่อยๆ และน่าจะเข้าสู่ระบบปกติในเร็วๆ นี้
ในการตรวจเยี่ยม สปสช. นพ.ปิยะสกลได้ขอให้ สปสช.เคลียร์ตัวเองโดยเฉพาะประเด็นความโปร่งใสกรณีที่ถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ตรวจสอบเรื่องการใช้งบประมาณผิดประเภท ซึ่งขณะนั้นกลายเป็นประเด็นให้หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงขั้นมีคำสั่งย้าย นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการ สปสช.ไปปฏิบัติราชการที่ สธ. เพราะเชื่อว่าหาก สปสช.เคลียร์ตัวเองได้ นพ.วินัยมีโอกาสได้กลับไปบริหาร สปสช.เช่นเดิม แต่เรื่องนี้สุดท้ายขึ้นอยู่กับการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นพ.ปิยะสกลบอกว่า ทุก 1 เดือน จะติดตามความคืบหน้าการทำงานร่วมของ สธ.และ สปสช. เพราะเชื่อว่า หากสามารถทำงานลงรอยกันได้จะบรรเทาความเห็นต่างของกองเชียร์ของทั้ง 2 ฝ่ายได้เช่นกัน
งานนี้ทั้งประชาคมสาธารณสุข ชมรมแพทย์ชนบท เครือข่ายคนรักหลักประกันสุขภาพ คงต้องให้เวลาหมอปิยะสกลพิสูจน์ฝีมือ !
ผู้เขียน : วารุณี สิทธิรังสรรค์ warunee11@yahoo.com
ที่มา : นสพ.มติชน ฉบับวันที่ 8 ก.ย. 2558 (กรอบบ่าย)
- 3 views