สปสช.แจงความคืบหน้าผลดำเนินตามมติบอร์ด สปสช.9 ก.พ. 58 ชี้ส่วนใหญ่ได้ข้อสรุปร่วม สธ.แล้ว ซึ่งได้ดำเนินการปรับแล้วในปี 58 และจะดำเนินการต่อในปีงบประมาณ 59 นี้ ทั้งตัดเงินเดือนด้วยตัวเลข GFMIS ประกันรายได้ขั้นต่ำให้หน่วยบริการ ปรับกองทุนเฉพาะให้กำหนดเป้าหมายระดับเขต โดยโรคหอบหืดจะเข้าสู่ระบบเบิกจ่ายปกติในปี 59 ตาต้อกระจกให้เขตร่วมกำหนดเป้าหมาย และจะหารือเพิ่มเติมกรณีตาบอดจากต้อกระจก ชี้ยังมีผู้ป่วยภาวะตาบอดจากต้อกระจกเข้าไม่ถึงการรักษา
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี ประธานกลุ่มภารกิจยุทธศาสตร์และการประเมินผล สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงการดำเนินตามมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558 ว่า ภายหลังจากที่บอร์ด สปสช.ได้มีมติดังกล่าวแล้ว สปสช.และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันทั้งที่ส่วนกลางและระดับเขต เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติบอร์ดใน 3 เรื่อง โดยมีความคืบหน้า ดังนี้
1.การใช้ตัวเลขเงินเดือน GFMIS (Government Fiscal Management Information System) ซึ่งเป็นข้อมูลกรมบัญชีกลาง สำนักงบประมาณ มาใช้ในการหักงบเหมาจ่ายรายหัวเพื่อส่งไปยังหน่วยบริการ โดย สปสช.จะดึงตัวเลขนี้โดยตรงจากกรมบัญชีกลางและได้มีการเริ่มใช้แล้วในช่วงที่ผ่านมา จากเดิมเป็นการใช้ตัวเลขที่กระทรวงสาธารณสุขนำส่ง ส่วนการแก้ไขปัญหาสภาพคล่องให้กับหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่กันดาร เสี่ยงภัย จากเดิมจะมีการกันงบเงินเดือนของหน่วยบริการ ร้อยละ 1 หรือประมาณ 600 ล้านบาทไว้ที่ส่วนกลางเพื่อใช้ในการปรับเกลี่ยระดับเขต แต่เนื่องจากในระดับจังหวัดเองประสบปัญหาเช่นกัน ดังนั้นจะมีกันงบเงินเดือนเพิ่มเติมอีกร้อยละ 2 ไว้ที่เขตเพิ่มเติมเพื่อให้มีเงินในการปรับเกลี่ยในระดับจังหวัดอีก
2.การประกันรายได้ขั้นต่ำของหน่วยบริการ โดยขอไม่ให้นำผลงานมาจับและดึงเงินคืน โดยในประเด็นนี้ขอชี้แจงว่า เดิมนั้น สปสช.ไม่เคยเรียกเงินคืนอยู่แล้ว เพียงแต่จะตามดูผลงานของหน่วยบริการ ซึ่งในกรณีที่ผลงานหน่วยบริการไม่ถึงงบประมาณที่โอนไปก็ให้ทำจนถึง ไม่มีการเรียกคืน แต่ทั้งนี้เมื่อมีการทักท้วง จึงจะทำการโอนงบประมาณร้อยละ 80 ไม่ว่าจะเป็นงบผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และงบส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคให้กับหน่วยบริการเลย ไม่ต้องดูผลงาน ส่วนงบประมาณที่เหลืออีกร้อยละ 20 จะกันมาไว้ที่ส่วนกลาง และในปลายปีจะพิจารณาจัดสรรไปตามผลงานของหน่วยบริการที่ทำเกินร้อยละ 80 ของงบที่โอนไปก่อนหน้านี้
“การจัดสรรงบในรูปแบบนี้เป็นข้อตกลงร่วมกัน การันตีจำนวนเงินที่หน่วยบริการนำไปใช้บริหารจัดการทั้งปี ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกเรียกคืน บางหน่วยบริการอาจมีการบริการที่ต่ำกว่างบที่ได้รับ แต่ก็ถือเป็นการช่วยกันระหว่างหน่วยบริการ แต่ก็จะไม่สามารถรับเพิ่มเติมในส่วนงบที่เหลือร้อยละ 20 นี้ได้” นพ.จเด็จ กล่าวและว่า ส่วนการปรับปรุงคณะทำงานระดับเขตนั้น หลังมติบอร์ด 9 ก.พ. 58 แต่ละเขตได้มีการตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่าง สธ.และ สปสช.เพื่อดูการตัดเงินเดือนและการยกเลิกการคืนเงิน นอกจากนี้ยังรวมถึงการปรับโครงสร้าง อปสข.ที่เพิ่มส่วนผู้ให้บริการมากขึ้น
3.การปรับกองทุนเฉพาะให้มีการกำหนดเป้าหมายระดับเขต ในปี 59 จะเหลือเพียงแต่การผ่าตัดตาต้อกระจกเท่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องให้บริการอยู่เพราะยังมีผู้ป่วยตาต้อกระจกที่รอการรักษา เดิม สปสช.ตั้งเป้าจำนวนการผ่าและบริหารที่ส่วนกลาง โดยจ่ายไปตามผลงานให้กับหน่วยบริการที่ทำการผ่าตาต้อกระจก แต่ที่ผ่านมามีการท้วงติงว่ามีการนำผู้ป่วยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับผ่าตัดมารับการรักษาด้วย ทำให้เกิดการรักษาที่เกินความจำเป็น ดังนั้นจึงมีข้อเสนอให้แต่ละเขตเป็นผู้จัดทำตัวเลขผู้ป่วยที่ต้องรับการผ่าต้อกระจกแทน เป็นการตั้งเป้าในระดับเขต อย่างไรก็ตาม สปสช.มองว่ายังมีผู้ป่วยต้อกระจกที่มีภาวะตาบอดอยู่มากที่ยังเข้าไม่ถึงการรักษา สำหรับในส่วนโรคหอบหืดนั้น ปี 59 ได้ยกเลิกการจัดงบประมาณเฉพาะโรคแล้ว โดยให้มีการเบิกจ่ายในระบบปกติ
นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลังจากที่บอร์ด สปสช.มีมติเมื่อวันที่ 9 ก.พ. เพื่อแก้ไขปัญหาการจัดสรรงบประมาณ สปสช.ไม่ได้นิ่งเฉย ที่ผ่านมาได้มีการทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เดินไปตามมติที่ได้เห็นชอบทั้งในระดับเขตและส่วนกลาง โดยได้ประสานกับ สธ.อย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาได้เชิญทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องร่วมหารือเพื่อนำไปสู่แนวทางปรับแก้ร่วมกัน ซึ่งหลายเรื่องได้ข้อยุติแล้ว ทั้งกรณีการตัดเงิน การเรียกเงินคืน เหลือเพียงการผ่าต้อกระจกเท่านั้นที่ต้องหารือเพิ่ม
- 7 views