การศึกษาจากประเทศสเปน เมื่อปี ค.ศ. 2014 เปรียบเทียบระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อการพัฒนาด้านจิตประสาทของลูกเมื่ออายุ 4 ขวบ พบว่าเด็กทารกที่ถูกเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวนานมากกว่า 6 เดือน เมื่อโตขึ้นจะมีพัฒนาการด้าน Executive Functions (EF) และพัฒนาการด้านอื่นๆ ดีกว่าเด็กที่เลี้ยงด้วยนมแม่แบบระยะสั้นๆ

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นอกจากให้อาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการให้กับลูกแล้ว ยังทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในของสมองแม่ ทำให้แม่มีพฤติกรรมของความเป็นแม่ซึ่งส่งผลดีต่อการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนลูกด้วยความรักความผูกพัน ช่วยลดความเครียด ทำให้แม่ผ่อนคลายและมีความสุขกับการเลี้ยงลูก ขณะเดียวกัน Oxytocin จากน้ำนมแม่ยังถูกส่งต่อไปยังลูกน้อยไปช่วยสร้างสมองของลูกให้พร้อมต่อการมีพัฒนาการที่ดีรอบด้านทั้ง IQ, EQ และ EF

Executive Functions (EF) เป็นการทำงานระดับสูงของสมองที่ควบคุมความคิด การตัดสินใจ และการกระทำส่งผลให้บุคคลมุ่งมั่นทำสิ่งต่างๆ จนสำเร็จตามเป้าหมาย ในเด็กเล็กทักษะสำคัญที่เป็นองค์ประกอบหลักของ EF คือ ความจำขณะทำงาน การยับยั้งอารมณ์ความคิดและการกระทำ การเปลี่ยนความคิดเมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป / ความยืดหยุ่นทางความคิด การควบคุมอารมณ์ และการวางแผนการจัดการ ทักษะเหล่านี้มีความสำคัญในการที่บุคคลจะกำหนดเป้าหมาย วางแผนการทำงาน เริ่มลงมือทำโดยไม่ต้องมีคนบอก มุ่งมั่นกับงาน รวมทั้งการประเมินปรับปรุงการทำงานให้ดีขึ้น เด็กที่มีทักษะ EF ที่ดีจะประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเรียน การทำงาน และการอยู่ร่วมกับผู้อื่น

EF เป็นตัวบ่งบอกถึงความพร้อมทางการเรียนมากกว่าระดับสติปัญญา (IQ) ส่งผลต่อการเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน ผู้ที่มี EF ดีจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน การทำงาน มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดี

พัฒนาการของ EF จะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ในวัยเด็กเล็กและพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ จนถึงวัยรุ่น โดยทักษะด้านความจำขณะทำงานจะพัฒนาเร็วกว่าด้านอื่น คือจะเริ่มพัฒนาตั้งแต่ช่วงปลายขวบปีแรกและจะพัฒนาดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเด็กโตขึ้น ในช่วงปฐมวัยเด็กจะเริ่มพัฒนาทักษะด้านการยับยั้งพฤติกรรมและการควบคุมอารมณ์ เริ่มคิดแบบยืดหยุ่นและปรับเปลี่ยนความคิดได้ดีขึ้นเรื่อยๆ EF จะพัฒนาเต็มที่เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่จากนั้นเมื่อเข้าสู่วัยชราก็จะเริ่มเสื่อมลงตามวัย

การพัฒนา EF นอกจากจะขึ้นกับการพัฒนาสมองส่วนหน้าสุดแล้ว ยังขึ้นกับปัจจัยพื้นฐานที่แตกต่างกันของเด็กแต่ละคน สิ่งแวดล้อมในครอบครัวและวิธีการเลี้ยงดูของพ่อแม่ (โดย รศ. ดร.นวลจันทร์ จุฑาภักดีกุล ศูนย์วิจัยประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล ม.มหิดล)

“นมแม่” ลดความก้าวร้าวในเด็ก ป้องกันปัญหาสังคม

ผลการศึกษาระยะยาวของประเทศต่างๆ พบว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วยในพัฒนาการด้านสมาธิ อารมณ์ สังคม และสุขภาพจิตในเด็ก เป็นปัจจัยป้องกันปัญหาทางสังคมและความก้าวร้าวที่พบในเด็กวัยรุ่น โดยมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาที่ให้นมแม่  การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เกิน 6 เดือนหรือนานกว่านั้นจะเป็นตัวทำนายปัญหาสุขภาพจิตในเด็กและวัยรุ่น โดยกลุ่มที่ให้นมแม่ระยะสั้นจะมีปัญหามากกว่า และการศึกษายังพบว่าเด็กที่ถูกเลี้ยงดูด้วยนมแม่ 6 เดือนหรือมากกว่านั้นขึ้นไป มีปัญหาพฤติกรรม ด้านอารมณ์ ลดลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ถูกเลี้ยงด้วยนมผสม (โดยพญ.รัตโนทัย พลับรู้การ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี)

สถานการณ์การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในประเทศไทย

ผลการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (Multiple Indicator Cluster Surveys: MICS) โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติด้วยการสนับสนุนขององค์การยูนิเซฟในปี พ.ศ. 2555 พบว่าอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกคลอด อยู่ที่ร้อยละ 12.3 ซึ่งต่ำสุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจากการศึกษาพัฒนาการเด็กปฐมวัยไทย ปี 2558 โดยกรมอนามัย พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวมีเพียงร้อยละ 27.6 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกที่มีอัตราอยู่ที่ร้อยละ 39 (ข้อมูลจาก unicef)

สำหรับประเทศไทยตั้งเป้าหมายให้ทารกแรกคลอดได้กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน ไว้ที่ร้อยละ 45 ในปี พ.ศ. 2568

ปัญหาและอุปสรรคต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

อุปสรรคสำคัญที่ทำให้แม่ไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ 6 เดือน คือ การทำงาน โดยเฉพาะแม่ที่ต้องออกมาทำงานนอกบ้านทั้งในระบบและนอกระบบ 

ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ เดือนมกราคม 2557 มีผู้หญิงทำงาน มากถึงร้อยละ 45.25 หรือคิดเป็นจำนวน 37.79 ล้านคน ซึ่งในกลุ่มสตรีเหล่านี้เมื่อเป็นแม่ หลังคลอดลูก ส่วนใหญ่จะรีบกลับมาทำงาน  ระยะเวลาของการที่แม่จะให้นมลูกได้เต็มที่จะเป็นช่วงระยะลาคลอดเท่านั้น คือ 90 วัน แต่ก็มีแม่บางคนกลับมาทำงานก่อนครบวันลาคลอด* ด้วยเหตุผลว่า

ไม่อยากขาดรายได้ร้อยละ 37.8

เกรงใจเพื่อนร่วมงานร้อยละ 24.3

นายจ้างตามตัวให้กลับไปทำงานร้อยละ 18.9

เพื่อรักษาตำแหน่งร้อยละ 18.2 

อื่นๆ ร้อยละ 10.8 

กลัวไม่ได้ขึ้นเงินเดือน หรือ ถูกลดโบนัสร้อยละ 2.7

(* ข้อมูลจาก IHPP)

จากเหตุผลดังกล่าวทำให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่สามารถเป็นไปได้เต็มที่ ประกอบกับมีการตลาดของบริษัทนมผสมอย่างกว้างขวาง ทำให้แม่หันไปใช้นมผสมเป็นทางเลือกทดแทนนมแม่ โดยเฉพาะถ้าสถานที่ทำงานไม่จัดสิ่งแวดล้อมให้เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เช่น การมีห้องหรือมีมุมนมแม่ (breastfeeding room, breastfeeding corner) การให้แม่พักให้นมหรือให้บีบน้ำนมเก็บให้ลูกได้ระหว่างการทำงาน  (breastfeeding break) ซึ่งต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐทั้งเชิงนโยบาย และทางกฎหมาย  และจากสถานที่ทำงาน

การสนับสนุนด้วยนโยบายจากภาครัฐ

1.กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่อเนื่อง มีโครงการที่ปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่สำคัญ

การควบคุมการตลาดผลิตภัณฑ์อาหารทารกทดแทนนมแม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2524 (ปัจจุบันกำลังอยู่ในขั้นตอนผลักดันประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่องหลักเกณฑ์ว่าด้วยการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2551 ให้เป็นพระราชบัญญัติ)

โครงการโรงพยาบาลสายสัมพันธ์แม่ลูก พ.ศ. 2535 

โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานงานอนามัยแม่และเด็ก พ.ศ. 2550 

โครงการตำบลนมแม่ พ.ศ. 2553

2.กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เป็นหน่วยงานกำกับดูแลสถานประกอบกิจการให้นายจ้างปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน

พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2558 “ให้ลูกจ้างหญิง (ผู้ประกันตน) มีสิทธิได้รับเงินสงเคราะห์การหยุดงานเพื่อการคลอดบุตร เป็นการเหมาจ่ายไม่เกิน 2 ครั้ง ในอัตราครั้งละร้อยละ 50 ของค่าจ้างเฉลี่ยเป็นระยะเวลา 90 วันคุ้มครองแรงงานหญิงที่มีครรภ์ (Maternal protection) มีสิทธิลาคลอดบุตรไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับค่าจ้าง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2551 “ให้ลูกจ้างหญิงมีครรภ์ มีสิทธิลาคลอดบุตรครรภ์หนึ่งไม่เกิน 90 วัน โดยได้รับค่าจ้างตลอดระยะเวลาที่ลา แต่ไม่เกิน 45 วัน”

ดำเนินงานโครงการส่งเสริมการจัดตั้งมุมนมแม่ในสถานประกอบกิจการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549 เป็นต้นมา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้ นายจ้าง ลูกจ้าง เห็นความสำคัญของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ลูกจ้าง และบุตร สร้างขวัญกำลังใจ ในการปฏิบัติงาน ให้แก่ลูกจ้างในหน่วยงาน ลดปัญหาการลาป่วย มาทำงานสาย ขาดงาน และเป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้าง

ในปี พ.ศ. 2553 ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง ความร่วมมือการสนับสนุนการจัดสวัสดิการแรงงานการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในสถานประกอบกิจการระหว่างภาคีเครือข่าย 8 หน่วยงานได้แก่ กระทรวงแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กรมอนามัย กรุงเทพมหานคร  องค์การยูนิเซฟประเทศไทย องค์การอนามัยโลกประเทศไทย และมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย เพื่อประสานความร่วมมือ ในการขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานประกอบกิจการ ปัจจุบันมีสถานประกอบกิจการที่มีมุมนมแม่มากกว่า 1,000 แห่ง

ประกาศกระทรวงแรงงาน ขอความร่วมมือสถานประกอบกิจการ อนุญาตให้ลูกจ้างชายลาไปช่วยเหลือภริยาที่คลอดบุตรได้ แต่ทั้งนี้ จำนวนวันลาให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของนายจ้าง

จากการที่กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมจัดตั้งมุมนมแม่ ตั้งแต่ปี 2549 - ปัจจุบัน มีสถานประกอบกิจการที่จัดตั้งมุมนมแม่ ทั้งสิ้น 1,230 แห่ง มีลูกจ้างใช้บริการมุมนมแม่ จำนวน 8,876 คน สามารถลดค่าใช้จ่ายของลูกจ้างได้ประมาณ 213,024,000 บาท (โดยคิดคำนวณจากลูกจ้างที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างต่ำ 6 เดือน ประมาณการค่าใช้จ่ายในการซื้อนมผสม 4,000 บาท ต่อเดือน)

2.กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมูลนิธิศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในสถานรับเลี้ยงเด็กอ่อนเอกชนในพื้นที่กรุงเทพมหานครตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 รวมทั้งขอความร่วมมือสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ของจังหวัด ส่งเสริมให้จัดมุมนมแม่หรือห้องนมแม่ในสถานรับเลี้ยงเด็กเอกชนที่มาขออนุญาตจัดตั้ง

บทบาทของสถานพยาบาล

การสนับสนุนในระบบบริการสุขภาพ สถานบริการภาครัฐ ได้แก่โรงพยาบาลทุกระดับ มีการปฏิบัติตามบันไดสิบขั้นสู่ความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในโรงพยาบาล ตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก / ยูนิเซฟ บูรณาการเรื่องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่สู่มาตรฐานงานอนามัยแม่และเด็กในโรงพยาบาลเชื่อมโยงกับชุมชน มีคลินิกนมแม่ในทุกโรงพยาบาล

คลินิกนมแม่ในโรงพยาบาล  เป็นหน่วยบริการที่ให้การปรึกษา ช่วยเหลือ แก้ไขปัญหาให้แม่ทั้งขณะอยู่ในโรงพยาบาล และเมื่อกลับบ้านไปแล้ว  เป็นสถานที่สำคัญในการฝึกสอนแม่ในวิธีการบีบน้ำนมเก็บตุนไว้ในเวลาที่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน และฝีกสอนผู้ช่วยเลี้ยงดูเด็ก เป็นหน่วยบริการที่สามารถทำงานเชื่อมโยงกับสถานที่ทำงานที่แม่ทำงานอยู่ได้

บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปกป้อง ส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  การฝึกอบรมแก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องทั้งด้านองค์ความรู้และทักษะ จะช่วยสร้างความมั่นใจ ให้บุคลากรในการ ให้ความรู้ ให้การปรึกษาแนะนำ สนับสนุนช่วยเหลือแม่  สร้างความมั่นใจให้แก่แม่ในการตัดสินใจและ หาวิธีการที่จะทำให้ลูกได้กินนมแม่จนประสบความสำเร็จ

สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.thaibreastfeeding.org