ร.พ.รามา ร่วมมือสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์เปิดตัวแอพพลิเคชัน "rama appointment" เพิ่มช่องทางให้คนไข้แจ้งเลื่อนนัดหมอผ่านสมาร์ทโฟน ระบุช่วยอำนวยความสะดวก 24 ชั่วโมง-ลดเวลา ตั้งเป้าผู้ป่วยนอก 20% จาก 5-7 พันคนต่อวันโหลดใช้งาน เล็งต่อยอดเชื่อมต่อระบบตรวจสอบรับบริการสิทธิรักษาพยาบาล

นพ.ไพโรจน์ บุญคงชื่น รองผู้อำนวยการศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่าคณะแพทยศาสตร์ ร.พ.รามาธิบดี ร่วมกับสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดตัวแอพพลิเคชัน rama appointment เพิ่มช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้ใช้บริการกับโรงพยาบาล โดยสามารถดูนัดและเลื่อนนัดหมายได้ด้วยตนเองผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเลต รวมทั้งลดระยะเวลาการขอรับบริการ ยกตัวอย่างเช่นหลังเข้ารับการตรวจจากแพทย์ ผู้รับบริการกลับบ้านได้เลยโดยไม่ต้องรอรับบัตรนัดใหม่

"ขณะนี้ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตน์ มีปริมาณผู้ป่วยนอกเข้ามารับบริการราววันละ 5-7 พันคน ขณะที่ขั้นตอนการเลื่อนนัดยุ่งยาก และบุคลากรของโรงพยาบาลมีจำกัด ไม่สามารถรองรับการให้บริการเลื่อนนัดได้ทั้งหมด โดยก่อนหน้านี้ได้ทดลองทำระบบคอลล์เซ็นเตอร์ แต่ละวันมีผู้เข้ามาใช้บริการเป็นพันคอลล์  แต่ก็ยังไม่เพียงพอ โดยมีข้อจำกัดนอกเวลาราชการคนไข้ไม่สามารถใช้บริการได้ ทั้งนี้การเปิดบริการแอพพลิเคชัน  rama appointment นั้นผู้ใช้สามารถใช้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยแต่ละแผนกของโรงพยาบาล จะมีพยาบาลดูแล และตอบกลับการเลื่อนนัด”

นพ.ไพโรจน์ กล่าวว่าเบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้ป่วยนอกราว 10-20% ของจำนวนผู้ป่วยนอกทั้งหมด มีการใช้งานแอพพลิเคชันดังกล่าว ซึ่งโรงพยาบาลจะมีการประเมินผลภายในระยะเวลา 2-3 เดือน โดยหากไปได้ดี จะมีการพัฒนาต่อยอดบริการแอพพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนและแท็บเลตต่อไป อาทิ บริการตรวจสอบสิทธิการรักษาพยาบาล ที่ผู้รับบริการต้องถูกรับรองสิทธิ โดยจะเชื่อมโยงข้อมูลกับฐานข้อมูลผู้รับได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลกับฐานข้อมูลกลางของกระทรวงสาธารณสุข

นอกจากการดูนัด-เลื่อนนัดหมาย ผู้ใช้บริการยังสามารถใช้กรอกข้อมูลและโต้ตอบกับเจ้าหน้าที่พยาบาลได้ทันที สำหรับการใช้บริการนั้นผู้ใช้บริการสามารถดาวน์โหลดแอพพลิเคชัน rama appointment ทั้งอุปกรณ์ที่เป็น ไอโอเอส  ผ่านทางแอพสโตร์ และแอนดรอยด์ ผ่านทางกูเกิลเพลย์สโตร์ หรือดาวน์โหลดจากศูนย์กลางแอพพลิเคชันภาครัฐ (GAC-Government Application Center) ของอีจีเอ หลังจากนั้นสามารถลงทะเบียนสมัครสมาชิก

โดยผู้ใช้บริการที่มีประวัติเป็นผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาธิบดีและประชาชนทั่วไป สามารถสมัครสมาชิกเพื่อใช้บริการ โดยการยืนยันข้อมูลบุคคลกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร และใช้ข้อมูลสำหรับการตรวจสอบ ดังนี้ 1. เลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก 2. ชื่อ 3. นามสกุล และ 4. ชื่อบิดา และ ชื่อมารดา โดยในระยะแรกนี้การสมัครสมาชิกสงวนสิทธิ์เฉพาะคนไทยเท่านั้น เนื่องจากระบบจะทำการตรวจสอบ (Verify) ข้อมูลได้เฉพาะกับทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง

นายอาศิส อัญญะโพธิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาและจัดการแอพพลิเคชัน สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ อีจีเอ กล่าวว่า โรงพยาบาลรามาธิบดีถือเป็นโรงพยาบาลรัฐแห่งแรกที่นำแอพพลิเคชันดังกล่าวมาใช้งาน ทั้งยังมีวิสัยทัศน์ในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการกับประชาชน โดยแอพพลิเคชันดังกล่าวถือเป็นการพัฒนาร่วมระหว่างโรงพยาบาลรามาธิบดี กับอีจีเอ ซึ่งหากกระแสตอบรับดี พร้อมเปิดให้โรงพยาบาลอื่นนำไปใช้งาน

"อีจีเอเริ่มเข้ามาคุย กับ รพ.รามาธิบดี ในการพัฒนาแอพพลิเคชันบนสมาร์ทดีไวซ์ โดยดูจากปัญหาที่ รพ.ประสบอยู่ ซึ่งที่ผ่านมา รพ.รามาธิบดี มีผู้เข้ามาใช้บริการ 5-7 พันคนต่อวัน ทำให้บริการเลื่อนนัดพบแพทย์ค่อนข้างยุ่งยาก จึงได้ร่วมกันพัฒนาแอพพลิเคชัน rama appointment ขึ้นมา โดยใช้เวลา 7-8 เดือน ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถแจ้งเลื่อนนัดหมอ แจ้งเวลานัดหมายใหม่  ดูตารางการนัดหมายกับหมอ รวมไปถึงสามารถตั้งค่าการแจ้งเตือนการพบหมอล่วงหน้า" นายอาศิส กล่าว