เดอะคอนเวอร์เซชั่น : ในช่วงปี 2542-2543 รัฐบาลแอฟริกาใต้ทุ่มเงินกว่า 212.6 ล้านดอลลาร์จ้างพยาบาลผ่านบริษัทนายหน้าเพื่อทำงานในภาคการบริการสาธารณสุขของรัฐ โดยในช่วงเวลาดังกล่าวมีตัวเลขรายจ่ายในการจ้างพยาบาลจากบริษัทนายหน้าตั้งแต่ต่ำกว่า 5.2 ล้านดอลลาร์ในจังหวัดเอ็มพูมาลังกา จนถึง 50.92 ล้านดอลลาร์ในจังหวัดอิสเทิร์นเคป

แต่จากการตรวจสอบโดยผู้เขียนและคณะพบว่า ในปีงบประมาณดังกล่าวสามารถจ้างพยาบาลวิชาชีพแทนพยาบาลผ่านบริษัทนายหน้าได้กว่า 5,300 คน

วิชาชีพพยาบาลกำลังขาดแคลนอย่างหนัก บางคนวิ่งรอกทำงานหลายที่ บางคนทำงานล่วงเวลา ในขณะที่อีกจำนวนไม่น้อยก็รับงานผ่านบริษัทนายหน้า ภาพประกอบจาก Jon Hrusa/EPA

นโยบายจ้างพยาบาลผ่านบริษัทนายหน้าเป็นผลจากปัญหาสะสมทั้งการขาดแคลนพยาบาล พยาบาลขาดงาน ความบกพร่องในแผนการรองรับผู้ป่วย รวมถึงการที่พยาบาลไม่มีส่วนร่วมกำหนดตารางเข้าเวรหรือการดูแลในหอผู้ป่วย   

นอกจากนี้บริษัทนายหน้าพยาบาลก็เป็นช่องทางให้พยาบาลรับงานเสริมในช่วงกลางคืน เพราะพยาบาลสามารถทำควบคู่กับงานประจำในโรงพยาบาลรัฐหรือเอกชน  โดยบริษัทนายหน้าก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบว่าพยาบาลมีสัญญาจ้างกับหน่วยงานอื่นหรือไม่

ปัญหาต่อการพยาบาล

การจ้างพยาบาลผ่านบริษัทนายหน้าในประเทศแอฟริกาใต้นั้น อีกทางหนึ่งก็เป็นดัชนีที่ชี้ให้เห็นการขยายตัวของวิกฤติวิชาชีพพยาบาลในแอฟริกาใต้ที่ตกอยู่ในวังวนของปัญหาทั้งจำนวนบุคลากรไม่เพียงพอ ขาดแคลนพยาบาลชำนาญการ (เช่น งานผู้ป่วยวิกฤติ) และบุคลากรที่เริ่มมีอายุมากขึ้น อีกทั้งการกระจายกำลังคนก็ไม่เท่าเทียมกันระหว่างเขตเมืองและชนบท และระหว่างโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

ภาคการสาธารณสุขของแอฟริกาใต้เผชิญกับปัญหาใหญ่ทั้งในด้านการผลิต สรรหา และฝึกอบรมบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาลซึ่งมีสัดส่วนกว่าร้อยละ 70 ของบุคลากรสาธารณสุข ประกอบด้วยพยาบาลวิชาชีพซึ่งผ่านการเรียนหลักสูตร 4 ปี   พยาบาลเทคนิค (enrolled nurse) ซึ่งผ่านการเรียนหลักสูตร 2 ปี และผู้ช่วยพยาบาลซึ่งผ่านการเรียนหลักสูตร 1 ปี

สถิติจากสภาการพยาบาลแอฟริกาใต้เผยให้เห็นว่า การผลิตพยาบาลยังไม่เพียงพอต่อความต้องการพยาบาลและผดุงครรภ์เพื่อรองรับอุปสงค์ด้านสาธารณสุขและการบริการ ปัญหาการขาดแคนพยาบาลวิชาชีพอย่างรุนแรงในบริการสาธารณสุขทุกระดับของแอฟริกาใต้ปะทุขึ้นเมื่อปี 2543 ซึ่งแม้ว่ามีพยาบาลวิชาชีพขึ้นทะเบียนกับสภาการพยาบาลแอฟริกาใต้ในปีนั้นกว่า 3,500 คน แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ประเมินว่ายังคงขาดแคลนพยาบาลวิชาชีพอีกถึง  44,780 ตำแหน่ง นอกจากนี้สถิติของสภาการพยาบาลยังได้ชี้ให้เห็นปัญหาในการผลิตพยาบาลชำนาญการซึ่งมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่าการจัดสรรกำลังคนของพยาบาลระหว่างเขตเมืองและเขตชนบทถือว่ากระจายได้ทั่วถึงกว่าเมื่อเทียบกับบุคลากรสาธารณสุขในสายงานอื่น เช่น แพทย์ แต่ปัญหาการจัดสรรกำลังคนอย่างเท่าเทียมระหว่างเขตเมืองและเขตชนบทก็ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ในแอฟริกาใต้ โดยเห็นได้จากเมื่อปีที่ผ่านมา จังหวัดเกาเต็งและเวสเทิร์นเคปมีพยาบาลวิชาชีพรวมกัน 1,234 คน แต่  3 จังหวัดในพื้นชนบทได้แก่ จังหวัดลิมโปโน นอร์ธเวสต์ และนอร์เทิร์นเคป มีพยาบาลวิชาชีพรวมกันเพียง 501 คนเท่านั้น นอกจากนี้กำลังคนที่เริ่มมีอายุมากขึ้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าเป็นห่วง ตามที่ประเมินว่าพยาบาลวิชาชีพที่มีอายุ 50 ปีหรือมากกว่ามีสัดส่วนสูงถึงกว่าร้อยละ 43

กิจกรรมหลังงานประจำ

วิกฤติการพยาบาลในแอฟริกาใต้ยังไม่จบเพียงเท่านั้น เพราะพยาบาลยังหันไปรับงานเสริมหลังงานประจำด้วยการรับเวรกะกลางคืน ทำงานล่วงเวลา หรืองานผ่านบริษัทนายหน้า การที่พยาบาลโหมทำงานในอีกทางหนึ่งก็ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานจนลามไปถึงคุณภาพการดูแลผู้ป่วย ผลกระทบต่อระบบสาธารณสุขที่เห็นได้ชัดก็รวมถึงการที่พยาบาลเข้าเวรในสภาพเหนื่อยล้าและบางครั้งก็ขาดงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งลดทอนคุณภาพการดูแลผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ข้อมูลเกี่ยวกับการควบเวรกลางคืนและการทำงานผ่านบริษัทนายหน้าในประเทศแอฟริกาใต้และประเทศแถบตอนล่างของทะเลทรายสะฮารามีอยู่ไม่มากนัก การศึกษาโดยผู้เขียนและคณะจึงนับเป็นการสำรวจแบบตัดขวางในกลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่เป็นครั้งแรกที่ศึกษาการรับงานผ่านบริษัทนายหน้า ควบเวรกลางคืน และการทำงานล่วงเวลาของพยาบาลในแอฟริกาใต้    

การสำรวจประเมินด้วยแบบสอบถามจากพยาบาล 3,784 คนในโรงพยาบาล 80 แห่งใน 4 จังหวัดของแอฟริกาใต้ โดยครอบคลุมพยาบาลในหอผู้ป่วยวิกฤติ ห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องคลอด ตลอดจนหอผู้ป่วยทั่วไปและหอผู้ป่วยศัลยกรรมทั้งในโรงพยาบาลรัฐและเอกชน

ข้อมูลจากการสำรวจชี้ว่า เกือบร้อยละ 70 ของพยาบาลที่ตอบแบบสอบถามควบเวรช่วงกลางคืน ทำงานล่วงเวลา หรือรับงานผ่านบริษัทนายหน้าในช่วง 1 ปีก่อนเริ่มการสำรวจ และในจำนวนนี้มีพยาบาลราว 1 ใน 5 ที่รับงานทั้ง 3 ประเภท และการทำงานในลักษณะนี้ทำกันแพร่หลายในระบบสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ดีพบว่า พยาบาลในสังกัดโรงพยาบาลเอกชนมีสัดส่วนการควบเวรกลางคืนสูงกว่าพยาบาลสังกัดโรงพยาบาลรัฐ และพยาบาลหน่วยวิกฤติควบเวรกลางคืนมากกว่าพยาบาลหน่วยสูติกรรม นอกจากนี้พบว่า จังหวัดเกาเต็งอันเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของประเทศมีพยาบาลควบเวรกลางคืนมากกว่าจังหวัดอื่น และพยาบาลราวร้อยละ 40 เคยทำงานผ่านบริษัทนายหน้าในช่วง 12 เดือนก่อนการสำรวจ

ลักษณะการทำงานดังกล่าวในหมู่พยาบาลส่งผลเสียอย่างรุนแรงต่อระบบสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ครึ่งหนึ่งของพยาบาลที่ตอบแบบสอบถามเปิดเผยว่ารู้สึกอ่อนเพลียเกินกว่าที่จะทำงานและร้อยละ 10 ยอมรับว่ามีความสนใจต่อภารกิจงานพยาบาลน้อยลง ในด้านการลางานพบว่า พยาบาลร้อยละ 10 ขอลาป่วยทั้งที่ไม่ได้ป่วยจริง และอย่างน้อยร้อยละ 10 ขอลากิจเพื่อไปรับงานของนายหน้าหรือควบเวรกลางคืน และอีกราวร้อยละ 10 ยอมรับว่ามีปัญหาตารางงานชนกันระหว่างงานประจำและงานเสริม

แม้พยาบาลส่วนใหญ่ให้เหตุผลถึงการทำงานเสริมเพื่อการดูแลผู้ป่วย เรียนรู้ทักษะใหม่ หรือเนื่องจากความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนร่วมงาน แต่กว่าร้อยละ 70 เห็นตรงกันว่ารายรับที่เพิ่มขึ้นก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง นอกจากนี้เกือบ 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสอบถามชี้ว่ามีแผนจะลาออกภายใน 1 ปีหลังการศึกษา โดยเห็นชัดเจนที่สุดในกลุ่มพยาบาลที่ควบเวรกลางคืน

พลิกสถานภาพ

การที่งานหน่วยวิกฤติจำเป็นต้องพึ่งพาพยาบาลผ่านบริษัทนายหน้า และตัวเลขการควบเวรกลางคืนที่สูงในหมู่พยาบาลหน่วยวิกฤติสูง สะท้อนให้เห็นความต้องการพยาบาลชำนาญการทั้งในภาคโรงพยาบาลรัฐและเอกชน โดยผู้เขียนเห็นว่าจำเป็นจะต้องกำหนดกรอบการรับงานเวรกลางคืนของพยาบาลและจัดระเบียบบริษัทนายหน้าพยาบาล ขณะเดียวกันองค์กรพยาบาลวิชาชีพก็ต้องปรับปรุงแนวทางการสนับสนุนและแนะแนวสำหรับพยาบาลให้ดีขึ้น

นโยบายปฏิรูปสาธารณสุขฉบับใหม่จะผลักดันให้ความต้องการพยาบาลวิชาชีพชำนาญการยิ่งสูงขึ้นไปอีก แต่ในขณะเดียวกันความบกพร่องด้านบรรทัดฐานและมาตรฐานของแอฟริกาใต้จะทำให้ยากต่อการประเมินการขาดแคลนบุคลากรและจำนวนพยาบาลที่ต้องการในแต่ละกลุ่มงานตามสภาพการณ์จริง ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่การร่างบรรทัดฐานและมาตรฐานบุคลากรจะต้องได้รับการบรรจุเป็นนโยบายเร่งด่วนของแอฟริกาใต้

เกี่ยวกับผู้เขียน :

ลาติเทีย ริสเพล (Laetitia Rispel) ผู้บริหาร The School of Public Health จาก University of the Witwatersrand

ขอบคุณที่มา : เว็บไซต์เดอะคอนเวอร์เซชั่น