“พยาบาลสถาบันเด็กแห่งชาติฯ” ไอเดียเจ๋ง ประดิษฐ์ “วงล้อ lean เวลาบริหารยาเคมีบำบัด” ช่วยผู้ป่วยมะเร็งได้รับยาเคมีบำบัดตรงเวลา ส่งผลการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ ลดความยุ่งยากและภาระงานพยาบาลได้ เผยเป็นนวัตกรรมมีชีวิต หลัง 8 ปี ถูกหยิบยกแสดงผลงานประดิษฐ์ ซ้ำได้รับการติดต่อเป็นต้นแบบทำแอพพลิเคชั่นเพื่อขยายผลการใช้งานทั่วประเทศ
น.ส.แพรวดาว พันธุรัตน์ และ น.ส.อารีรัตน์ ฉวีธรรมวัฒน์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ผู้ร่วมกันคิดค้นนวัตกรรม “วงล้อ lean เวลาบริหารยาเคมีบำบัด” เป็นเครื่องมือในการให้ยาเคมีบำบัดสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งได้นำผลงานแสดงในงานมหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมทางการแพทย์ที่ผ่านมา โดย น.ส.แพรวดาว ได้เล่าถึงที่มาของการคิดประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ ว่า เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เป็นพยาบาลวิชาชีพประจำอยู่ที่แผนกที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง ซึ่งมีหน้าที่สำคัญคือต้องคอยให้ยาเคมีบำบัดแก่ผู้ป่วยมะเร็งที่เข้ารับการรักษา และการให้ยาเคมีบำบัดนี้จะต้องให้ยาแก่ผู้ป่วยตรงตามเวลาที่กำหนด การบำบัดรักษาจึงจะมีประสิทธิภาพ ทั้งการทำลายและควบคุมเซล์มะเร็งได้อย่างตรงเป้า การให้ยาเคมีบำบัดนี้มีทั้งการให้ยาซ้ำ 24, 36 และ 48 ชั่วโมง เป็นต้น โดยในอดีตจะใช้วิธีการคำนวณด้วยการบวกจำนวนชั่วโมงที่ผู้ป่วยต้องได้รับยาครั้งต่อไป ดูเวลาในปฏิทิน เพื่อให้ได้วันและเวลาในการรับยาเคมีบำบัดของผู้ป่วยมะเร็งครั้งต่อไปที่มีความยุ่งยากมาก ประกอบกับผู้ป่วยที่รับยาเคมีบำบัดมีหลายสิบราย ทำให้มีความเสี่ยงและโอกาสในการผิดพลาดได้สูง
น.ส.แพรวดาว กล่าวว่า จากปัญหางานประจำที่ซ้ำซากจึงคิดว่าจะมีวิธีใดที่ช่วยในการคำนวณการให้ยาเคมีบำบัดกับผู้ป่วยได้ง่าย มีประสิทธิภาพ และไม่ผิดพลาด ซึ่งยอมรับว่าใช้เวลาคิดและคลุกอยู่กับปัญหานานมาก จนในที่สุดได้คิดความคิดขึ้นมาว่า หากมีตารางวันและเวลาเพื่อใช้ในการคำนวณก็จะลดปัญหานี้ลงได้ จึงได้ทดลองเขียนแบบขึ้นมาและขอให้ทางแผนกงานเวชนิทัศน์ของโรงพยาบาลช่วยออกแบบให้ จึงได้วงล้อ lean เวลาบริหารยาเคมีบำบัดอย่างที่เห็น โดยมีทั้งวงล้อที่เป็นการคำนวณวันและวงล้อที่คำนวณเวลา ทำให้การคำนวณการให้ยาเคมีบำบัดทำได้ง่ายและช่วยลดภาระงานลงได้
ทั้งนี้มีคำกล่าวว่า “ความจำเป็น เป็นมารดาแห่งการประดิษฐทั้งปวง” วงล้อ lean เวลาบริหารยาเคมีบำบัดก็เกิดจากคำกล่าวนี้ เป็นงานประดิษฐ์ที่ช่วยแก้ไขปัญหางานประจำที่ต้องประสบอยู่เป็นประจำ จึงคิดออกมาได้ ไม่ได้เป็นการคิดเพื่อต้องการรางวัลหรือชื่อเสียงแต่อย่างใด ซึ่งนอกจากช่วยลดภาระงานให้กับพยาบาลที่ต้องให้ยาเคมีบำบัดแล้ว ยังเป็นการช่วยผู้ป่วยมะเร็งให้ได้รับยาเคมีบำบัดตรงเวลา ส่งผลที่ดีต่อการรักษา และยังช่วยประหยัดงบประมาณรักษาพยาบาลของประเทศ ช่วยลดการสูญเสียยาเคมีบำบัดจากการให้ยาที่ไม่ตรงเวลา ทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพ
“เราจมอยู่กับปัญหาทุกวัน คิดว่าทำอย่างไรให้สามารถคำนวณการให้ยาเคมีบำบัดได้ไวและไม่ผิดพลาด เรียกว่าเป็นปัญหาที่ถูกสะสมทุกวัน ประกอบกับความต้องการในการหาทางออก และไม่ยอมปล่อยให้ปัญหามันผ่านไป จึงทำให้คิดวิธีคำนวณจนได้นวัตกรรมนี้ออกมาอย่างที่เห็น” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชชินี กล่าวและว่า หลังจากประดิษฐ์วงล้อ lean เวลาบริหารยาเคมีบำบัด ได้เรียนต่อปริญญาโทและออกจากแผนกให้ยาเคมีบำบัด ปรากฎว่าหลัง 8 ปีผ่านมา ทางคณะกรรมการนวัตกรรม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติฯ ได้เก็บตกผลงานที่มีการคิดค้นขึ้นและยังมีการใช้งานอยู่ เรียกว่าเป็นนวัตกรรมมีชีวิต ซึ่งก็มีวงล้อการคำนวณเวลาให้ยาเคมีบำบัดนี้รวมอยู่ด้วย ทำให้ทราบว่างานที่ได้คิดขึ้นมานี้ยังมีการใช้ประโยชน์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่คาดคิดมาก่อน
น.ส.แพรวดาว กล่าวต่อว่า ในงานวันนักประดิษฐ์แห่งชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่านมา ได้นำวงล้อ lean เวลาบริหารยาเคมีบำบัดไปร่วมแสดงด้วย ไม่เพียงแต่ได้รับความสนใจจากนักเรียน นักศึกษาที่เข้าดูงาน แต่ยังได้รับการติดต่อจากอาจารย์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเพื่อขอนำไปดัดแปลงให้นักศึกษาจัดทำเป็นแอพพลิเคชั่นในสมาร์ทโฟน ซึ่งตนก็ยินดีเพราะจะทำให้นวัตกรรมนี้เป็นที่แพร่หลายและสะดวกต่อการใช้งานมากขึ้นในกรณีที่ต้องมีการปรับระยะห่างของเวลาให้ยา ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากขึ้นเพียงแต่ขอให้ยังคงรูปแบบวงล้อนี้เท่านั้น นอกจากนี้ที่ผ่านมาสถาบันเด็กแห่งชาติมหาราชินีมีนักศึกษาเข้าอบรมและดูงานจำนวนมาก และได้เห็นการใช้งานวงล้อ lean นี้ เชื่อว่าน่าจะมีการขยายนำไปใช้งานยังโรงพยาบาลต่างๆ เช่นกัน แต่อาจมีการปรับใช้ในรูปแบบที่ต่างออกไป ซึ่งไม่เพียงแต่จำกัดเฉพาะการให้ยาเคมีบำบัดเท่านั้น แต่อาจนำไปใช้กับการให้ยาและการดูแลผู้ป่วยในด้านอื่นๆ ได้
“งานประดิษฐ์ชิ้นนี้ต้องบอกว่ามันมากกว่าความภูมิใจ เราเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์กับคนไข้ และป้องกันความคลาดเคลื่อนให้ยาเคมีบำบัดได้มาก เป็นการช่วยผู้ป่วยมะเร็งให้ได้รับการรักษาเคมีบำบัดที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งประเทศไทยลงทุนค่ารักษามะเร็งมากมาย แต่หากกระบวนการให้ยาผิดพลาดอาจทำให้การรักษาไม่มีประสิทธิภาพได้ ผู้ป่วยเสียโอกาสในการรักษา นอกจากนี้ยังเพิ่มความมั่นใจให้กับพยาบาลในการคำนวณเวลาให้ยาเคมีบำบัดกับผู้ป่วย” พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชชินี กล่าว
- 518 views