นพ.ปิยะสกล มอบ 8 นโยบายขับเคลื่อน สธ.แจงไม่เห็นมีความขัดแย้ง มีแต่เห็นต่าง ถ้านำมารวมกัน น่าจะทำให้เกิดความสำเร็จ พร้อมตั้งอดีต ขรก.สธ.เกษียณเป็นทีมงาน แจงไม่มีเวลาฮันนีมูน จึงต้องใช้ทีมงานรู้งาน ระบุใน 1-2 สัปดาห์นี้ จะไปรับฟังแต่ละหน่วยงาน ว่าทำอะไร กำลังจะทำอะไร และทำแล้วมีประโยชน์ต่อประชาชนอย่างไร เผย ไม่ได้ขอมา แต่เมื่อมาแล้วจะทำให้ดีที่สุด
วันนี้ (24 สิงหาคม 2558) เวลา 09.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ โดยมี นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีทุกกรม ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ให้การต้อนรับ นพ.ปิยะสกล ได้สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในกระทรวงสาธารณสุข เพื่อความเป็นสิริมงคล
หลังจากนั้นเข้าห้องประชุมชัยนาทนเรนทร รับฟังการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุขที่ผ่านมา และมอบนโยบาย แนวทางการทำงานแก่ผู้บริหารและองค์กรในกำกับทั้งหมด โดย นายแพทย์ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้แทนข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข มอบดอกไม้แสดงความยินดีแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับกระทรวงสาธารณสุขมานานมาก และมีความร่วมมือกันมานานแล้ว ซึ่งล้วนมีเป้าหมายร่วมกันคือประชาชน
“ผมเป็นหมอผ่าตัด พูดไม่เก่ง แต่คิดได้ ปฏิบัติได้ เมื่อเช้ามีคนบอกว่าผมจะมาแก้ไขความขัดแย้ง แต่ผมมองว่าไม่เห็นมีเรื่องขัดแย้ง มีแต่ความเห็นต่าง ซึ่งมาจากคนเก่งและดีทุกคน ซึ่งทุกคนเป็นพี่น้องกัน ผมคิดว่านำความเห็นต่างมารวมกัน น่าจะทำให้เกิดความสำเร็จลงได้ การมารับตำแหน่งครั้งนี้ไม่มีเวลาฮันนีมูน จึงต้องใช้ทีมงานที่รู้งาน มี นพ.เสรี ตู้จินดา (อดีตอธิบดีกรมการแพทย์) ประธานที่ปรึกษา นพ.ธวัช สุนทราจารย์ (อดีตอธิบดีกรมควบคุมโรค) ที่ปรึกษา แต่หากตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรี รมว.สธ.ว่าง จะตั้ง นพ.ธวัช เป็น ผช.รมว. นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี เป็น เลขานุการ รมว. ซึ่งเคยเป็นอดีตรองปลัด สธ.จะประสานงานได้ดี นอกจากนั้นยังมี พญ.มยุรา กุสุมภ์ และ นพ.ชาตรี บานชื่น (อดีตอธิบดีกรมการแพทย์) ซึ่งเป็นน้องที่ผมเชื่อถือ จะมารับหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้วย”
นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ในส่วนของนโยบายนั้น มีไม่กี่ข้อ ได้แก่
1.ให้ความสำคัญสูงสุดต่อการพัฒนางานสาธารณสุขตามแนวพระราชดำริ
2.บูรณาการองค์ประกอบและบทบาทเขตสุขภาพระหว่าง สปสช. กับกระทรวง สธ.เพื่อให้การดูแลสุขภาพคนไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพในทุกระดับและทุกมิติ
3.พัฒนาการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้ประชาชนทุกกลุ่มวัยเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภค ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน โดยให้คนไทยมีโอกาสได้ ร่วมคิ ร่วมนำ ร่วมทำ และร่วมรับผิดชอบด้วย เป็นการอภิบาลแบบเครือข่ายเอื้อำนวยระบบสุขภาพแห่งชาติ เชื่อมประสานทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน ไม่ใช่ว่าระบบสุขภาพเป็นของฉันคนเดียว ต้องเชื่อมโยงทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน
4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการของหน่วยงานทุกระดับทั้งการบริหารการเงินการคลัง การบริหารกำลังคน และการบริหารข้อมูลสุขภาพเพื่อสนับสนุนการปฎิรูปสาธารณสุขและปฎิรูประเทศ ข้อมูลคือหัวใจ แต่เทคโนโลยีต้องทำให้ได้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพและเชื่อถือได้
5.ให้ความสำคัญในการพัฒนากำลังคน ผมคิดว่า Human Resource is everything คนใน ก.สธ.มีกว่า 300,000 คน ต้องพัฒนาทั้งความรู้และทักษะ ถ้าพัฒนาได้ดีประชาชนจะได้ประโยชน์ นอกจากนั้นต้องพัฒนาทั้งการผลิต การใช้และสร้างขวัญกำลังใจด้วย และหากมีอัตราว่างเท่าไรท่านต้องบอกตนด้วย ไม่ใช่ขออย่างเดียว หน่วยละเล็กละน้อย รวมกันก็มีอัตราว่างตั้งเยอะ ถ้ายังมีอยู่ ขอไปเท่าไรเขาก็ไม่ให้ รวมทั้งการ Recruit คนก็ต้องมีประสิทธิภาพด้วย ทำอย่างนี้ได้ ก.สธ.ก็จะพัฒนาได้เร็วและก้าวหน้า
6.วิจัยและพัฒนาเพื่อส่งเสริมภูมิปัญญาไทยและสมุนไพรไทยให้มีคุณภาพครบวงจรและเกิดผลดีต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่ง ก.สธ.น่าจะทำได้ดีและเร็ว
7. เร่งรัดปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบกฎเกณฑ์ ให้เอื้อต่อการปฎิบัติงานสาธารณสุข เพื่อประสิทธิภาพที่ดีต่อสุขภาวะของประชาชน ที่ผ่านมาทำแล้วแต่วนไปวนมา ต้องเดินใหม่ให้เอื้อต่อการก้าวไปข้างหน้า คิดว่าเราต้องมีที่ปรึกษากฎหมายที่มีแนวคิดที่ดี ต้องไปข้างหน้า บอกให้ชัดว่าจะไปทางไหนและหาทางไปข้างหน้าด้วยกัน ตนมาเพื่อมาช่วยคิด ไม่ได้มาสั่ง
8. สนับสนุนกลไการทำงานสาธารณสุขเพื่อสร้างความมั่นคงของสังคมไทยและสังคมโลก
“แนวทางการทำงานของผม เริ่มจากค่านิยม ได้แก่ ซื่อสัตย์ สามัคคี มีความรับผิดชอบ ตรวจสอบได้ โปร่งใส มุ่งในผลสัมฤทธิของงาน ซื่อสัตย์ ภายใต้ปฎิภาณและไหวพริบ ไม่ซื่อบื้อ งบประมาณ 1.2 แสนล้านต้องลงไปที่ประชาชนอย่างแท้จริงทุกบาททุกสตางค์" รมว.สธ. กล่าว และว่า สามัคคี ต้องรวมกันทำ เห็นต่างไม่เป็นไร ต้องจูนเข้าหากัน อะไรคล้ายกันบ้างก็ช่วยกันทำไปก่อนไม่งั้นงานไม่เดิน ซึ่งพวกเรามีอยู่แล้ว
“ในส่วนเรื่องมีความรับผิดชอบ เริ่มจากตัวเองให้เป็นคนที่มีโลภ โกรธ หลงน้อยลง ตรวจสอบได้ โปร่งใส ทุกอย่างต้องมีเหตุผล อธิบายได้ ผมอายุ 67 ปี แล้ว ก่อสร้างมามากมายแต่ยังไม่เคยถูกฟ้อง หวังว่ามาที่นี่จะรอดปลอดภัย มุ่งในผลสัมฤทธิของงาน ไม่ใช่ว่าทำดีแต่ไม่มีผลงาน ทุกวันต้อ’ Show small sucess เพื่อ along the big Goal กล้าหาญทำในสิ่งที่ถูกต้อง อะไรคือสิ่งที่ถูกต้อง ก็คือทั้ง 5 ข้อที่ผมพูดไปก่อนหน้า ทั้งหมดผมเอามาจากไหนทราบไหมครับ ผมเอามาจาก Web Site ของกระทรวงสาธารณสุข ผมเชื่อว่าถ้าทั้ง 300,000 คน ทำอย่างนี้ ก้าวหน้าแน่นอน” นพ.ปิยะสกล กล่าว
นพ.ปิยะสกล กล่าวถึง แนวทางการทำงานมีรายละเอียดดังนี้
1. กำหนดค่านิยมร่วมกันเพื่อปฏิบัติมุ่งสู่เป้าหมายคือให้คนไทยมีสุขภาพดี ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
2. สนองนโยบายสาธารณสุขของรัฐบาล
3. สานต่อนโยบายและโครงการในอดีตและปัจจุบันที่ดีมีประโยชน์ ไม่ต้องห่วงว่ามาแล้วจะเลิกทำโครงการเดิม ขอให้ดีและมีประโยชน์ผมจะสนับสนุน
4. สร้างสามัคคีเพื่อให้บุคลากรโดยส่วนรวมมีความสุขเหมือนชื่อกระทรวง
“ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ ผมและทีมงาน จะขอเข้าไปฟังในแต่ละหน่วยงาน ทั้งระดับกรมและเขตทั้ง 12 เขต โดยให้ท่านเตรียมเนื้อหาสั้นๆ ว่า 1.ทำอะไรไปแล้ว 2.กำลังจะทำอะไร 3.ทำแล้วมีประโยชน์กับประชาชนอย่างไร ผมไม่ได้ขอมา แต่ถูกบังคับให้มา แต่เมื่อมาแล้วก็เป็นหน้าที่ที่จะทำให้เกิดผลต่อส่วนรวมได้จริง และจะทำให้ดีที่สุด” นพ.ปิยะสกล กล่าว
- 13 views