เดอะ คอนเวอร์เซชั่น : การเสียชีวิตของแม่และเด็กเป็นหัวข้อสำคัญในความพยายามที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals) ภายในสิ้นปี 2558 กระนั้นการคลอดตายกลับยังคงเป็นปัญหาไร้การเหลียวแลดังที่ไม่ได้บรรจุไว้ในเป้าหมายการพัฒนาฯ ตลอดจนไม่ได้รวมอยู่ในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ภายหลังปี 2558

ประเทศแอฟริกาใต้มีอัตราการตายคลอดมากกว่า 20,000 รายในแต่ละปี ภาพประกอบโดย : Jim Young/Reuters

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าการคลอดทารกไร้วิญญาณเป็นหนึ่งในเหตุเศร้าสลดที่บีบคั้นหัวใจคนเป็นพ่อเป็นแม่และครอบครัวให้แหลกสลายอย่างถึงที่สุด หนูน้อยเหล่านี้หากไม่เสียชีวิตตั้งแต่ในครรภ์ก็มักเสียชีวิตระหว่างการคลอด ต่างจากการแท้งซึ่งนิยามการเสียชีวิตของทารกในครรภ์ก่อนอายุครรภ์ 28 สัปดาห์ จากสถิติการตายคลอดทั่วโลกพบว่าร้อยละ 98 เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง ทำให้องค์การอนามัยโลกออกมาเน้นย้ำความสำคัญของการยุติปัญหาการตายคลอด โดยแผนปฏิบัติการของอนามัยโลก (Every Newborn action plan) ซึ่งประกาศใช้เมื่อปี 2557 ได้ตั้งเป้าจำกัดอัตราการตายคลอดให้อยู่ที่ไม่เกิน 10 รายต่อการคลอด 1000 รายภายในปี 2578

ประเทศแอฟริกาใต้ในฐานะชาติสมาชิกผู้ร่วมลงนามในแผนปฏิบัติการได้ตั้งเป้าที่จะบรรลุเกณฑ์ดังกล่าวภายในปี 2559 ซึ่งแม้เริ่มเห็นความคืบหน้าของการลดตัวเลขการตายคลอดแล้ว ทว่าตัวเลขปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 18 รายต่อการคลอด 1000 รายก็ถือว่ายังคงสูงเกินไป โดยข้อมูลการจัดอันดับของวารสารการแพทย์แลนเซต (Lancet) ได้วางสถิติการตายคลอดของแอฟริกาใต้ไว้ที่อันดับ 148 จาก 193 ประเทศ ตามหลังบราซิลซึ่งอยู่ที่อันดับ 79   รัสเซียที่อันดับ 80 และจีนที่อันดับ 82 ขณะที่มีอันดับดีกว่าอินเดียซึ่งอยู่ที่อันดับ 154 และไนจีเรียที่อันดับ 192

ปัจจัยเสี่ยงการตายคลอด

สาเหตุของการตายคลอดนั้นเกี่ยวพันใกล้ชิดกับปัจจัยที่ส่งผลต่อการเสียชีวิตของแม่และทารกแรกเกิด อย่างไรก็ดีปัจจัยเสี่ยงหลายตัวกลับมาพบเอาต่อเมื่อสายเกินไป โดยผู้หญิงอายุมากกว่า 34 ปีมีความเสี่ยงสูงขึ้นต่อภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ซึ่งรวมถึงการตายคลอด เช่นเดียวกับโรคอ้วนซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงประการหนึ่งของการตายคลอด รวมถึงโรคต่างๆ เช่น ความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวานอันเป็นสาเหตุราวหนึ่งในสี่ของการตายคลอดก่อนมีอาการเจ็บครรภ์คลอด

นอกจากนี้การจัดการทางคลินิกที่ดีก็มีความสำคัญอย่างยิ่งเมื่อการคลอดเริ่มขึ้น เนื่องจากราวครึ่งหนึ่งของการตายคลอดในระยะนี้เป็นผลจากแม่เสียเลือดมากเกินไปและทารกได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

การแพทย์จะช่วยได้อย่างไร

เนื่องจากมาตรการเพื่อลดการตายคลอดในบริการสาธารณสุขของประเทศแอฟริกาใต้มีคุณภาพและความครอบคลุมที่แตกต่างกัน เราจึงสร้างตัวแบบผลกระทบและต้นทุนของการแทรกแซงทางการแพทย์ในระดับครอบคลุมทั่วถึงและมีคุณภาพสูง การแทรกแซงดังกล่าวรวมถึงการตรวจและรักษาเอชไอวีอย่างรวดเร็วในหญิงตั้งครรภ์ ปรับปรุงการรักษาความดันโลหิตสูงและโรคเบาหวาน รวมถึงปรับปรุงการดูแลด้านสูติเวชที่จำเป็นและเร่งด่วนระหว่างการคลอด โดยโภชนาการที่ดีก่อนตั้งครรภ์ก็เป็นกุญแจสำคัญอีกประการหนึ่งของการป้องกันการตายคลอดตามที่แอฟริกาใต้กำลังเผชิญปัญหาโรคอ้วนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเด็กสาว

ข้อมูลจากตัวแบบการแทรกแซงดังกล่าวชี้ว่า การจัดการการคลอดที่ดีขึ้นมีนัยสำคัญมากที่สุดและอาจลดการตายคลอดได้ถึงร้อยละ 60 และการยกระดับการแทรกแซงดังกล่าวนับเป็นการลงทุนที่ให้ประโยชน์ถึง 3 ด้านตามที่ประเมินอาจป้องกันการตายคลอดได้ถึงปีละ 5,400 ราย ขณะเดียวกันก็อาจป้องกันการเสียชีวิตของแม่และทารกแรกเกิดได้ราวปีละ 1,300 รายและ 4,900 รายตามลำดับ อันจะส่งผลต่อการลดอัตราการตายคลอดของแอฟริกาใต้ลงราวร้อยละ 30 ซึ่งสอดคล้องกับเป้าเฉพาะกาลปี 2573 ขององค์การอนามัยโลก

ต้นทุนการแทรกแซงทั้งหมดนั้นก็ไม่ได้มากมาย ตามที่ประเมินกันว่าแอฟริกาใต้ต้องใช้งบประมาณเพิ่มอีกราวปีละ 850 ล้านแรนด์หรือตกราว 16 แรนด์ต่อคน อันเป็นตัวเลขที่สูงกว่าร้อยละ 0.5 ของงบประมาณสาธารณสุขทั้งหมดเพียงเล็กน้อยแต่เป็นประโยชน์อย่างมหาศาล

ไขปัญหา

แต่นอกเหนือจากปรับปรุงการเข้าถึงบริการสาธารณสุขแล้วเรายังคงมองเห็นอุปสรรคใหญ่ที่รอการแก้ไขอยู่ 3 ข้อหากแอฟริกาใต้ต้องการลดอัตราการตายคลอด

มีงานวิจัยที่ระบุว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงและเด็กทารกเสียชีวิตลง นั่นก็คือความล่าช้าในการเข้าถึงบริการ  ภาพประกอบโดย : Jorge Cabrera / Reuters

ข้อแรก...คุณภาพของการบริการนั้นสำคัญอย่างยิ่ง แม้ผู้หญิงส่วนใหญ่คลอดที่สถานพยาบาลและโรงพยาบาล  แต่แม่และทารกจำนวนมากกลับเสียชีวิตจากความล่าช้าในการเข้าถึงบริการ ในข้อนี้แอฟริกาใต้ได้จัดตั้งสำนักงานตรวจสอบมาตรฐานสาธารณสุข (Office of Health Standards Compliance) เพื่อผลักดันการปรับปรุงและติดตามคุณภาพงานบริการ ซึ่งผลผลลัพธ์การประเมินของสำนักงานตรวจสอบมาตรฐานจะมีผลต่องบประมาณและการรับรองคุณภาพของสถานบริการสาธารณสุขภายใต้แผนการประกันสุขภาพแห่งชาติ (National Health Insurance)

สำนักงานตรวจสอบมาตรฐานจะประเมินในเบื้องต้นจากความสะอาด การป้องกันโรคติดเชื้อ แนวทางลดระยะเวลาการรอ ยาที่รองรับ และทัศนคติของบุคลากร ซึ่งแม้การตรวจสอบดังกล่าวจะช่วยปรับปรุงการจัดการการคลอดให้ดีขึ้น แต่ก็ยังคงต้องอาศัยความพยายามอีกมากในการส่งเสริมให้ครอบครัวตระหนักถึงสัญญาณอันตรายระหว่างตั้งครรภ์และรีบมารับการรักษาอย่างทันท่วงที

ข้อที่สอง...จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยมากกว่านี้เพื่อที่จะทำความเข้าใจสาเหตุของการตายคลอดก่อนมีสัญญาณคลอดซึ่งราวครึ่งหนึ่งยังคงไม่ทราบสาเหตุ แม้แต่ในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วการตายคลอดหลายรายก็ไม่ได้ผ่านกระบวนการนิติเวช ขณะเดียวกันก็เห็นถึงความบ่ายเบี่ยงในการที่จะตรวจสอบเพิ่มเติมเพื่อระบุสาเหตุของการตาย จึงทำให้สาเหตุของการตายคลอดยังคงเป็นคำถามมืดมนสำหรับครอบครัวที่ต้องการคำตอบ

ข้อสุดท้าย...การปกปิดข้อมูลยังคงเป็นปัญหาใหญ่ การตายคลอดในหลายประเทศไม่ได้มีสถิติบันทึกไว้อย่างเป็นทางการ ซึ่งในแอฟริกาใต้นั้น แม้ว่าเราอาจติดตามสถิติการตายคลอดได้จากการแจ้งเกิดของกระทรวงมหาดไทย แต่ก็ไม่แน่เสมอไปว่าครอบครัวจะแจ้งการตายคลอดกับทางการ เพราะอาจเป็นได้ว่าครอบครัวต้องการหลีกเลี่ยงภาระค่าใช้จ่ายที่สูงจากการประกอบพิธีศพ ขณะที่บางคนอาจรู้สึกว่าการแจ้งการตายคลอดที่บ้านอาจเป็นรอยด่างของครอบครัว จึงจำเป็นที่จะต้องยกระดับการเสริมสร้างความเข้าใจในหมู่ประชาชนและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้ตระหนักถึงความสำคัญของการจดสถิติการเกิดและการตายทั้งหมด

นอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว เรามักพบว่าผู้เป็นแม่ต้องแบกรับความโศกสลดจากการตายคลอดไว้เพียงลำพังโดยไม่ปริปาก ขณะที่ยังคงขาดบริการสาธารณสุขเพื่อช่วยเหลือหญิงกลุ่มนี้ ซึ่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขชุมชนจะมีบทบาทสำคัญหากได้รับการแนะแนวที่เหมาะสม

ถึงแม้เรายังคงไม่ทราบสาเหตุทั้งหมดของการตายคลอดแต่ก็พบว่าหลายกรณีสามารถป้องกันได้ สำหรับแอฟริกาใต้ในการที่จะบรรลุคำมั่นในฐานะชาติสมาชิกแผนปฏิบัติยุติปัญหาการตายคลอดขององค์การอนามัยโลกนั้น จำเป็นที่จะต้องยกระดับมาตรการป้องกันการตายคลอด รวมถึงแนวทางการแทรกแซงทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องโดยถือเป็นมาตรการเร่งด่วน

เกี่ยวกับผู้เขียน :

คาเรน ฮอฟเมน ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการ Priority Cost Effective Lessons for Systems Strengthening (PRICELESS SA), Wits School of Public Health at University of the Witwatersrand

ที่มา : www.theconversation.com