กระทรวงสาธารณสุข เผยเครือข่ายบริการสาขาโรคหัวใจ ช่วยลดอัตราการตายโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันเหลือร้อยละ 10.64 ผู้ป่วยได้รับการขยายหลอดเลือดเพิ่มเป็นร้อยละ 69.08 ทำโครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย” เพิ่มคลินิกรักษาผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวในทั้ง 12 เขตสุขภาพ คลินิกให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือดในโรงพยาบาลจังหวัด และให้บริการยาละลายลิ่มเลือดในโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศ
วันนี้ (14 สิงหาคม 2558) ที่ โรงแรมเซนทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ กทม. ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดประชุมวิชาการ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์/ทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ กรมการแพทย์ สี่เหล่าทัพ กรุงเทพมหานคร แพทย์ พยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนที่รับผิดชอบให้การดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ รวม 600 คน สรุปผลการดำเนินงาน โครงการ“วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย (Save Thais from Heart Diseases) และพัฒนาศักยภาพบริการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษารวดเร็วยิ่งขึ้น
นพ.รัชตะ กล่าวว่า โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญ เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย ในช่วงปี 2548-2552 คนไทยป่วยเป็นโรคหัวใจ ต้องนอนโรงพยาบาลวันละ 1,185 ราย โดยเป็นโรคหัวใจขาดเลือดประมาณ 450 รายต่อวัน เสียชีวิตชั่วโมงละ 2 ราย ผู้ป่วยโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันในประเทศไทยจะมีอัตราตายสูงกว่าที่อื่นประมาณ 4-6 เท่า
กระทรวงสาธารณสุขจึงเร่งแก้ปัญหา ทำโครงการ“วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย” โดยพัฒนาศักยภาพสถานบริการระดับปฐมภูมิ ทุติยภูมิ ตติยภูมิ และสถาบันเฉพาะทาง ให้มีการส่งต่อผู้ป่วยอย่างเป็นระบบ และพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ในโรงพยาบาลต่างๆทั่วประเทศเพื่อเป็นเครือข่ายดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด สร้างระบบในรูปแบบของเครือข่ายบริการ (Service Plan) เพิ่มครุภัณฑ์การแพทย์ที่ทันสมัยให้เครือข่ายการบริการในภูมิภาคต่างๆ พัฒนาระบบบริหารจัดการเพื่อให้ส่งต่อผู้ป่วยได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ มีช่องทางด่วน (Fast track) เพื่อลดระยะเวลาและขั้นตอน ให้การรักษาผู้ป่วยรวดเร็วเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็วและเป็นธรรม
ผลการดำเนินงานตั้งแต่ตุลาคม 2557 – สิงหาคม 2558 จากโรงพยาบาล 288 แห่งที่เข้าร่วมโครงการฯ มีผู้ป่วยเข้ารับบริการ 14,550 ราย เป็นผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน 5,884 ราย โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 8,666 ราย ลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลันจากร้อยละ 17 ในปี 2550 เป็นร้อยละ 10.64 และเพิ่มอัตราการขยายหลอดเลือดจากร้อยละ 65.69 ในปี 2556 เป็นร้อยละ 69.08
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า โครงการ “วิกฤตโรคหัวใจ ปลอดภัยทั่วไทย” กรมการแพทย์ดำเนินการต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 เน้นการอบรมให้ความรู้ จัดทำตำรามาตรฐานการรักษา คู่มือการอ่านคลื่นไฟฟ้าหัวใจ พัฒนาการบริหารจัดการข้อมูลระดับประเทศ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากโรงพยาบาลทุกสังกัดทั้งรัฐและเอกชน ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพโรงพยาบาลศูนย์/ โรงพยาบาลทั่วไป มีคลินิกให้ยาต้านการแข็งตัวของเลือด (Warfarin Clinic)และให้ทุกเขตสุขภาพมีคลินิกรักษาผู้ป่วยหัวใจวาย (Heart Failure Clinic) อย่างน้อยเขตละ 1 แห่ง โรงพยาบาลชุมชนทุกแห่งให้ยาละลายลิ่มเลือดได้
- 49 views