มหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย เตรียมโชว์ “หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก” นวัตกรรมเด่นช่วยเด็กออทิสติก พัฒนาคิดค้นต่อยอดจนเป็นหุ่นยนต์รุ่นที่ 4 “หุ่นยนต์ฟ้าใส”ผลประเมินช่วยเด็กออทิสติกมีความสนใจ จดจ่อต่อการฝึกกิจกรรม และฝึกพูดดีขึ้น แถมพฤติกรรมไม่เหมาะสมลดลง หลังใช้งานที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มาปีกว่า เผยแม้ต่างประเทศมีหุ่นยนต์พัฒนาเด็กออกทิสติกมากว่า 10 ปีแล้ว แต่เน้นเลียนแบบท่าทาง ส่วนหุ่นยนต์เพื่อฝึกพูดนั้น ไทยเป็นประเทศแรกที่ทำในด้านนี้
รศ.ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ
รศ.ดร.ปัณรสี ฤทธิประวัติ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย ผู้คิดค้น “หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติก” หนึ่งในผลงานนวัตกรรมเด่นด้านการแพทย์และสาธารณสุขฝีมือนักวิจัยไทยที่จะนำเสนอในงาน “มหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย (Medical Innovation of Thailand) ผลิตภัณฑ์จากแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์” ว่า หุ่นยนต์ที่นำมาแสดงในปีนี้เป็นหุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการรุ่นที่ 4 หลังจากที่ได้มีการทำหุ่นยนต์ช่างทำที่เน้นฝึกการเลียนแบบท่าทาง หุ่นยนต์ช่างพูดและช่างคุยที่ช่วยกระตุ้นทักษะการพูดคุยมาก่อนหน้านี้ โดยเริ่มเมื่อปี 2553 ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อสร้างเครื่องมือบำบัดและกระตุ้นพัฒนาการ เนื่องจากปัจจุบันจำนวนเด็กออทิสติกมีเพิ่มมากขึ้น ไม่สอดคล้องกับจำนวนผู้ให้การบำบัดและดูแล การพัฒนาหุ่นยนต์เหล่านี้จึงช่วยผ่อนแรงให้กับนักกิจกรรมบำบัด ครู และช่วยให้เด็กได้รับการบำบัดอย่างทั่วถึงเพิ่มขึ้น และเมื่อพัฒนาหุ่นยนต์ 3 ตัวแรกแล้วเสร็จ สำนักคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ได้เล็งเห็นประโยชน์จึงได้ให้การสนับสนุนทุนวิจัยพัฒนา “หุ่นยนต์ฟ้าใส” เพื่อใช้ในการเรียนการสอนจริง
ดร.ปัณรสี กล่าวว่า หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการนี้ ในระยะแรกจะเน้นด้านการปฏิสัมพันธ์ทางสังคมผ่านการฝึกฝนทักษะด้วยการเลียนแบบท่าทาง เนื่องจากความสามารถด้านการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมนั้นมีพื้นฐานจากความสามารถในการเลียนแบบ (Imitation) ของเด็กที่มักพบว่ามีความบกพร่องในเด็กออทิสติก ส่งผลต่อความสามารถในการเรียนรู้เพื่อการสื่อสารหรือตอบสนองต่อสังคม หุ่นยนต์ช่างทำจึงถูกออกแบบเพื่อเสริมการบำบัดด้านการเลียนแบบให้แก่เด็ก โดยโปรแกรมถูกออกแบบเฉพาะเพื่อฝึกฝนการเลียนแบบให้แก่เด็กออทิสติกเท่านั้น โดยกระตุ้นให้เด็กเลียนแบบหุ่นและหุ่นยนต์สามารถเลียนแบบเด็กได้อย่างอัตโนมัติ
สำหรับหุ่นยนต์ช่างพูดและหุ่นยนต์ช่างคุยจะเน้นด้านการฝึกพูด โดยหุ่นยนต์จะมีชุดคำที่ต้องการให้เด็กฝึก เมื่อผู้บำบัดเลือกชุดคำที่ต้องการแล้ว หุ่นยนต์จึงกล่าวเชิญชวนให้เด็กเล่นเกมฝึกพูด โดยเริ่มฝึกไปทีละคำ เมื่อเด็กสามารถพูดคำได้ถูกต้อง หุ่นยนต์จะกล่าวชื่นชมและเมื่อเด็กพูดไม่ถูกต้องหุ่นยนต์จะให้กำลังใจ โดยหุ่นยนต์สามารถตัดสินใจได้ด้วยตัวหุ่นยนต์เองในการกล่าวชมหรือให้กำลังใจได้อย่างอัตโนมัติ
ทั้งนี้การพัฒนาหุ่นยนต์แต่ละตัวจะเริ่มทดลองกับเด็กปกติก่อนแล้วจึงนำไปทดสอบกับเด็กออทิสติก โดยการทดลองแรกได้ศึกษาผ่านหุ่นยนต์ช่างทำ ซึ่งจะเน้นในเรื่องของสิ่งเร้าที่มีผลต่อความสนใจของเด็กออทิสติกและรูปแบบของการตอบสนองของเด็กออทิสติกที่มีต่อหุ่นยนต์ ต่อมาเป็นการทดลองเรื่องการเลียนแบบท่าทาง พบว่า มีแนวโน้มที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมด้านบวกทั้งในด้านความสนใจ จดจ่อในกิจกรรม และมีแนวโน้มที่จะลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลง ต่อมาจึงได้พัฒนาหุ่นยนต์สำหรับฝึกพูด โดยใช้ระยะเวลาการทดลอง 3 เดือน ฝึกอาทิตย์ละครั้ง พบว่าเด็กมีการเล่นเสียงเพิ่มมากขึ้น และเด็กบางคนมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นระหว่างการฝึก จนมาถึงหุ่นยนต์ฟ้าใสที่รวมทุกความสามารถของหุ่นยนต์ 3 ตัวแรกและถูกออกแบบให้เหมาะกับการใช้งานในสถานศึกษา และได้นำไปติดตั้งและอบรมให้คุณครูที่ศูนย์การศึกษาพิเศษ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยใช้งานมากว่า 1 ปีแล้ว
“จากการติดตามพัฒนาเด็กออทิสติกที่ผ่านการกระตุ้นเสริมจากหุ่นยนต์ฟ้าใสโดยคุณครูประจำศูนย์การศึกษาพิเศษเป็นผู้ประเมิน ผลการใช้งานหุ่นยนต์ฟ้าใสพบว่า ช่วยให้เด็กมีความสนใจ จดจ่อในกิจกรรมการฝึกดีขึ้น มีเด็กที่พูดตามหุ่นยนต์ได้เพิ่มขึ้น และมีจำนวนเด็กที่แสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมลดลง สำหรับหุ่นยนต์ที่พัฒนาขึ้นนี้ได้ออกแบบเพื่อใช้ได้กับทั้งเด็ก low functioning และ high functioning แต่ต้องยอมรับว่าเด็กกลุ่มนี้มีความผิดปกติหลากหลายมาก จึงอาจไม่ตอบสนองกับเด็กในบางกลุ่ม เช่น กลุ่มที่ไม่มีการตอบสนองต่อสิ่งเร้าใดๆ เลย หรือเด็กบางคนมีภาวะกลัว ก่อนการฝึกกับหุ่นยนต์ได้จำเป็นต้องค่อยๆ ปรับพฤติกรรม สร้างความคุ้นชิน กว่าจะเริ่มฝึกได้” ดร.ปัณรสี กล่าว
ดร.ปัณรสี กล่าวต่อว่า หุ่นยนต์เสริมการกระตุ้นพัฒนาการเด็กออทิสติกที่ได้พัฒนาขึ้นนี้ แม้ว่าในต่างประเทศจะมีการพัฒนานวัตกรรมนี้มากว่า 10 ปีแล้ว แต่มักเน้นที่การเลียนแบบท่าทาง ส่วนการพัฒนาหุ่นยนต์ที่เน้นด้านการฝึกพูดจริงๆ จังๆ นั้น ไทยถือเป็นประเทศแรกที่ทำในด้านนี้ ทั้งนี้ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยที่ได้ประดิษฐนวัตกรรมนี้ รู้สึกภูมิใจที่ได้พัฒนาคิดค้นงานที่มีคุณประโยชน์ให้กับเด็กออทิสติกและอยากให้เกิดการต่อยอดโดยการกระจายให้เกิดการใช้งานหุ่นยนต์ไปตามโรงเรียน สถานศึกษาต่างๆ หรือปรับให้สามารถใช้ตามบ้านได้ต่อไป
ทั้งนี้งาน “มหกรรมตลาดนัดนวัตกรรมการแพทย์ไทย (Medical Innovation of Thailand) ผลิตภัณฑ์จากแนวคิด สิ่งประดิษฐ์ด้านการแพทย์” จัดขึ้นระหว่างวันที่ 18-20 สิงหาคม 2558 ณ ฮอล 9 อิมแพค เมืองทองธานี โดยความร่วมมือ 4 หน่วยงานภาครัฐ ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) สำนักพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งทางผู้จัดงานขอเชิญประชาชนที่สนใจลงทะเบียน Online ที่ http://interegs.nectec.or.th/medithai/login.php เพื่อรับสิทธิในการรับกระเป๋าและของที่ระลึก รวมทั้งจะมีการจับสลากรับของรางวัลภายในงาน สำหรับผู้ลงทะเบียน Online ที่เข้าชมงานเท่านั้น
- 68 views