“หมอศุภชัย” ชี้ ระบบสาธารณสุขไทยไม่ถึงขั้นเลวร้าย มีการพัฒนาที่ดีขึ้นตามลำดับ ดัชนีชี้วัดด้านต่างๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยไม่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจากการจ่ายค่ารักษา แต่ต้องปฏิรูปให้พร้อมสำหรับอนาคต แนะรัฐผลิตบุคลากรเพิ่ม ลงทุนระบบบริการของรัฐ เปิดช่องให้คนมีกำลังร่วมจ่ายในระบบ 30 บาทได้ และฟื้นความสัมพันธ์ หมอ-คนไข้
นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์
นพ.ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ กรรมการแพทยสภา เปิดเผยว่า ภาพของระบบสาธารณสุขไทยในปัจจุบันไม่ได้เลวร้ายตกต่ำเหมือนที่หลายคนรู้สึก ตลอดเวลาที่ผ่านมาระบบสาธารณสุขไทยพัฒนาจนสามารถดูแลประชาชนได้ดีขึ้นเรื่อยๆ อัตราการเสียชีวิตของแม่และเด็กแรกคลอดลดลง อัตราการมีชีวิตในแต่ละช่วงอายุสูงขึ้น ดัชนีด้านสุขภาพต่างๆ ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ส่วนโรงพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็มีระบบที่เข้มแข็ง กระจายไปในทุกพื้นที่ ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการได้ภายในระยะเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง คุณภาพการรักษาก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้
ขณะที่ระบบการเงินการคลังก็ถือว่าใช้ได้ สามารถใช้งบประมาณอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ประชาชนไม่ต้องสิ้นเนื้อประดาตัวจากการเข้ารับการรักษาพยาบาลอีก อย่างไรก็ตาม หากมัวแต่ปลาบปลื้มกับความสำเร็จในอดีตโดยไม่มองอนาคต ก็จะเสียโอกาสการพัฒนา ดังนั้นต้องมีการปฏิรูป ดึงจุดแข็งเสริมจุดอ่อนแก่ระบบสาธารณสุขของไทย
นพ.ศุภชัย เสนอให้มีการปฏิรูปใน 4 ประเด็น คือ 1.ดึงจุดแข็งในเรื่องบุคคลากรทางการแพทย์ของไทยซึ่งได้รับการเชื่อถือและยอมรับในเรื่องคุณภาพ โดยเสนอว่ารัฐบาลต้องมีนโยบายอย่างจริงจังในการผลิตบุคลากรด้านการแพทย์ให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของทั้งในประเทศและต่างประเทศ แต่ต้องรักษาคุณภาพเอาไว้ด้วย เพราะสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งในประเทศรวมทั้งต่างประเทศก็ต้องการบุคลากรอีกมาก และหากไม่ทำเช่นนี้ ไทยจะประสบปัญหาขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์อย่างแรงจนถึงขึ้นต้องนำเข้าบุคลากรทางการแพทย์จากต่างประเทศ โดยเฉพาะพยาบาลที่ต้องเร่งผลิตอย่างฉุกเฉิน
“ไทยมีนโยบายกระจายกำลังคนโดยกลไกการทำงานชดใช้ทุน แต่มันก็ยังไม่พอ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดก็ยังขาดแคลนหมออีกมาก มันก็ต้องเพิ่มกำลังผลิต และผมอยากให้เราพัฒนาเป็น education hub ในภูมิภาคนี้ ให้นักศึกษาจากต่างชาติมาเรียนได้ ไม่จำเป็นต้องคิดว่าว่าต้องผลิตให้พอใช้แค่ในประเทศ”นพ.ศุภชัย กล่าว
2.ลงทุนระบบบริการภาครัฐ เพราะทุกวันนี้การลงทุนจากภาครัฐยังไม่เพียงพอ หากบริการของภาครัฐคุณภาพไม่ดีก็ไม่สามารถเป็น benchmarkแก่โรงพยาบาลเอกชนได้ ดังนั้นหน่วยบริการภาครัฐต้องการการลงทุนเพื่อให้มีคุณภาพที่เชื่อถือได้ ขณะเดียวกัน ก็ต้องมีความคล่องตัว สามารถตอบสนองความต้องการในพื้นที่ รวมทั้งความภาคภูมิใจของบุคลากร ให้เป็นที่สถานที่ทำงานที่มีความสุข ฉะนั้นแนวคิดการกระจายอำนาจจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาอย่างจริงจัง
“นอกจากนี้แล้ว ต้องสร้างระบบหมอครอบครัวจริงๆ เพราะตอนนี้เราใช้รูปแบบทีมวิชาชีพสาธารณสุข แต่แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวยังมีน้อย เป็นเพราะว่าเลือกเป็นแพทย์เฉพาะทางมีความก้าวหน้าและรายได้มากกว่า ดังนั้นต้องปรับและให้ความสำคัญกับหมอครอบครัวให้มากขึ้น”นพ.ศุภชัย กล่าว
3.ปฏิรูประบบการเงินการคลัง เพราะแม้ระบบ 30 บาทจะทำมาดี แต่ต้องไม่ยึดติดกับความสำเร็จเดิมๆ ถ้าจะให้ดีขึ้นต้องมีเงินมาเติม เพราะแนวโน้มในอนาคตจะมีผู้สูงอายุมากขึ้น จะให้รัฐบาลออกเงินให้หมดเลยคงไม่ได้แล้ว
“ถ้ายืนอยู่อย่างเก่า การเงินการคลังมันจะไปไม่รอดในยุคที่คนไทยแก่ก่อนรวย”นพ.ศุภชัย กล่าว
ขณะเดียวกันผู้ใช้สิทธิ 30 บาท ก็มีทั้งคนรวยและคนจนปนๆ กันอยู่ ดังนั้นควรสร้างระบบขึ้นมาอีกระบบหนึ่งเพื่อรองรับคนที่มีกำลังจ่ายและไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม คนที่มีกำลังร่วมจ่ายก็จ่ายไป อาจจะประมาณ 20-30% ของราคาที่จ่ายให้โรงพยาบาลเอกชน ประเด็นนี้ระบบ 30 บาทต้องสร้างความชัดเจนว่าตรงไหนที่รัฐต้องจ่ายให้เต็มจำนวนและตรงไหนที่รัฐจ่ายเสริมได้ เหมือนที่จ่ายสมทบให้กองทุนประกันสังคม
4.ปฏิรูปความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และคนไข้ เพราะภาพในปัจจุบัน ความสัมพันธ์มีแนวโน้มมุ่งไปเหมือนประเทศตะวันตก หมอต้องซื้อประกันป้องกันการถูกฟ้อง คนไข้เกิดความไม่เข้าใจก็ฟ้อง ดังนั้นอยากให้มีการปรับแก้ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้เสียหายจากบริการสาธารณสุข เพื่อให้เป็นเครื่องมือสร้างความเข้าใจกันทุกฝ่ายมากกว่า เพราะขณะนี้เป็นเหมือนการตั้งป้อมเอาชนะกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูก
“ถ้าไม่แก้ตรงนี้ มันจะเป็นเหมือนอเมริกา หมอก็ต้องไปซื้อประกัน แล้วมาเก็บต่อจากคนไข้ และการตรวจโรคต่างๆ ก็จะมีมากขึ้นเกินความจำเป็นเพื่อป้องกันการถูกฟ้อง ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายแพงขึ้น” นพ.ศุภชัย กล่าว
- 7 views