เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์ : นักวิชาการชี้การเก็บ“ภาษีบาป”ใช้กันทั่วโลกไม่เกี่ยวกับระบบเงินคลังประเทศ ยัน“สสส.-ไทยพีบีเอส”ขับเคลื่อนช่วยทำให้สังคมเข้มแข็ง
เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์รายงานว่า เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ที่มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน ร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม จัดเสวนา "รธน. มาตรา 190 ทำลายภาคสังคม ทุบองค์กรอิสระ สสส.-ไทยพีบีเอส" โดยนายดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 190 เป็นเรื่องการจัดเก็บภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ (Earmarked Tax) ที่มีการปฏิบัติกันมาอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งการยกร่างกฎหมายฉบับนี้ เกิดจากหน่วยงานระดับ กรม กระทรวง อาจจะเข้าใจคลาดเคลื่อน คิดไปเองว่าจะมีอภิสิทธิ์พิเศษในการใช้เงินภาษีบาป แต่ลืมคิดว่า หากไม่มีองค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ผลักดันแบบนี้ ส่วนราชการ และสื่อพาณิชย์ก็จะไม่มีความสามารถทำงานพิเศษได้ ภาษีบาปที่ได้จากธุรกิจเหล้า บุหรี่ องค์กรอิสระไม่ได้เอามาใช้ทั้งหมด ทั้งสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส และกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ใช้งบ 1.5%-2% เป็นการใช้เงินแค่นิดเดียว จากภาษีบาป 2.7 ล้านล้านบาท
“สสส. มีการทำงานที่ขัดแย้งกับธุรกิจเหล้า บุหรี่ ถือเป็นศัตรูในการทำงานของบริษัทข้ามชาติ เชื่อว่าการเสนอให้แก้กฎหมายภาษีดังกล่าว เพราะกลุ่มธุรกิจต้องการล้มองค์กรที่นำภาษีของตนมาทำงานตรงต่อต้านการส่งเสริมการตลาด ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังไม่เห็นด้วย เพราะไม่เข้าใจหลักการทำงาน ขององค์กรเหล่านี้ คิดว่าภาษีประเทศจะฟุ่มเฟือย ทั้งที่จริงภาษีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการใช้งบกลางประเทศของกระทรวงคลัง ประเทศไทยไทยยังจำเป็นต้องมีงบพิเศษเพื่อการทำงานสาธารณะ แต่องค์กรที่รับเงินนี้ ต้องมีประสิทธิภาพ ที่ตอบสนองประชาชน สาธารณะ ต้องมีผลงานออกมาพิสูจน์ให้ได้” นายดิเรก กล่าว
นายไพโรจน์ พลเพชร อดีตคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่า ที่ผ่านการปฏิรูปการคลังของประเทศไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนเลย ที่ทั้งที่จริงการใช้อำนาจรัฐในการเก็บรายได้มีมานานแล้ว การสร้างประเด็นนี้จากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้ประชาชนได้รับทราบข้อเท็จจริง และองค์กรภาคประชาสังคมที่รับเงินดังกล่าวก็ได้มีโอกาสชี้แจง ที่ผ่านมาราชการไม่มีประสิทธิภาพในการทำงาน จึงต้องตั้งองค์กรภาคประชาสังคมขึ้นมาทำงานโดยตรง ซึ่งระบบภาษีเฉพาะ เป็นการปฏิรูประบบการคลัง ที่สามารถกระจายเงินภาษีบาป ไปถึงคนเล็กคนน้อยได้ มีการสร้างความเป็นธรรมในสังคมขึ้นมา ซึ่งเรื่องนี้ข้าราชการและการเมืองมักไม่คำนึงถึง ดังนั้นหากทำลายระบบภาษีดังกล่าว เท่ากับทำลายความชอบธรรม
“มีงานบางงานของรัฐ ที่ทำงานไม่ดีพอ เช่น การแก้ปัญหาที่อยู่อาศัย แต่เมื่อมีสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ภารกิจก็ดีขึ้น มีการจัดที่อยู่แก่คนจน คนไร้บ้านมากขึ้น ทั้งที่เป็นหน้าที่ของรัฐ แต่รัฐไม่ทำ ภาษีพิเศษก็ต้องเข้ามาตั้งองค์กรมาดำเนินการ เป็นการลดภาระรัฐด้วยซ้ำ แค่เบิกงบไม่ขึ้นตรงกับกระทรวงการคลังเท่านั้นเอง ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อการสร้างความเป็นธรรมของสังคม ครั้นพอถามว่า สสส. กับไทยพีบีเอส ทำอะไรผิดจึงต้องมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ก็ไม่มีใครตอบได้ กมธ. ที่ยกร่างยังตอบไม่ได้เช่นกัน” นายไพโรจน์ กล่าว
นายศรีสุวรรณ ควรขจร ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า ภาษีเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะ ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นเฉพาะวงการธุรกิจเหล้า บุหรี่ แต่วงการสิ่งแวดล้อมก็มี เช่น กองทุนสิ่งแวดล้อม ที่ตัดเงินมาจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนทุนของ สสส. ที่ได้รับมาจากภาษีพิเศษ ก็นำไปใช้เพื่อการพัฒนาของภาคประชาสังคม จนกระทั่งภาคประชาสังคมเติบโต และมีบทบาทมากขึ้น เชื่อว่านี่เป็นเหตุผลที่รัฐบาลไม่พอใจ เพราะมีการต่อต้านและวิพากษ์วิจารณ์หน่วยงานราชการ อย่าง กรม และกระทรวงมากขึ้น กรณีสื่อสาธารณะอย่างไทยพีบีเอส มองว่า ควรมีการเปิดเพิ่มหลายๆ ช่อง แล้วคิดเนื้อหาเพื่อมานำเสนอ ซึ่งแม้ไม่มีความนิยม หรือเรตติ้งไม่ดี ไม่ทำกำไร มากเท่าสื่อพาณิชย์ แต่ก็อยู่ได้ เป็นช่องทางให้ประชาชนระดับรากหญ้า ได้พึ่งพาเพื่อสื่อสารสาธารณะ
- 51 views