The Conversation : หากพยาบาลในประเทศแอฟริกาใต้ได้รับบทบาทมากขึ้นในการตัดสินใจเกี่ยวกับนโยบายที่มีผลต่อตนเองและสภาพแวดล้อมการทำงาน ก็จะช่วยเพิ่มความพึงพอใจในการทำงาน และรั้งพยาบาลให้ยังคงอยู่ในภาคบริการสาธารณสุขของแอฟริกาใต้ต่อไป อันจะส่งผลสืบเนื่องไปถึงการขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขโดยไม่ติดขัด อย่างไรก็ดีพยาบาลจำนวนมากยังคงมองว่าตนถูกกันออกจากกระบวนการร่างนโยบาย เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายไม่ได้ตระหนักถึงคุณค่าในความชำนาญทางคลินิกของตน และแม้ว่าประเทศแอฟริกาใต้ก้าวหน้าขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในด้านการยกระดับตัวตน บทบาท และอิทธิพลของพยาบาลในกระบวนการร่างนโยบาย ทว่าการมีส่วนร่วมของพยาบาลก็ยังคงไม่ราบรื่นไปเสียทีเดียว
พยาบาลด่านหน้าแสดงทัศนะว่า นโยบายที่เกี่ยวข้องกับวิชาชีพพยาบาลมักจะถูกมองข้าม เนื่องจากผู้กำหนดนโยบายไม่ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ของเหล่านางพยาบาลเลย ภาพประกอบโดย Stefan Wermuth/Reuters
อุปสรรคต่อการมีส่วนร่วม
พยาบาลสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการร่างนโยบายในหลายรูปแบบ โดยอาจเริ่มตั้งแต่นโยบายกำกับการปฏิบัติการพยาบาลในหอผู้ป่วย ซึ่งกำหนดบทบาทของพยาบาลหรือคุณสมบัติของพยาบาล แต่จากที่ผ่านมาเห็นได้ว่ายังคงมีอุปสรรคขัดขวางอยู่หลายประการ โดยเฉพาะบทบาทที่คลุมเครือของพยาบาลแต่ละกลุ่มในการเป็นตัวแทนร่วมโต๊ะร่างนโยบาย รวมถึงการขาดการประสานงานระหว่างพยาบาลแต่ละกลุ่ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นปึกแผ่นระหว่างพยาบาลด้วยกัน
ที่ประเทศแอฟริกาใต้ การที่งานพยาบาลในระดับประเทศและระดับจังหวัดขึ้นตรงกับต้นสังกัดที่แยกกันเป็น 3 หน่วยงานแทนที่จะเป็นหน่วยงานเดียว ทำให้เกิดความกดดันในการทำงาน นอกจากนี้ความสัมพันธ์เชิงอำนาจยังเป็นตัวกำหนดผู้มีส่วนร่วมในนโยบาย การดำเนินการ รวมถึงการพิจารณาข้อมูลและความเห็นจากพยาบาลว่าจะนำมาใช้มากน้อยเพียงใด ซึ่งการแต่งตั้งผู้บริหารการพยาบาลเมื่อปี 2557 และการจัดตั้งกองอำนวยการพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขแอฟริกาใต้ ก็อาจเป็นกาวประสานความเป็นปึกแผ่น เพื่อช่วยให้พยาบาลมีปากมีเสียงในด้านนโยบายมากขึ้น
แอฟริกาใต้ต้องเรียนรู้จากประเทศอื่น
เมื่อมองในระดับสากลก็จะเห็นแนวโน้มของการยกระดับบทบาทพยาบาล ต่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและระบบสาธารณสุข ซึ่งในประเทศที่ส่งเสริมบทบาทของพยาบาลก็จะเห็นการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญของพยาบาลในการกำหนดนโยบายการดูแลผู้ป่วยและการสาธารณสุข
ออสเตรเลีย แคนาดา สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ล้วนมีสมาคมวิชาชีพการพยาบาลซึ่งทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงของพยาบาลและผู้มีวิชาชีพด้านการพยาบาลในการกำหนดนโยบาย เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศยากจนหลายประเทศ ซึ่งพยาบาลสามารถมีส่วนร่วมในนโยบายสาธารณสุขผ่านองค์กรวิชาชีพการพยาบาล เช่น ประเทศรวันดา ซึ่งผู้บริหารการพยาบาลและสมาคมวิชาชีพการพยาบาลสามารถรวมเสียงสนับสนุนให้ปรับปรุงคุณภาพการศึกษาและมาตรฐานวิชาชีพด้านการพยาบาล และในเคนยา ซึ่งสภาการพยาบาลเป็นแกนหลักในการพัฒนาฐานข้อมูลอิเล็คทรอนิคส์ของบุคลากรด้านการพยาบาล เมื่อมองย้อนกลับมาจะเห็นได้ว่าแม้แอฟริกาใต้มีสภาการพยาบาล ทว่าสภาการพยาบาลของแอฟริกาใต้ก็ยังคงไม่สามารถก้าวขึ้นมามีบทบาทชัดเจนเหมือนองค์กรในประเทศอื่นได้
พยาบาลแอฟริกาใต้มีความรู้ด้านนโยบายมากน้อยเพียงใด
การมีส่วนร่วมน้อยเกินไปในการกำหนดนโยบายของพยาบาลระดับปฏิบัติในแอฟริกาใต้ สะท้อนให้เห็นได้ในความรู้เกี่ยวกับนโยบายหลัก โดยในประเด็นนี้เราได้สำรวจความรู้ความเข้าใจของพยาบาลต่อนโยบายบุคลากรสาธารณสุขแห่งชาติสี่ข้อ ได้แก่
ยุทธศาสตร์การพยาบาลปี 2551
ขอบเขตการปฏิบัติงานของพยาบาลฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
กรอบมาตรฐานคุณวุฒิพยาบาลฉบับใหม่
นโยบายค่าตอบแทนวิชาชีพ
เราได้สัมภาษณ์พยาบาลและแหล่งข้อมูลใน 4 จังหวัดได้แก่ อีสเทิร์นเคป ฟรีสเตท กัวเต็ง และเวสเทิร์นเคป และประเมินผลกระทบของนโยบายการพยาบาลในสภาพจริง โดยสัมภาษณ์พยาบาลและตัวแทนพยาบาล ข้อมูลจากการสัมภาษณ์ทำให้เห็นได้ว่า ลักษณะของนโยบายเป็นปัจจัยที่กำหนดระดับการรับรู้ของพยาบาล โดยพบว่า พยาบาลวิชาชีพและพยาบาลปฏิบัติการ รวมถึงตัวแทนพยาบาลทั้งหมด และเกือบร้อยละ 90 ของผู้ช่วยพยาบาลรับรู้เกี่ยวกับนโยบายค่าตอบแทนวิชาชีพ ซึ่งอาจเป็นเพราะนโยบายนี้มีผลโดยตรงต่อตัวพยาบาล และเกี่ยวพันกับการจ่ายเงินสมทบพิเศษเพื่อรั้งบุคลากรสาธารณสุขให้คงอยู่ในระบบ
อีกด้านหนึ่งหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลและตัวแทนพยาบาล มักมีความรู้ด้านนโยบายข้ออื่นเมื่อเทียบกับพยาบาลกลุ่มอื่น โดยคาดว่าอาจเป็นเพราะหัวหน้าฝ่ายการพยาบาลซึ่งได้เข้าร่วมวงประชุมการอภิปรายนโยบายไม่ได้นำข้อมูลมากระจายต่อ
พยาบาลที่ไร้ปากเสียง
การสำรวจยังได้ประเมินมุมมองของพยาบาลต่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย โดยพบว่า แม้ว่าระบบประชาธิปไตยได้เปิดโอกาสให้พยาบาลสามารถมีส่วนร่วมในการร่างนโยบาย ทว่ากลุ่มตัวอย่างยังคงเห็นว่าพยาบาลมีส่วนร่วมน้อยเกินไป และมีความรู้สึกว่า
ผู้นำพยาบาลไม่กล้าแสดงออก
ผู้นำพยาบาลมีลักษณะเป็นฝ่ายตั้งรับแทนที่จะเป็นฝ่ายเสนอความเห็น
ผู้นำพยาบาลมักเข้าร่วมในการร่างนโยบายต่อเมื่อมีมติออกมาแล้ว
พยาบาลซึ่งมีสถานะเป็นผู้นำมีจำนวนน้อยเกินไป
ขาดการฝึกอบรมด้านการร่างนโยบายและทักษะการประสานงาน
นอกจากนี้ พยาบาลระดับปฏิบัติยังถูกกันออกจากการมีส่วนร่วมในนโยบายบุคลากรสาธารณสุขในภาพกว้าง และเป็นเหตุให้ผู้กำหนดนโยบายมองข้ามความชำนาญทางคลินิก และเมื่อเปิดให้เข้ามาในกระบวนการแล้ว พยาบาลระดับปฏิบัติก็แทบจะไม่เข้ามามีส่วนร่วม เนื่องจากเกรงบารมีของผู้บริหารการพยาบาลและแพทย์ซึ่งเป็นเสียงส่วนใหญ่ รวมถึงฝ่ายบริหารของโรงพยาบาล และผู้บริหารฝ่ายทรัพยากรบุคคลด้วย
พลิกสถานภาพเดิม
นายอารอน มอตโซอาเลดี รมว.สาธารณสุขแอฟริกาใต้ได้เน้นย้ำว่า พยาบาลมีบทบาทสำคัญในการนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่แผนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของแอฟริกาใต้ได้ และเนื่องจากการปฏิรูประบบสาธารณสุขจะก่อให้เกิดอุปสงค์ (Demands) ต่องานที่หลากหลาย จึงควรที่พยาบาลจะได้รับโอกาสให้มีส่วนร่วมกำหนดทิศทางของนโยบายที่จะมีผลต่อตนเองด้วย
อย่างไรก็ดี ในการที่จะส่งเสริมการมีส่วนร่วมของพยาบาลต่อนโยบายในภายหน้านั้น จำเป็นที่ผู้บริหารการพยาบาลจะต้องแสดงความเป็นผู้นำเชิงรุก เช่นเดียวกับสมาคมการพยาบาลที่ต้องให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง
ผู้เขียน พรูเดนซ์ ดิทโลโป ขอบคุณที่มาจากเว็บไซต์ The Conversation
- 21 views