กระทรวงสาธารณสุขจัดมหกรรมวิชาการพัฒนาบริการระดับปฐมภูมิครั้งใหญ่ของประเทศ สร้างทีมหมอครอบครัว ขับเคลื่อนเป็นหัวใจระบบบริการปฐมภูมิ เพิ่มความไว้ใจ เชื่อมั่นสถานบริการสุขภาพใกล้บ้านเป็นที่พึ่งประชาชนทุกที่ตลอด 24 ชั่วโมง ใช้ 3 ยุทธศาสตร์ ปรับทัศนคติการทำงานบุคลากร จากเชิงเดี่ยวเป็นทีม ใช้เทคโนโลยีเหมาะสมและการบริหารจัดการแนวใหม่
วันนี้ (3 สิงหาคม 2558) ที่ อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดมหกรรมการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ ปี 2558 ภายใต้แนวคิด “พื้นที่เป็นฐาน ประชาชนเป็นศูนย์กลาง บูรณาการด้วยทีมหมอครอบครัว” พร้อมมอบโล่อำเภอต้นแบบ 36 แห่ง พื้นที่ต้นแบบ กทม. 3แห่ง และเครือข่ายคุณภาพบริการปฐมภูมิ 3 เครือข่าย โดยมีผู้บริหารส่วนกลางและภูมิภาค เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด สาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลทุกระดับทั่วระเทศเข้าร่วมประชุม 3,000 คน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขได้เร่งพัฒนาระบบบริการสุขภาพทั่วประเทศ โดยสร้างความเข้มแข็งระบบบริการสุขภาพขั้นปฐมภูมิ มีทีมหมอครอบครัวให้เป็นหัวใจของระบบบริการปฐมภูมิ สร้างความสัมพันธ์แนวใหม่ระหว่างคนทำงานด้วยกันเอง และระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับประชาชนและชุมชนท้องถิ่น และสร้างระบบการพัฒนาสุขภาพและการจัดบริการสุขภาพมิติใหม่เริ่มต้นที่การดูแลสุขภาพเป็นรายครอบครัวโดยสถานบริการสุขภาพใกล้บ้าน พัฒนาไปจนถึงขั้นที่จะสร้างให้ประชาชนทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทเกิดความมั่นใจ ไว้ใจในทุกโอกาส ทุกรูปแบบ เป็นที่พึ่งตลอด 24 ชั่วโมง สนับสนุนให้ชุมชนช่วยเหลือกัน ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยในชุมชนเผชิญกับความทุกข์ยากตามลำพัง เป็นสังคมที่ไม่ทอดทิ้งกัน ซึ่งจะก่อให้เกิดการให้บริการสุขภาพที่มีคุณภาพต่อเนื่องระยะยาว แก้ไขปัญหาที่เป็นสาเหตุรากเหง้าการเจ็บป่วยได้เป็นผลสำเร็จ ให้สมกับคำที่ว่าประชาชนอุ่นใจมีญาติทั่วไทยเป็นทีมหมอครอบครัวเพราะเราครอบครัวเดียวกัน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า มี 3 ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาความเข้มแข็งระบบบริการปฐมภูมิประกอบด้วย 1.เพื่อความสำเร็จที่ใหญ่กว่าเดิม ปรับทัศนคติการทำงานของบุคลากรใน รพ.สต. แพทย์ในโรงพยาบาลทุกระดับ ทีมชุมชน ทีมท้องถิ่น และผู้บริหารระบบสุขภาพ จากทำคนเดียวเป็นทำงานเป็นทีมเป็นเครือข่าย 2.การปรับใช้เทคโนโลยีได้อย่างสอดคล้องกับประเภทและระดับความรุนแรงของปัญหาสุขภาพ มีการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านต่างๆ จากหน่วยวิชาการและหน่วยบริการในระดับที่เหนือขึ้นไป 3.มีระบบการจัดการแนวใหม่ เน้นการทำงานร่วมกันในแต่ละระดับ ส่งเสริมการเรียนรู้ ตัดสินใจการพัฒนาการทำงานร่วมกัน ตอบสนองตามความต้องการครอบครัว และสมาชิกครอบครัวเป็นหลัก
ด้าน นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า หัวใจของระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ จะต้องดำเนินงานจนเกิดผลอย่างน้อย 3 ด้าน ได้แก่ การดูแลเชิงรุกเพื่อสร้างสุขภาพ ไม่ตั้งรับรอคนป่วยมาหา หน่วยบริการทุกระดับทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อและทำร่วมกับครอบครัว ชุมชน ท้องถิ่น สามารถขอรับคำปรึกษา การวางแผนดูแลสุขภาพโดยไม่ยากลำบากหรือเสียเวลาเดินทางไปรับบริการที่โรงพยาบาล โดยไม่จำเป็น และรับผู้ป่วยกลับมาดูแลใกล้บ้านหรือที่ครอบครัว เสมือนหนึ่งว่าได้รับการดูแลจากทีมโรงพยาบาลใหญ่
นพ.อำนวย กาจีนะ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข รักษาราชการแทนปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ จัดโดยกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สถาบันวิจัยและพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอความสำเร็จของการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิ และเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้การดำเนินการเพื่อเสริมสร้างความเข็มแข็งของการจัดบริการในระดับปฐมภูมิ และเตรียมพร้อมที่จะขยายสู่พื้นที่เขตเมือง ให้ประชาชนได้รับบริการสุขภาพอย่างทั่วถึง มีการแสดงนิทรรศการผลการดำเนินงานในพื้นที่ต้นแบบที่โดดเด่น การพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิของ 12 เขตสุขภาพ และ กรุงเทพมหานคร พื้นที่ที่มีนวัตกรรมเด่น พื้นที่ที่มีการดำเนินงานแบบบูรณาการทั้งในและนอกภาคส่วน พื้นที่ที่มีผลลัพธ์แสดงถึงประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นรวม 39 พื้นที่ และนิทรรศการการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายที่ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาระบบบริการปฐมภูมิและทีมหมอครอบครัว
- 30 views