สปสช.เผยผลงานร่วมกับ สธ. อภ. สภากาชาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้อง บริหารจัดการกองทุนยาและเวชภัณฑ์ ใน 6 ปีที่ผ่านมา ช่วยรัฐประหยัดค่ายาได้กว่า 2.2 หมื่นล้านบาท ทั้งกลุ่มบัญชียา จ.(2) กลุ่มยากำพร้าและเซรุ่มต้านพิษ และกลุ่มยาซีแอล สามารถช่วยผู้ป่วยทุกระบบเข้าถึงการรักษา ลดอัตราการตายจากการเข้าไม่ถึงยา พร้อมจัดระบบส่งตรวจซ้ำเพื่อยืนยันคุณภาพยา ชี้ตั้งแต่ปี 52 มีผู้ป่วยรับยาแพงจากบัญชี จ.(2) เกือบ 4.2 หมื่นราย และผู้ป่วยเข้าถึงยากำพร้าและยาต้านพิษกว่า 5,000 ราย
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช
ภญ.เนตรนภิส สุชนวนิช รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ยาถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาโรค ก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ต้องเสียชีวิตลง จากปัญหาการเข้าไม่ถึงยาด้วยข้อจำกัดของราคายาที่แพงมาก ปัญหาการสำรองยาในระบบบริการ โดยเฉพาะกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ (Orphan and Antidote drug) ที่มีอัตราการใช้ต่ำ ไม่แน่นอน ยากต่อการประมาณการจำนวนผู้ป่วย ทำให้บริษัทยาส่วนใหญ่ไม่อยากนำเข้าหรือลงทุนผลิตยาในกลุ่มนี้ ทำให้ผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษในอดีตมักต้องเสียชีวิตเนื่องจากไม่มียารักษา ด้วยเหตุนี้ สปสช.จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) องค์การเภสัชกรรม (อภ.) สภากาชาดไทย และหน่วยงานเกี่ยวข้องพัฒนาระบบการเข้าถึงยาที่มีปัญหาการเข้าถึง ทั้งในกลุ่มยาแพงตามบัญชี จ.(2) กลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ
ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า จากที่เริ่มดำเนินการในปี 2552 ได้มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านยาต่อเนื่องเพื่อให้ครอบคลุมการรักษา โดยปี 2557 มียาบัญชี จ.(2) รวมทั้งสิ้น 14 รายการ และต่อมาในปี 2558 นี้ได้เพิ่มเติมอีก 3 รายการ รวมเป็น 17 รายการ และยังได้บริหารจัดการกลุ่มยากำพร้าในกลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มอีก 17 รายการ ที่ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าถึง โดยได้จัดทำระบบตั้งแต่การจัดหายา กระจายยาเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงทันเวลาในภาวะที่จำเป็น ผ่านระบบ VMI ของ อภ.
“สำหรับมูลค่าประหยัดงบประมาณด้านยาได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้มีการบริหารกองทุนยาและเวชภัณฑ์วัคซีนที่เริ่มในปี 2552 จนถึงปัจจุบันสามารถช่วยประเทศประหยัดค่ายาลงได้ถึง 22,590 ล้านบาท และเพื่อประกันคุณภาพยาที่มีการจัดซื้อแบบรวมศูนย์ สปสช.ร่วมกับอภ.จัดระบบการตรวจวิเคราะห์ซ้ำเพื่อยืนยันผลการตรวจวิเคราะห์จากบริษัทที่นำเข้า โดยส่งตัวอย่างตรวจวิเคราะห์ ณ ห้องตรวจวิเคราะห์คุณภาพยาอื่นที่เป็นที่ยอมรับว่าได้มาตรฐานเพื่อเกิดความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เช่น กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จะตรวจวิเคราะห์ยาโคลพิโดเกรล (clopidogrel) สำหรับยามะเร็งที่มีการทำซีแอลจะส่งตรวจที่ห้องแล็บในเบลเยี่ยม หากยาล๊อตใดไม่ผ่านการตรวจยืนยัน จะไม่มีการจัดซื้อเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว
ภญ.เนตรนภิส กล่าวว่า จากการจัดการบัญชียา จ.2 ตั้งแต่ปี 2552 ได้ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับยาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน มีผู้ได้รับยาบัญชี จ.(2) ถึง 41,837 ราย ขณะที่กลุ่มยากำพร้าในกลุ่มยาต้านพิษและเซรุ่มนั้น ปี 2557 มีการเบิกจ่ายยากลุ่มนี้เพื่อใช้รักษาผู้ป่วย 5,432 ราย ซึ่งในผู้ป่วยที่ได้รับยากำพร้าและยาต้านพิษมีจำนวนที่หายเป็นปกติโดยไม่มีรอยโรคสูงถึงร้อยละ 94.29 และ 87.50 ตามลำดับ ถือเป็นการรักษาที่คุ้มค่ามาก
ทั้งนี้ รายการยาในบัญชียา จ.(2) ที่ได้บริหารจัดการ 17 รายการได้แก่ 1.ยาเลโทรโซล (Letrozole) รักษามะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย 2.ยาโดซีแทกเซล (docetaxel) รักษามะเร็งปอดระยะลุกลาม และมะเร็งต่อมลูกหมากที่ดื้อต่อยาฮอร์โมน 3.ยา ไอวีไอจี (IVIG) แบบฉีดมีหลายข้อบ่งใช้ เช่น โรคที่อันตรายถึงชีวิต (life-threatening) และไม่ตอบสนองต่อการรักษาต่อยาอื่น (refractory) เช่น SLE, vasculitis เป็นต้น ส่วนใหญ่พบเป็นโรคคาวาซากิชนิดเฉียบพลันมากที่สุด 4.ยาโบทูลินัมท็อกซิน สายพันธุ์เอ (Botulinum toxin type A) รักษาโรคบิดเกร็งของใบหน้า 5.ยาลิวโพรรีลิน (Leuprorelin) รักษาอาการเจริญพันธุ์ก่อนวัยในเด็ก 6. ยาไลโปโซมอล แอมโฟเทอริซิน บี (Liposomal amphotericin B) สำหรับการติดเชื้อราที่รุนแรง 7.ยาเวอทิพอร์ฟิน (Verteporfin) รักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม 8.ยาบีวาซิแมบ (Bevacixumab) รักษาภาวะจอประสาทตาเสื่อมและภาวะจอตาบวมในผู้ป่วยโรคเบาหวาน 9.ยาโวริโคนาโซล (Voriconazole tab, inj) รักษาภาวะติดเชื้อราในกลุ่มแอสเปอร์จิลลัส (aspergillus) 10.Thyrotropin alfa inj ยาไทโรโทรพิน สำหรับรักษาโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์
11.ยาเพกินเทอเฟอรอน (Peginterferon alfa 2a และ alfa 2b) รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี 12.ATG ยาเอทีจีสำหรับรักษาภาวะไขกระดูกฝ่อที่มีอาการรุนแรงมาก 13.ยาไลเนโซลิด (Linezolid) รักษาเชื้อดื้อยากลุ่ม MRSA ที่ไม่สามารถใช้ยาแวนโคมายซิน (vancomyci) หรือยาปฏิชีวนะใช้รักษาอาการติดเชื้อแบคทีเรีย 14.ยาอิมิกลูเซเรส (Imiglucerase) รักษาเด็กที่มีภาวะการสะสมไขมันผิดปกติ และในปี 2558 ได้เพิ่มยาบัญชี จ.(2) อีก 3 รายการ คือ 15.ยาทราสทูซูแมบ (Trastuzumab) รักษามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น 16.ยานิโลทินิบ (Nilotinib) รักษาผู้ป่วยมะเร็งเม็ดเลือดขาวเรื้อรังชนิดมัยอีลอยด์ ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ยาอิมาทินิบ (Imatinib) และ 17.ยาดาซาทินิบ (Dasatinib) รักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในรายที่ไม่สามารถใช้ยาอิมาทินิบและยานิโลทินิบได้
ส่วนกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ ได้แก่, Sodium nitrite inj., Sodium thiosulfate inj. ,Methelene blue inj. และ diphenhydramine inj. ได้รับการสนับสนุนการผลิตจากสภากาชาดไทย ยา Dimercaprol, Succimer cap.(DMSA), Diptheria antitoxin, Botulinium antitoxin, Calcium disodium edentate, เซรุ่มต้านพิษงู เซรุ่มต้านพิษงูเขียงหางไหม้, เซรุ่มต้านพิษงูแมวเซา, เซรุ่มต้านพิษงูกะปะ, เซรุ่มต้านพิษงูทับสมิงคลา, เซรุ่มรวมระบบเลือด, เซรุ่มรวมระบบประสาท และ Esmolol.
- 65 views