กระทรวงสาธารณสุขให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ป้องกันเฝ้าระวังโรคมือ เท้า ปาก ในฤดูฝนต่อเนื่อง เน้นหนักในศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ ในรอบ 6 เดือนปีนี้ พบป่วยแล้วกว่า 15,000 ราย ให้ครูตรวจดูอาการเด็กทุกวัน หากพบมีไข้ มีตุ่มแดงขึ้นในปาก ที่ฝ่ามือ และไม่คัน ขอให้สงสัยไว้ก่อนพร้อมแยกเด็กป่วย แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ และรีบพาไปพบแพทย์
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า โรค มือ เท้าปาก จะพบมากในช่วงหน้าฝน เดือนกรกฎาคม - กันยายน เนื่องจากสภาพอากาศชื้น และเป็นช่วงที่โรงเรียนเปิดเทอม ทำให้เชื้อโรคแพร่ระบาดได้ง่าย จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคของสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 20 กรกฎาคม 2558 พบผู้ป่วยทุกจังหวัดรวม 19,471 ราย เสียชีวิต 1 ราย พบได้ทุกกลุ่มอายุ พบมากที่สุดคือ อายุ 1-3 ปี ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วยทั้งหมด อายุต่ำสุดคือต่ำกว่า 28 วัน จำนวน 6 ราย จังหวัดที่มีป่วยต่อแสนประชากรสูง 5 อันดับแรก คือ น่าน เชียงราย พะเยา อุบลราชธานี และ แม่ฮ่องสอน
ศ.นพ.รัชตะ กล่าวต่อว่า ในการป้องกันโรคมือ เท้า ปาก กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานขอความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงมนุษย์ ในการเฝ้าระวังดูแลพื้นที่เสี่ยงสำคัญ คือศูนย์เด็กเล็กและโรงเรียนอนุบาลทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่อง โดยมีสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศดำเนินการในพื้นที่ เร่งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนผู้ปกครองให้ดูแลป้องกันโรค เช่น ดูแลความสะอาดเครื่องเล่นเด็ก ให้เด็กล้างมือด้วยน้ำและสบู่ให้เด็กบ่อยๆ เป็นต้น และให้ครูตรวจวัดไข้และตรวจมือเท้าเด็กทุกเช้า หากพบมีไข้ หรือมีตุ่มใสขึ้นที่มือ ในปาก ขอให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือ เท้า ปาก ให้แยกเด็กออกจากเด็กทั่วไป และแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อควบคุมป้องกันโรคไม่ให้แพร่ระบาด และให้เด็กหยุดเรียนพักที่บ้านจนกว่าจะหายป่วย
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสในลำไส้ หรือ เอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) หลายชนิด ชนิดที่พบบ่อยและรุนแรงคือ เอนเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus71) ติดต่อกันจากมือสัมผัสกับน้ำมูก น้ำลาย น้ำจากตุ่มพองหรือแผล และอุจจาระของผู้ป่วย เข้าสู่ปาก เด็กที่ติดเชื้อมักจะมีไข้และมีตุ่มพองในปาก ที่ฝ่ามือหรือผิวหนัง ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง จะหายได้เองภายใน 7-10 วัน โรคนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ไม่มียารักษาเฉพาะ การดูแลรักษาจะเน้นเพื่อบรรเทาอาการ เช่น การใช้ยาลดไข้ ยาทาแก้เจ็บแผลที่ลิ้น และกระพุ้งแก้ม ผู้ดูแลเด็กควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ และให้เด็กรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด ดื่มน้ำเย็นๆ หรือไอศกรีม และให้เด็กนอนพักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อนให้ป้อนนมให้แทนการดูดนมเพื่อลดการปวดแผลในปาก
นพ.โสภณ กล่าวต่อว่า กรมควบคุมโรคได้จัดทำคู่มือแนวทางการป้องกันควบคุมโรคติดต่อในศูนย์เด็กเล็กสำหรับครูและผู้ดูแลเด็ก แจกให้โรงเรียนอนุบาลและศูนย์เด็กเล็กทั่วประเทศแล้ว ขอให้พ่อแม่ผู้ปกครอง หมั่นสังเกตอาการของเด็ก โดยทั่วไปเด็กจะมีอาการดีขึ้นเรื่อยๆ หากป่วย 2 - 3 วันแล้ว อาการไม่ดีขึ้น มีไข้สูงขึ้น ตาลอย ผวา ชัก หรือซึมลง ขอให้รีบไปพบแพทย์ด่วน สำหรับวิธีป้องกันโรคมือเท้าปากที่ดีที่สุดคือการรักษาความสะอาดร่างกาย ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่บ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารและหลังการขับถ่าย รวมทั้งใช้ช้อนกลางและไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน หากมีข้อสงสัยประชาชนโทรปรึกษาที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง
- 11 views